Salbutamol (ซาลบูทามอล)
Salbutamol (ซาลบูทามอล) หรือรู้จักกันในชื่อยาเวนโทลิน คือ ยาช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินหายใจ ทำให้อากาศผ่านเข้าออกปอดได้ง่ายขึ้น มีสรรพคุณช่วยรักษาหรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการหายใจในผู้ป่วยโรคหืด หรือโรคระบบทางเดินหายใจบางชนิด รวมทั้งอาจใช้ป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหลังการออกกำลังกายก็ได้
เกี่ยวกับยา Salbutamol
กลุ่มยา | Short Acting ß2-Agonist (ยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์กระตุ้นเบต้า 2 บริเวณหลอดลม ชนิดออกฤทธิ์สั้น) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหลอดลมหดตัว |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาสูดพ่น ยาสูดพ่นแบบฝอยละออง ยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม ยาแคปซูล |
คำเตือนการใช้ยา Salbutamol
- ห้ามใช้ยานี้หากแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในยา
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะตกเลือดห้ามใช้ยาซาลบูทามอล
- ยานี้อาจส่งผลต่อภาวะหรือโรคบางชนิด ก่อนใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้
- หญิงกำลังตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือต้องให้นมบุตร
- กำลังใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ
- ผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารต่าง ๆ
- ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดลดต่ำ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ภาวะการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจลดต่ำ
- ผู้ที่เคยมีอาการชัก โรคเบาหวาน ไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคไต หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
- เคยมีการตอบสนองที่ผิดปกติหรือแพ้ยาในกลุ่มเดียวกันนี้ เช่น ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) เมทาโพรเทเรนอล (Metaproterenol) หรือเทอร์บูทาลีน (Terbutaline)
- ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับซาลบูทามอลได้ ก่อนใช้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาชนิดใดก็ตามที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม MAOI (Monoamine Oxidase Inhibitor) เช่น ฟีเนลซีน (Phenelzine) ฟูราโซลิโดน (Furazolidone) ลีโนโซลิด (Linezolid) ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressant) เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) หรือรับประทานร่วมกันทั้ง 2 ชนิดในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- ยาขับปัสสาะวะ เช่น ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำยิ่งขึ้น
- ยากลุ่ม COMT เช่น เอนทาคาโปน (Entacapone) ยากระตุ้นประสาท เช่น แอมเฟตามีน (Amphetamine) ยากลุ่มซิมพาโทมิเมติค เช่น ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) รวมถึงยาในกลุ่มเดียวกันอย่างเมทาโพรเทเรนอล (Metaproterenol) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาซาลบูทามอล
- ยากลุ่มยับยั้งเบต้า (Beta-blockers) เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาซาลบูทามอลลดลง
- ยาไดจอกซิน (Digoxin) การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมด้วยอาจส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาไดจอกซินลดน้อยลง
- ก่อนเข้ารับการรักษาโรค รับการผ่าตัด หรือการรักษาทางทันตกรรมใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยานี้
- บางครั้งยาซาลบูทามอลอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอย่างรุนแรงทันทีหลังจากการใช้ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามีอาการนี้ในครั้งแรกของการใช้หลอดบรรจุยา หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นให้ไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ โดยมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด หรือปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนปริมาณยารักษาโรคเบาหวาน เนื่องจากซาลบูทามอลอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
- ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้วิงเวียนศีรษะ และอาจยิ่งมีอาการแย่ลงหากรับประทานกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาบางชนิด จึงควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย จนกว่าจะทราบถึงปฏิกิริยาของตนเองหลังจากการใช้ยา
- หญิงที่เกิดการตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยาต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อพูดคุยถึงความเสี่ยงในการใช้ยา
- หญิงที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยังไม่ทราบว่ายานี้จะสามารถไหลผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้หรือไม่
- เด็กและผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ได้ง่าย ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง
ปริมาณการใช้ยา Salbutamol
ยาซาลบูทามอลชนิดสูดพ่น ที่ใช้ในไทยมี 2 ขนาดคือ 100 และ 200 ไมโครกรัมต่อการสูดพ่น
- รักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งชนิดรุนแรง
ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป: ใช้เครื่องสูดพ่นยา สูดพ่นครั้งละ 2.5-5 มิลลิกรัม ไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน หรืออาจสูดพ่นอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 1-2 มิลลิกรัม/ชั่วโมง
- รักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งชนิดเฉียบพลัน
ผูัใหญ่: ใช้อุปกรณ์สูดพ่นยาแบบฝอยละอองหรือแบบผงชนิด 100 ไมโครกรัมต่อการสูดพ่น ครั้งละ 1-2 หน ไม่เกินกว่า 4 ครั้ง/วัน โดยปริมาณสูงสุดที่ใช้ไม่ควรเกิน 800 ไมโครกรัม/วัน
เด็กอายุ 6-12 ปี: สูดพ่นครั้งละ 1 หน หรืออาจเพิ่มเป็นครั้งละ 2 หนหากจำเป็น และปริมาณสูงสุดที่ใช้ไม่ควรเกิน 400 ไมโครกรัม/วัน
- ป้องกันภาวะหลอดลมหดเกร็งจากการออกกำลังกาย
ผู้ใหญ่: ใช้อุปกรณ์สูดพ่นยาแบบฝอยละอองหรือแบบผงชนิด 100 ไมโครกรัมต่อการสูดพ่น โดยสูดพ่น 2 หน ก่อนการออกกำลังกาย 15 นาที
เด็กอายุ 6-12 ปี: สูดพ่น 1 หน ก่อนการออกกำลังกาย 15 นาที
ยาซาลบูทามอลชนิดรับประทาน
- รักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งชนิดเฉียบพลัน
เด็กอายุ 2-6 ปี: รับประทานครั้งละ 1-2 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง
เด็กอายุมากกว่า 6-12 ปี: รับประทานครั้งละ 2 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง
เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 2-4 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง
ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2-4 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ไม่ควรใช้เกินปริมาณวันละ 8 มิลลิกรัม หรือเกินกว่า 3-4 ครั้ง สำหรับยาซาลบูทามอลชนิดออกฤทธิ์นานให้รับประทานครั้งละ 4 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ผู้สูงอายุ: รับประทานครั้งละ 2 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง
การใช้ยา Salbutamol
- ยานี้ควรใช้ตามแพทย์กำหนดและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากกำกับการใช้ยา
- หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคู่มือการใช้ยาที่แนบมาด้วย ผู้ป่วยขอคำแนะนำได้จากแพทย์หรือเภสัชกร
- หากลืมใช้ยานี้ในขณะที่ใช้อยู่เป็นประจำ ให้ใช้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาที่ต้องใช้ยาครั้งต่อไปให้ข้ามครั้งนั้นไปเลย ไม่ควรสูดพ่นยาเพิ่มเป็น 2 เท่า ยกเว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และห้ามฉีดพ่นยาในปริมาณ 2 เท่าของปกติติดต่อกันในครั้งเดียว
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคหืดของตนเองทั้งหมด อย่าเริ่มใช้ หยุดใช้ หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาใด ๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- อย่าหยุดใช้ยานี้เองโดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์
- ซาลบูทามอลสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 6 ชั่วโมง อย่าใช้ยานี้เกินปริมาณหรือบ่อยครั้งกว่าที่แพทย์แนะนำโดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอย่างรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้เมื่อใช้มากเกินไป
- หากปริมาณยาที่ใช้เป็นประจำเกิดออกฤทธิ์ได้ไม่ดี มีอาการแย่ลง หรือต้องการใช้ยาบ่อยกว่าปกติ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการโรคหืดที่แย่ลงอย่างรุนแรง แพทย์อาจต้องปรับปริมาณการใช้ยาหรือเปลี่ยนชนิดยาของผู้ป่วย
