Simvastatin (ซิมวาสแตติน)

Simvastatin (ซิมวาสแตติน)

Simvastatin (ซิมวาสแตติน) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่สร้างคอเลสเตอรอล ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ในเลือด อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง รวมถึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย

ยา Simvastatin เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ นอกจากนี้ ยา Simvastatin ไม่สามารถใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างได้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

Simvastatin

เกี่ยวกับยา Simvastatin

กลุ่มยา ยาลดไขมันในหลอดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนเกี่ยวกับยา Simvastatin

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา และหากมีประวัติแพ้ยาซิมวาสแตติน ห้ามใช้ยาชนิดนี้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรห้ามใช้ยาชนิดนี้ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อเด็กทารกในครรภ์ หรือทารกเด็กแรกคลอด อีกทั้งหากกำลังใช้ยาชนิดนี้อยู่ควรคุมกำเนิด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับไตหรือตับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ได้
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันละมากกว่า 2 แก้วเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • การใช้ยา Simvastatin อาจทำให้เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อลายเสียหาย และนำไปสู่การเกิดภาวะไตวายได้ ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยหาสาเหตุไม่ได้ 
  • ในขณะที่ใช้ยา Simvastatin ไม่ควรบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเกรปฟรุตในปริมาณมาก เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับเกรปฟรุต และนำไปสู่การเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

ปริมาณการใช้ยา Simvastatin

ปริมาณการใช้ยาซิมวาสแตตินจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular)

ตัวอย่างการใช้ยาซิมวาสแตตินเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10–20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงให้ใช้ยาปริมาณ 20–40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น และปรับขนาดยาตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

ภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Homozygous Familial Hypercholesterolemia)

ตัวอย่างการใช้ยาซิมวาสแตตินเพื่อรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม

เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป รับประทานยาเริ่มต้นปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น จากนั้นรับ

ประทานยาปริมาณ 10–40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 40 มิลลิกรัม

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 40 มิลลิกรัม

การใช้ยา Simvastatin

การใช้ยาซิมวาสแตตินควรใช้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาซิมวาสแตตินในเวลาก่อนนอนหรือรับประทานพร้อมมื้ออาหารเย็น และหากรับประทานยามากกว่าวันละ 1 ครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมอาหาร แต่ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาในปริมาณมาณมากกว่าหรือใช้ยาในระยะเวลานานกว่าที่แพทย์กำหนด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

ผู้ป่วยที่ใช้ยาซิมวาสแตตินในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานาน และอาจต้องหยุดใช้ยานี้ในระยะเวลาหนึ่งหากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือมีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยห้ามหยุดใช้ยาเองนอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ อีกทั้งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งในขณะที่กำลังใช้ยาด้วย

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลารับประทานยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาของครั้งถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า ส่วนการเก็บรักษายาควรเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส เก็บยาให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงเก็บให้ห่างจากความร้อนและความชื้นเพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพด้วย

การใช้ยาซิมวาสแตตินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเพิ่มไขมันในเลือด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก ตามคำแนะนำของแพทย์ควบคู่กันไปด้วย

ปฏิกิริยาระหว่างยา Simvastatin กับยาอื่น

ยาซิมวาสแตตินอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยารักษาโรคหัวใจชนิดอื่น เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) หรือยาเวอราปามิล (Verapamil) 
  • กลุ่มยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาเทลิโทรมัยซิน (Telithromycin) 
  • กลุ่มยาต้านเชื้อราบางชนิด เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole)
  • ยาต้านไวรัสสำหรับใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เช่น ยาเนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir)
  • กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น  ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)

ตัวอย่างยาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาซิมวาสแตตินเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Simvastatin

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาซิมวาสแตติน ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องผูก หรือมีอาการของไข้หวัด เช่น เจ็บคอ คัดจมูก และจาม นอกจากนี้ การใช้ยาซิมวาสแตตินอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ กดแล้วเจ็บ อ่อนเพลีย หรืออาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จะพบได้น้อย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาควรรีบไปพบแพทย์หากพบอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • สัญญาณของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน มีอาการคัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด และเกิดภาวะดีซ่าน 
  • สัญญาณของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะ มีอาการแสบขัดเมื่อปัสสาวะหรือปัสสาวะได้ลำบาก มีอาการบวมที่เท้าหรือข้อเท้า รู้สึกอ่อนเพลีย และหายใจตื้น

สัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