ความหมาย Sweet's Syndrome (โรคทางผิวหนังที่ไม่ทราบสาเหตุ)
Sweet's Syndrome หรือ Acute Febrile Neutrophilic Dermatosis เป็นภาวะอักเสบของผิวหนังที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจถูกกระตุ้นจากปัจจัยอื่น อย่างการติดเชื้อ การเจ็บป่วย หรือการใช้ยาบางชนิด โดยภาวะนี้พบได้น้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้และผื่นที่มีอาการเจ็บร่วมด้วยปรากฏขึ้นตามแขน ขา ใบหน้า ศีรษะ ลำคอ หรือลำตัวอย่างฉับพลัน
การรักษา Sweet's Syndrome ทำได้โดยการใช้ยาสเตียรอยด์ในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นแต่ผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ นอกจากนี้ การรักษาปัญาสุขภาพที่เป็นต้นเหตุของภาวะนี้อาจช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้เช่นกัน
อาการของ Sweet's Syndrome
Sweet's Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาการหลักที่พบได้คือผื่นนูนแดงอักเสบบนผิวหนังทั่วร่างกาย ตามแขน ขา แผ่นหลัง ใบหน้า คอ หรือศีรษะ พร้อมกับอาการเจ็บปวด โดยลักษณะผื่นอาจเป็นตุ่มเดี่ยว ๆ หรือตุ่มอาจขยายตัวอย่างรวดเร็วจนรวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ถึง 1 นิ้ว หรือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ส่วนมากมักเกิดหลังจากมีไข้หรือติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเฉพาะบริเวณผิวหนังที่โดนแดดเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น มีแผลหรือก้อนเนื้อในปากและที่ผิวหนัง ผิวหนังเปลี่ยนสี มีไข้ เจ็บตา ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อีกทั้งอาจส่งผลต่อกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร ไต และระบบประสาทด้วย ในกรณีที่ตุ่มหรือผื่นดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคโดยเร็ว
สาเหตุของ Sweet's Syndrome
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของ Sweet's Syndrome แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัยต่อไปนี้
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในระบบหายใจส่วนบน การติดเชื้อที่ปอด คออักเสบจากเชื้อสเตรปโทคอกคัส (Streptococcus) การติดเชื้อในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
- โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia) มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
- โรคการอักเสบในระบบทางเดินอาหารอย่างลำไส้อักเสบหรือโรคโครห์น (Crohn’s Disease)
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง และโรคกระดูกอ่อนอักเสบ
- การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa) ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ (TNF Inhibitors) ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด Sweet's Syndrome ได้มากขึ้น เช่น เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 30–60 ปี กำลังตั้งครรภ์ มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ได้รับวัคซีน โดนแสงแดดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น
การวินิจฉัย Sweet's Syndrome
แพทย์หรือแพทย์ผิวหนังจะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยร่วมกับการสังเกตตุ่ม ผื่น หรือความผิดปกติบนผิวหนัง จากนั้นอาจสั่งตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวและสัญญาณของโรคเลือดบางชนิด หรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยของภาวะนี้ หาก Sweet's Syndrome ส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ แพทย์ผู้ดูแลอาจส่งตรวจด้วยวิธีพิเศษเพิ่มเติมตามดุลยพินิจ
การรักษา Sweet's Syndrome
แม้ผู้ป่วย Sweet's Syndrome บางรายอาจมีอาการดีขึ้นเองโดยไม่ต้องรักษา แต่การรักษาด้วยยาก็จำเป็นต่อผู้ป่วย เพราะช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้หายไวขึ้น โดยอาจใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์ในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่างยาเพรดนิโซน (Prednisone) ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบ ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันเนื้อเยื่อถูกทำลายโดยการลดระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวและส่วนอื่น ๆ ของระบบภูมิคุ้มกัน
แต่การใช้ยาในระยะยาวอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ หรือกระดูกอ่อนแอ เป็นต้น นอกจากนี้ แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาในปริมาณต่ำอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค
หากยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน อย่างยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาแดพโซน (Dapsone) หรือยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) หรืออาจเป็นยาต้านการอักเสบอย่างยาอะนาคินรา (Anakinra) และยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium Iodide)
ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าอาการของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์จะให้หยุดใช้ยาดังกล่าว หรือหากผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้เกิด Sweet's Syndrome ขึ้น การรักษาอาจต้องมุ่งเน้นไปที่การรักษาภาวะหรือโรคต้นเหตุก่อน
ภาวะแทรกซ้อนของ Sweet's Syndrome
ผู้ป่วย Sweet's Syndrome อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามรอยโรคบนผิวหนัง จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลผิวหนังที่มีตุ่มผื่นอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งหรือการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง จึงต้องตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน
การป้องกัน Sweet's Syndrome
เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุการเกิด Sweet's Syndrome จึงไม่มีวิธีป้องกันภาวะนี้โดยตรง แต่อาจลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการดูแลผิวหนังให้ห่างไกลจากแสงแดดอยู่เสมอ เช่น หมั่นทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นอย่างน้อยเพื่อป้องกันรังสี UVA และ UVB สวมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์คลุมผิวหนังอย่างเสื้อแขนยาวหรือหมวกปีกกว้าง หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วงเที่ยงหรือบ่าย พยายามอยู่ในที่ร่มหากต้องออกไปนอกบ้าน เป็นต้น
หากมีความผิดปกติตามผิวหนังหรือมีปัญหาสุขภาพไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรเข้ารับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิด Sweet's Syndrome ให้ได้มากที่สุด