- วิธีการใช้ยาพ่นสูด ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เปิดฝาขวดแล้วเขย่าเครื่องพ่นยาในแนวตั้ง
- หากพ่นเป็นครั้งแรกหรือหยุดพ่นไปนานหลายเดือนให้พ่นทิ้งในอากาศ 1 ครั้ง
- อยู่ในท่ายืนหรือนั่งเอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย
- หายใจออกทางจมูกจนสุด
- อมปลายปากกระบอกยา และหุบปากให้สนิท โดยการอมปากกระบอกยานั้นทำได้ 2 วิธี คือ (ก)อมปากกระบอกไว้ระหว่างฟันหรือใช้ริมฝีปากอมปากกระบอกให้สนิท หรือ (ข) ถือปากกระบอกห่างจากริมฝีปากประมาณ 2 นิ้วมือ
- สูดหายใจเข้าทางปากพร้อมกับกดยาเพื่อพ่นยา
- หุบปาก กลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที หรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
- นำกระบอกยาออกจากปาก จากนั้นจึงค่อย ๆ หายใจออกช้า ๆ ทางจมูก
- หากต้องสูดพ่นยามากกว่า 1 ครั้งให้เว้นระยะห่างจากครั้งแรกไม่น้อยกว่า 30-60 วินาที
- ซาลบูทามอลชนิดสูดพ่นใช้สูดพ่นทางปากเท่านั้น ห้ามพ่นเข้าดวงตา หากยานี้เข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำทันที
- การใช้ซาลบูทามอลชนิดสูดพ่นในเด็กทุกช่วงอายุควรใช้ท่อเครื่องมือในการช่วยนำส่งยา (Spacer) และควรใช้ในผู้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน
- จดบันทึกว่าใช้ยาสูดพ่นไปกี่ครั้งแล้ว เมื่อใกล้หมดให้ขอรับยาเพิ่มจากแพทย์หรือเภสัชกร
- ห้ามวัดปริมาณยาที่เหลืออยู่ด้วยการนำหลอดบรรจุยาไปวางเทียบในน้ำ
- ยานี้อาจทำให้ปากแห้งหรือรู้สึกถึงรสชาติในปากที่ไม่พึงประสงค์ การล้างปากหลังจากพ่นยาในครั้งนั้นหลังเสร็จแล้วอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาในการสูดพ่นยาอย่างถูกวิธี ทำให้มีอาการเจ็บปากหรือมีรสของยาติดอยู่ในปากหลังการใช้ ปัญหานี้บรรเทาได้ด้วยการใช้ท่อเครื่องมือช่วยส่งนำยา ซึ่งขอรับได้จากแพทย์
- ทำความสะอาดกระบอกพ่นยาและฝาปิดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันการอุดตัน ขั้นตอนการล้างให้ถอดหลอดบรรจุยาที่เป็นโลหะออก ล้างกระบอกพ่นยาด้วยน้ำอุ่น 30 วินาที สะบัดน้ำออกแล้วตากให้แห้ง หลังจากอุปกรณ์แห้งแล้วให้ใส่เข้าไปดังเดิม แล้วฉีดพ่นออกมา 1 ครั้ง โดยหันปลายกระบอกออกไปให้ห่างจากตัวเองและผู้อื่น จากนั้นปิดฝาเก็บไว้ดังเดิม และต้องระวังไม่ให้หลอดบรรจุยาที่เป็นโลหะเปียกน้ำ
- หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นยาในขณะที่ยังไม่แห้งดีควรสะบัดน้ำออกให้หมด เขย่าให้ดี แล้วใส่หลอดบรรจุยากลับเข้าไป กดฉีดพ่นยาทิ้ง 1 ครั้งก่อนใช้ หลังจากใช้เรียบร้อยแล้วจึงล้างทำความสะอาดกระบอกฉีดพ่นแต่ส่วนที่เป็นพลาสติกอีกครั้งและตากให้แห้ง
- เมื่อกระบอกมีการอุดตันให้ถอดหลอดบรรจุยาออกแล้วล้างกระบอกตามคำแนะนำข้างต้น
- เครื่องพ่นยาสามารถพ่นได้ 200 ครั้ง เมื่อให้ครบ 200 ครั้งแล้วไม่ควรใช้ต่อ เนื่องจากอาจส่งผลให้ปริมาณยาที่ออกมาในแต่ละครั้งไม่สม่ำเสมอ
- ห้ามใช้ยาซาลบูทามอลกับกระบอกพ่นยาชนิดอื่น และห้ามใช้กระบอกยานี้กับยาอื่นที่ไม่ใช่ซาลบูทามอลเช่นกัน
- อย่าเจาะ ทำลาย หรือเผาหลอดบรรจุยา แม้จะดูเหมือนว่าไม่มียาอยู่ภายในแล้วก็ตาม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Salbutamol
การใช้ยาซาลบูทามอลทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ไอ ไซนัสอักเสบ กระวนกระวาย เจ็บคอหรือคอแห้ง มีอาการสั่น นอนไม่หลับ รู้สึกถึงรสผิดปกติในปาก หรืออาเจียน และหากรู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือมีอาการแย่ลงควรไปปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ หากพบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ ต่อไปนี้เกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ในทันที
- อาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น คัน มีผื่นขึ้น ลมพิษ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีอาการบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก ปาก และใบหน้า
- อาการรุนแรงอื่น ๆ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ หัวใจเต้นแรงดังตุบ ๆ มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจที่แย่ลง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ เสียงแหบผิดปกติ หายใจเสียงดังวี้ด
อย่างไรก็ตาม อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ใช่ผลข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นควรขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติม