Shin Splints

ความหมาย Shin Splints

Shin Splints หรืออาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้ง คืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อ เอ็น และเยื่อหุ้มกระดูกขาท่อนล่าง ซึ่งเป็นผลมาจากการออกกำลังกายที่ต้องลงน้ำหนัก การเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะหรือใช้แรงมาก ทำให้มีอาการปวดตึงขณะทำกิจกรรมหรือเจ็บเมื่อกดลงบริเวณขอบกระดูกหน้าแข้ง

อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งจะเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือลงน้ำหนักที่ขา แต่อาการจะหายไปเมื่อพักการใช้งาน ส่วนมากจะพบอาการนี้ในผู้ที่มีเท้าแบน ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมในระดับค่อนข้างหนัก เช่น วิ่ง เล่นฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล หรือเต้น โดยกลุ่มอาการบาดเจ็บนี้สามารถรักษาให้หายได้

2455-shin-splint

อาการ Shin Splints

ผู้ป่วยมักจะมีอาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งขณะเริ่มออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการลงน้ำหนักไปที่ขา แต่จะดีขึ้นเมื่อพักการใช้ขา โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • เจ็บแปลบหรือปวดตื้อบริเวณหน้าแข้ง 
  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นกับขาหนึ่งใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • มักมีปวดหรือกดเจ็บบริเวณด้านในของแข้ง
  • มีอาการบวมในระดับไม่รุนแรงบริเวณหน้าแข้ง
  • ปวดมากขึ้นเมื่อออกแรงหรือทำกิจกรรมที่ขา
  • อาจมีอาการเท้าชาและอ่อนแรงร่วม

หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้น อย่างการหยุดพักการใช้งานขา การประคบน้ำแข็ง หรือการรับประทานยาแก้ปวด รวมทั้งมีอาการแสบร้อน บวมบริเวณหน้าแข้ง เจ็บแม้อยู่เฉย ๆ หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งจากการล้มหรืออุบัติเหตุ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

สาเหตุของ Shin Splints

อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งเกิดจากกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกระดูกในส่วนแข้งถูกใช้งานมากเกินไปจากการทำกิจกรรมซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมักเกิดกับผู้ที่เปลี่ยนท่าการออกกำลังอย่างกะทันหันหรือออกกำลังกายอย่างหนักต่อเนื่อง เช่น การวิ่งระยะไกลหรือการวิ่งขึ้นเขา นอกจากนี้ การออกแรงมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อบวมและเพิ่มความดันต่อกระดูกจนอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดและการอักเสบได้ หรืออาจเป็นผลมาจากแรงดันที่ตอบสนองต่ออาการกระดูกขาหัก โดยการวิ่งหรือก้าวหนัก ๆ อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดการแตกขนาดเล็กของกระดูกขาได้   

นอกจากนี้ ยังพบว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการ Shin Splints ได้เช่นกัน ได้แก่ กล้ามเนื้อขาดความแข็งแรงหรือขาดความยืดหยุ่น การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ อย่างภาวะเท้าแบน ระดับแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอ เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณขา หรือเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อที่เชื่อมกับกระดูกหน้าแข้งและกระดูกข้างเคียง 

การวินิจฉัย Shin Splints

แพทย์จะวินิจฉัยอาการจากการสอบถามประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นอาจเอกซเรย์ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาร่องรอยความผิดปกติของกระดูกและแยกอาการออกจากโรคหรือภาวะอื่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น อาการกระดูกหัก อาการเอ็นอักเสบ หรือภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูง แต่การเอกซเรย์อาจไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงรอยโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งสแกนกระดูกบริเวณขาเพื่อหาความแตกต่างระหว่างอาการในกลุ่มอาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งและอาการกระดูกหักล้า ทำให้แพทย์เห็นรอยร้าวของกระดูกหรือการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งตามมา ในบางกรณีอาจใช้การตรวจด้วยเครื่อง MRI เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถระบุความแตกต่างของทั้งสองโรคได้เช่นเดียวกัน

การรักษา Shin Splints

อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีดังนี้ 

การรักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด

การบาดเจ็บที่บริเวณหน้าแข้งสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น

  • หยุดทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานบริเวณขาส่วนล่าง เนื่องจากอาการ Shin Splints มีสาเหตุมาจากการใช้งานขาที่มากเกินไป โดยอาจลดความหนักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้อวัยวะส่วนดังกล่าวให้น้อยลง แต่ไม่ควรหยุดทำกิจกรรมทั้งหมด 
  • ประคบน้ำแข็งครั้งละ 15-20 นาที สามารถทำได้หลายครั้งใน 1 วัน แต่ไม่ควรให้ผิวหนังสัมผัสโดนกับน้ำแข็งโดยตรง
  • ยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นให้คลายออกไปตามแนวกล้ามเนื้อขาช่วงล่าง เพื่อช่วยให้อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งดีขึ้น
  • ยกขาสูงด้วยการวางขาไว้บนเก้าอี้ในความสูงระดับสะโพกขณะนั่ง หรือวางหมอนไว้ใต้ขาขณะนอนหลับ วิธีการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดอาการบวมได้
  • รับประทานยาต้านอาการอักเสบในกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการปวดและบวม เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน หรือยานาพรอกเซน เป็นต้น
  • เลือกใช้อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดในบริเวณหน้าแข้ง เช่น การใช้ผ้ารัดข้อเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้อาการบวม การใช้แผ่นรองเท้าในผู้ที่มีเท้าแบน การใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

การรักษาโดยการผ่าตัด

แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นอื่น ๆ แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าจะช่วยในการรักษาอาการ Shin Splints ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของ Shin Splints

ผู้ป่วยที่มีอาการ Shin splints อาจเกิดภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงเนื่องจากการวิ่งและการฝึกซ้อมอย่างหนัก บางรายอาจเกิดกระดูกหักล้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อกระดูกได้ หรือหากผู้ป่วยมีอาการเดิมซ้ำ ๆ อาจกลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังได้

การป้องกัน Shin Splints

อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  • วางแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ควรหักโหมจนเกินไป 
  • ควรสลับรูปแบบการออกกำลังกายให้เกิดความหลากหลายและยืดกล้ามเนื้อก่อนการกำลังกาย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น 
  • เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายในแต่ละรูปแบบ 
  • หากต้องทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายที่ต้องได้รับแรงกระแทกอาจใช้อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น แผ่นรองเท้าหรือแผ่นรองรับรับแรงกระแทก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่เคยมีอาการดังกล่าวควรระมัดระวังการออกกำลังกาย เช่น ออกกำลังกายในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้แรงมาก ลดระยะทาง ระยะเวลา หรือความถี่ของการออกกำลังกายลง เป็นต้น