ความหมาย โรคตึกเป็นพิษ (SBS)
SBS (Sick Building Syndrome) หรือโรคตึกเป็นพิษ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร และการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ และหายใจไม่สะดวก โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเองเมื่อผู้ป่วยออกจากตัวอาคาร
อาการของโรคตึกเป็นพิษ
อาการของ SBS จะปรากฏเมื่อผู้ที่ประสบภาวะนี้อยู่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- เจ็บตา หรือเจ็บคอ
- แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก
- หนาว เป็นไข้
- ผิวแห้ง เป็นผื่น
- อ่อนเพลีย
- หงุดหงิด หรือหลงลืม
- ปวดหัว ปวดท้อง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีอาการของภาวะภูมิแพ้ เช่น จาม หรือคัน เป็นต้น
- แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
- ไม่มีสมาธิ
นอกจากนี้ ภาวะ SBS อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจหรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้นเมื่ออยู่ในอาคาร เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผู้ป่วยออกจากอาคาร อาการต่าง ๆ ก็จะหายไป
สาเหตุของโรคตึกเป็นพิษ
แม้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะ SBS ได้ ดังนี้
- สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในอาคาร เช่น น้ำยาถูพื้น สารฟอร์มาลดีไฮด์ สีที่ใช้ทาภายในอาคาร เป็นต้น
- อุปกรณ์สำนักงานอย่างจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่กรองแสงที่เป็นอันตรายต่อสายตา
- ควันรถ ฝุ่นภายในอาคาร หรือมลพิษอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
- เสียงรบกวน
- อากาศที่ไม่ถ่ายเทภายในอาคาร
- ก๊าซเรดอน และแร่ใยหินในตัวอาคาร
- ไฟที่ส่องสว่างภายในอาคาร
- ความร้อนหรือความชื้นภายในอาคาร
- จุลชีพต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น
- ความเครียดจากการทำงานหรือการเรียน
- การป่วยเป็นโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า
การวินิจฉัยโรคตึกเป็นพิษ
โรค SBS นั้นไม่มีอาการที่จำเพาะเจาะจง และอาการหลายอย่างก็คล้ายคลึงกับโรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด เป็นต้น จึงทำให้ยากที่จะวินิจฉัยโรคนี้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงานและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อหาความเกี่ยวข้องหรือความเป็นไปได้ของการเกิด SBS นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถสังเกตตนเองได้ว่าอาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นเฉพาะตอนอยู่ภายในอาคารหรือไม่ โดยวิธีการนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
การรักษาโรคตึกเป็นพิษ
สำหรับภาวะ SBS นั้น ยังไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาบรรเทาอาการตามที่เป็น และให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้อาการกำเริบขึ้น เช่น ใช้ยาฟลูออกซิทีนเพื่อบรรเทาความเครียดและช่วยให้นอนหลับ ใช้ยารักษาโรคภูมิแพ้ในกรณีที่เกิดอาการคันตามอวัยวะต่าง ๆ หรือใช้ยารักษาโรคหอบเพื่อรักษาอาการหายใจลำบาก เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดีขึ้น เช่น เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อป้องกันความอับชื้นหรือเชื้อรา ทำความสะอาดสถานที่ที่ใช้ทำงานอยู่เสมอ ใช้เครื่องดูดฝุ่นเพื่อลดมลภาวะ ทำความสะอาดเครื่องกรองอากาศเป็นประจำ เปลี่ยนหลอดไฟเพื่อปรับความสว่าง หรือเปลี่ยนจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตึกเป็นพิษ
ภาวะ SBS อาจส่งผลถึงชีวิตและการทำงาน เช่น ทำให้คุณภาพงานแย่ลง ตกงาน ต้องย้ายสถานที่ทำงาน หรือทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารและการไปตรวจสุขภาพจากอาการป่วยที่เกิดขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาวะ SBS อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบบ่อยและรุนแรงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน และโรคหอบที่หากอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น
การป้องกันโรคตึกเป็นพิษ
เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะ SBS ได้อย่างชัดเจน การป้องกันตนเองจากภาวะนี้จึงทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยไปพบแพทย์เพื่อรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือทำให้อาการของภาวะ SBS แย่ลง รวมถึงไม่อยู่ในอาคารนานจนเกินไป และปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก
- เปลี่ยนอุปกรณ์ภายในสำนักงานที่เก่าและก่อมลพิษ เช่น จอคอมพิวเตอร์ เครื่องปริ๊น หรือหลอดไฟ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในสำนักงาน เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น เป็นต้น
- ดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานให้ปราศจากเชื้อโรคและฝุ่น
- ลดความเครียดโดยพักสายตาระหว่างทำงาน หรือเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงพักเที่ยง