เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid Hemorrhage)

ความหมาย เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid Hemorrhage)

Subarachnoid Hemorrhage หรือเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีเลือดไหลออกมาบริเวณเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเนื้อสมองกับเนื้อเยื่อที่หุ้มสมองไว้ มักเกิดขึ้นจากหลอดเลือดสมองที่โป่งพองผิดปกติแตกจนมีเลือดไหลออกมา แม้ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนักแต่ก็เป็นการเจ็บป่วยที่อันตราย และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันการณ์

Resized 1529 Subarachnoid Hemorrhage

อาการของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

อาการหลักของ Subarachnoid Hemorrhage คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาในทันที โดยปวดคล้ายถูกตีที่ศีรษะ ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เช่น ไอ ขับถ่าย หรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดคอ คอยึดตึง
  • รู้สึกคลื่นไส้ ผะอืดผะอม
  • รู้สึกปวดตาเมื่อเห็นแสงจ้า
  • มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน
  • สับสน มึนงง หมดสติ
  • ชัก
  • อาการอื่น ๆ คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ ตัวชา หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น

สาเหตุของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

Subarachnoid Hemorrhage อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • หลอดเลือดในสมองโป่งพอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ Subarachnoid Hemorrhage เนื่องจากผนังหลอดเลือดเปราะบาง เมื่อได้รับแรงกดจากกระแสเลือดที่ไหลผ่านจึงโป่งพองและแตกได้ในที่สุด และอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ เป็นต้น
  • สมองได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน
  • หลอดเลือดสมองเจริญผิดรูปผิดร่าง
  • ภาวะมีเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • หลอดเลือดสมองอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนทำลายเซลล์สุขภาพดี
  • โรคหลอดเลือดไฟโบรมัสคูลาร์ ดิสเพลเชีย (Fibromuscular Dysplasia) ซึ่งทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลง
  • โรคหลอดเลือดสมองอุดตันโมยาโมยา (Moyamoya Disease)
  • ภาวะสมองติดเชื้อ เช่น สมองอักเสบ เป็นต้น
  • เนื้องอกในสมอง ซึ่งทำให้หลอดเลือดสมองเกิดความเสียหาย ทั้งเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย และเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง

การวินิจฉัยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

โดยทั่วไป แพทย์มักวินิจฉัย Subarachnoid Hemorrhage ได้จากอาการที่ปรากฏ และอาจตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อดูระดับความรุนแรงและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น

  • การสแกน โดยอาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจหาภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งแพทย์อาจฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือดของผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยให้เห็นภาพประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น
  • การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดสมอง แพทย์อาจสอดท่อที่หลอดเลือดบริเวณขาแล้วฉีดสารย้อมสีให้ไหลไปตามเลือดและเข้าไปยังสมอง จากนั้นจึงใช้เครื่องเอกซเรย์ฉายภาพหลอดเลือดสมอง มักใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการตรวจภาพอย่างละเอียดมากขึ้นเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยเป็น Subarachnoid Hemorrhage
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการใช้เข็มเจาะนำตัวอย่างของเหลวบริเวณไขสันหลังไปตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดที่ปนอยู่ ซึ่งแสดงถึงการเกิด Subarachnoid Hemorrhage

การรักษาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของการป่วย โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาผู้ป่วยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การให้ยา

แพทย์อาจให้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น

  • ยาป้องกันหลอดเลือดหดเกร็ง อย่างนิโมดิปีน
  • ยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอลผสมกับโคเดอีน และมอร์ฟีน เป็นต้น
  • ยาต้านชัก อย่างเฟนิโทอิน
  • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

การผ่าตัด

  • ผ่าตัดสมอง โดยแพทย์อาจผ่าตัดบริเวณสมองที่มีเลือดออกแล้วนำคลิปโลหะวางเพื่อปิดห้ามเลือด
  • ผ่าตัดเปิดหลอดเลือด ซึ่งแพทย์อาจผ่าตัดสอดท่อบริเวณหลอดเลือดที่ขาหนีบ แล้วสอดสายให้ยาวถึงเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แล้วจึงวางขดลวดแพลตตินัมให้เข้าไปยังบริเวณหลอดเลือดสมองที่มีการโป่งพอง เพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือดไปยังหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง ไม่ให้ผู้ป่วยอาการหนักขึ้นหรือเกิดภาวะเลือดออกซ้ำ

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องมือหรือวิธีการอื่น ๆ ในการรักษา Subarachnoid Hemorrhage ตามเหมาะสมด้วย ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ซ้ำอีกครั้ง และต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอยู่เสมอ

การบำบัด

ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังการรักษาด้วย เช่น อรรถบำบัด กายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

  • มีปัญหาทางอารมณ์ ประสบภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
  • เป็นโรคลมชัก
  • ภาวะสมองขาดเลือด หรือเกิดการหดเกร็งของหลอดเลือด
  • ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
  • สมองทำงานเสื่อมประสิทธิภาพ ทำให้สูญเสียความสามารถด้านการรับรู้และความเข้าใจ
  • มีเลือดออกในสมองซ้ำในจุดเดิม ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะโคม่าไปจนถึงเสียชีวิตได้

การป้องกันเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

แม้ Subarachnoid Hemorrhage เป็นโรคร้ายแรง และไม่สามารถป้องกันการเกิด Subarachnoid Hemorrhage ได้เสมอไป แต่อาจลดความเสี่ยงเผชิญโรคนี้ได้ หากปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี
  • ดูแลสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลดน้ำหนักหากกำลังอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น