ความหมาย เซโรโทนิน ซินโดรม (Serotonin Syndrome)
Serotonin Syndrome หรือ เซโรโทนิน ซินโดรม เป็นกลุ่มอาการจากการใช้ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มระดับสารเซโรโทนินในร่างกาย ซึ่งปริมาณเซโรโทนินที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้เกิดอาการตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงอย่างหนาวสั่นและท้องเสีย หรืออาจมีอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีไข้ และชัก เป็นต้น แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของเซโรโทนิน ซินโดรม
อาการของ Serotonin Syndrome โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเริ่มใช้ยาหรือหลังเพิ่มปริมาณยาที่เป็นสาเหตุ ซึ่งอาจมีอาการป่วย เช่น
- สูญเสียการประสานงานกันของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุก แข็งเกร็ง หรือสั่น
- มีเหงื่อออกมาก
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย
- หนาวสั่น ขนลุก
- สับสน กระสับกระส่าย กังวล หงุดหงิด หลอน
- รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตสูง
อาการของ Serotonin Syndrome อาจมีความรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ต้องไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการ เช่น มีไข้สูง หัวใจเต้นผิดปกติ ชัก และหมดสติ เป็นต้น
สาเหตุของเซโรโทนิน ซินโดรม
Serotonin Syndrome เกิดจากการมีสารเซโรโทนินสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ เนื่องจากการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีฤทธิ์เพิ่มระดับสารเซโรโทนินในร่างกายร่วมกัน 2 ชนิดขึ้นไป เช่น การใช้ยารักษาไมเกรนหลังจากใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า เป็นต้น
ตัวอย่างยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารเซโรโทนินในร่างกาย ได้แก่
- ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors:SSRI) ยากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors: SNRIs) ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCA) เป็นต้น
- ยาแก้หวัดและยาแก้ไอ เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน เป็นต้น
- ยารักษาไมเกรน เช่น ยาอัลมอทริปแทน ยาซูมาทริปแทน และยานาราทริปแทน เป็นต้น
- ยาเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า ยาอี และแอลเอสดี เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort) และโสม เป็นต้น
การวินิจฉัยเซโรโทนิน ซินโดรม
ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติของผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคประจำตัวหรือการใช้ยาและอาหารเสริมอื่น ๆ และตรวจร่างกายเพื่อสังเกตอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงอาจตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อแยกโรคหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน เช่น ตรวจเพาะเชื้อจากเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของไทรอยด์ ตรวจการทำงานของไตและตับ และตรวจการใช้สารเสพติด เป็นต้น
การรักษาเซโรโทนิน ซินโดรม
การรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้หยุดใช้ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารเซโรโทนินที่เป็นสาเหตุทันที
ส่วนกรณีที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและได้รับการเฝ้าสังเกตอาการจากแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น
- รักษาด้วยการถอนยาที่เป็นสาเหตุของ Serotonin Syndrome
- ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อรักษาระดับน้ำในร่างกาย
- ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น เบนโซไดอะซีปีน เป็นต้น เพื่อลดอาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรืออาการชัก
- กรณีที่ผู้ป่วยมีไข้หรือมีภาวะขาดน้ำ แพทย์อาจให้ฉีดของเหลวเข้าหลอดเลือดดำ
- หากผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ แพทย์อาจให้ใช้หน้ากากออกซิเจน เพื่อให้ออกซิเจนในร่างกายอยู่ในระดับปกติ
- สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงหรือหัวใจเต้นเร็ว แพทย์อาจให้ใช้ยา เช่น ยาเอสโมลอล หรือยาไนโตรปรัสไซด์ เป็นต้น
- สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ แพทย์อาจให้ใช้ยา เช่น ยาฟีนิลเอฟรีน หรือยาอิพิเนฟริน เป็นต้น
- หากผู้ป่วยมีไข้สูง บางรายอาจต้องใช้ท่อหรือเครื่องช่วยหายใจ และใช้ยาเพื่อทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว
- ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจให้ใช้ยาไซโปรเฮปตาดีน ซึ่งเป็นยาที่ช่วยยับยั้งการผลิตสารเซโรโทนินในร่างกาย
ภาวะแทรกซ้อนของเซโรโทนิน ซินโดรม
โดยส่วนใหญ่จะไม่พบภาวะแทรกซ้อนของ Serotonin Syndrome เพราะเมื่อระดับเซโรโทนินในร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ อาการต่าง ๆ ก็จะหายไปและกลับไปเป็นปกติ แต่กรณีที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกอย่างรุนแรงและอาจทำให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจทำให้ไตเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ในที่สุด ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจหมดสติและถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันเซโรโทนิน ซินโดรม
เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิด Serotonin Syndrome นั้นมาจากการใช้ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มระดับสารเซโรโทนินในร่างกายหรือยาที่เกี่ยวข้องกับสารเซโรโทนิน ดังนั้น เพื่อการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิด Serotonin Syndrome อาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ก่อนใช้ยาใด ๆ ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
- อย่าหยุดใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ก่อนเริ่มรับการรักษาหรือการใช้ยาชนิดใดก็ตาม ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่
- หากแพทย์ให้ใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อสารเซโรโทนินในร่างกายร่วมกัน 2 ชนิดขึ้นไป ต้องปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด Serotonin Syndrome ด้วย