โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS)

ความหมาย โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS)

โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) เดิมพบการติดเชื้อนี้ได้เฉพาะในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่ต่อมามีการกลายพันธุ์ เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกผู้ที่ติดเชื้อมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีอาการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง หรือหายใจลำบาก เป็นต้น  การรายงานเกี่ยวกับโรคซาร์สเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 ที่ประเทศจีน แพร่กระจายไปมากกว่า 20 ประเทศในทวีปเอเชียอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมถึงยุโรป และไม่พบรายงานการระบาดของโรคอีกตั้งแต่ปี 2004

587 SARSRe

อาการของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง

ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัสแล้วประมาณ 2-7 วัน บางรายอาจมีระยะฟักตัวของโรคนานถึง 10 วัน ในช่วงแรกมักมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ รวมถึงอาจมีอาการต่าง ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลียมาก
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องเสีย
  • เกิดการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอแห้ง เจ็บคอ หายใจลำบาก และมีความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนในเลือด จนอาจเสียชีวิตได้ ในรายที่เป็นรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบอาการของการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ หรือมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่หลังการท่องเที่ยวหรือกลับจากประเทศที่มีการระบาด หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซาร์สคือ เชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกับ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด เป็นไวรัสที่พบได้ในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก และเชื้อเกิดการกลายพันธุ์และแพร่กระจายจนทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้

ไวรัสซาร์สแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งได้หลายช่องทาง เช่น

  • การไอหรือจาม
  • การจูบหรือกอดกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • การอยู่ใกล้ชิดตัวผู้ที่ติดเชื้อในระยะไม่เกิน 3 ฟุต
  • การหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ ไม่ล้างมือแล้วมาสัมผัสที่ตา จมูก หรือปากของตนเอง

การวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง

หากพบว่ามีไข้สูงหลังการท่องเที่ยวหรือกลับจากประเทศที่มีการระบาดของเชื้อ แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์และอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อหาภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือต่อสู้กับเชื้อไวรัส
  • การตรวจเสมหะ หรือการเก็บตัวอย่างเชื้อในจมูกและคอ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส
  • การเอกซเรย์ปอดหรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่บริเวณส่วนอก ในผู้ป่วยที่มีอาการไอ หรือหายใจลำบาก ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ
  • การตรวจหาสารพันธุกรรม (RNA) ของเชื้อไวรัสซาร์สในกรณีที่ต้องการตรวจเพื่อยืนยันอย่างแน่ชัด แต่ตรวจได้ในสถานพยาบาลบางแห่งเท่านั้น

การรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง

ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซาร์สจำเป็นต้องแยกตัวออกไปเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและเฝ้าสังเกตอาการภายในโรงพยาบาล ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาแบบจำเพาะและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคซาร์ส แต่สามารถรักษาได้เพื่อบรรเทาอาการ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • การใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกายของผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีอาการของปอดบวมหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
  • การใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมของปอด
  • อาจใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น ไรบาไวริน (Ribavirin)

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาและหาวิธีรักษาแตกต่างออกไป เนื่องจากหลักฐานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษายังไม่เพียงพอ วิธีการรักษาบางอย่างจึงไม่สามารถนำไปใช้ได้กับผู้ป่วยโรคซาร์สทุกราย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง

โรคซาร์สเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ผู้ที่ติดเชื้อ 90% จะฟื้นตัวจากโรคได้ นั่นหมายความว่าผู้ที่ติดเชื้ออีก 10% ไม่สามารถฟื้นตัวจากโรคและเสียชีวิตในที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบเกิดขึ้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หากมีอาการรุนแรงอาจจำเป็นใช้เครื่องช่วยหายใจ บางรายอาจเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หัวใจและตับล้มเหลว เป็นต้น ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับอักเสบ หรือโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้มากที่สุด

การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง

ในขณะนี้ไม่พบรายงานการระบาดของโรคตั้งแต่ปี 2004 แต่หากมีการระบาด วิธีการป้องกันโรคซาร์สที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดหรือดูแลผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งปากและจมูกในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านหรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค ควรล้างมือทั้งก่อนและหลังการสวมหน้ากากอนามัย ใช้เสร็จแล้วควรทิ้งลงถังขยะ ไม่ควรให้หน้ากากอนามัยสัมผัสกับสิ่งของอื่น ๆ และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60%
  • สวมถุงมือยางที่ใช้แล้วทิ้ง หากจำเป็นต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ของเหลว หรืออุจจาระของผู้ป่วย หลังใช้งานควรทิ้งลงถังขยะทันทีและล้างมือให้สะอาด
  • ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น ภาชนะ ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หรือเสื้อผ้าของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและน้ำร้อน
  • ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก อาเจียน ปัสสาวะ หรืออุจจาระของของผู้ที่ติดเชื้อ ควรสวมถุงมือยางในขณะทำความสะอาด