ความหมาย Takayasu's Arteritis
Takayasu's Arteritis หรือโรคทากายาสุ คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือดหัวใจขนาดใหญ่และกลาง โดยหลอดเลือดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แขนงต่าง ๆ ของหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักในการเวียนเอาเลือดออกจากหัวใจ รวมไปถึงหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปยังแขนและสมอง อาการอักเสบดังกล่าวส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ผนังเส้นเลือดโป่งพอง ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก มีไข้ ความดันโลหิตสูง และมีภาวะโลหิตจาง
โรคทากายาสุพบมากในผู้หญิงเอเชียช่วงอายุไม่เกิน 40 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อยับยั้งอาการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ การอักเสบของเส้นเลือดอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการ หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาพบแพทย์
อาการของ Takayasu’s Arteritis
โรคทากายาสุเกี่ยวข้องกับการอักเสบของเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ทำหน้าที่ไหลเวียนเลือดจากหัวใจไปยังแขน ขา สมอง หรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จึงไม่มีอาการของโรคที่จำเพาะชัดเจน โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นอาการเบื้องต้นของ Takayasu’s Arteritis ได้แก่
- เหนื่อยง่าย
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ
- มีไข้อ่อน ๆ และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
ผู้ป่วย Takayasu’s Arteritis อาจเกิดการอักเสบของเส้นเลือดขึ้นนานหลายปีแต่ไม่มีอาการผิดปกติที่แสดงออกชัดเจนก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นอาการในระยะที่ 2
ระยะที่ 2 เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือดจนเส้นเลือดตีบ ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้น้อย จึงส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา ดังนี้
- แขนและขาอ่อนแรงหรือเกิดอาการปวด
- ปวดหัว รู้สึกวิงเวียน เป็นลม
- การมองเห็นผิดปกติ
- มีปัญหาในกระบวนการคิดและการจดจำ
- ความดันโลหิตระหว่างแขนทั้ง 2 ข้างต่างกัน
- เจ็บหน้าอก หายใจสั้น
- ความดันโลหิตสูง
- ท้องเสียหรืออุจจาระปนเลือด
- มีภาวะโลหิตจาง
- บางรายอาจมีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร เนื่องจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหายใจสั้น เจ็บหน้าอก เจ็บบริเวณแขน หรือมีอาการที่บ่งบอกว่าเส้นเลือดเกิดการอุดตัน อย่างใบหน้าเบี้ยว แขนอ่อนแรง พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือปวดหัวอย่างรุนแรง ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทากายาสุ ผู้ป่วยจำเป็นต้องสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาการของโรคอาจกำเริบแม้จะเข้ารับการรักษาแล้วก็ตาม
สาเหตุของ Takayasu’s Arteritis
การเกิดโรคทากายาสุยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้แน่ชัด แต่มักเกิดในเด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปี โดยเฉพาะชาวเอเชีย บางกรณีผู้ป่วยอาจได้รับการส่งต่อโรคผ่านทางพันธุกรรม โดยสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่องจนทำลายเส้นเลือดตัวเอง รวมทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อไวรัส ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของระบบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยหรือผลการทดสอบใดที่น่าเชื่อถือมากพอมาสนับสนุนสาเหตุดังกล่าว
การวินิจฉัย Takayasu’s Arteritis
การวินิจฉัยเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยเป็นโรคทากายาสุมีความยากและซับซ้อน เพราะแพทย์ไม่สามารถทราบได้จากการสอบถามประวัติหรือตรวจร่างกายเบื้องต้นเพียงอย่างเดียว อีกทั้งอาการของโรคอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น จึงจำเป็นต้องตรวจหลายวิธีเพื่อนำผลการตรวจมาวิเคราะห์ร่วมกัน ดังนี้
- การตรวจเลือด เพื่อหาการอักเสบและภาวะโลหิตจางร่วมด้วย
- การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด คือการทำเอกซเรย์ด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด โดยแพทย์จะสวนท่อเข้าไปในเส้นเลือดแดงใหญ่หรือเส้นเลือดดำพร้อมสารทึบรังสี ซึ่งช่วยให้มองเห็นความผิดปกติได้จากภาพชัดเจนขึ้น หากเลือดไหลผ่านเส้นเลือดช้าหรือติดขัดอาจเป็นเหตุมาจากการตีบของเส้นเลือด การตรวจด้วยวิธีนี้ยังช่วยในการระบุตำแหน่งของและระดับความเสียหายของเส้นเลือดได้
- การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นการใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กในการสร้างภาพหลอดเลือด โดยแพทย์จะฉีดสารเพิ่มความชัดเจนของภาพเข้าไปในเส้นเลือดดำเพื่อทำให้เห็นถึงความผิดปกติได้ดียิ่งขึ้น
- การฟังจากเสียงที่ผิดปกติในหลอดเลือดหรือหัวใจ ในผู้ป่วยที่เส้นเลือดตีบอาจส่งผลให้การไหลเวียนเลือดปั่นป่วน ทำให้เกิดเสียงฟู่ผิดปกติในบริเวณที่เส้นเลือดตีบ
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การอัลตราซาวด์ และการตรวจการทำงานของอวัยวะทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (PET scan) เป็นต้น
การรักษา Takayasu’s Arteritis
การรักษาจะเน้นไปที่การใช้ยาเพื่อยับยั้งการอักเสบและป้องกันไม่ให้เส้นเลือดเสียหายมากกว่าเดิม โดยแพทย์อาจจ่ายยาต่อไปนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นการรักษาขั้นพื้นฐานเพื่อยับยั้งอาการอักเสบ ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับประทานยาติดต่อกันแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้ว แต่หลังจากผ่านไป 2-3 เดือน แพทย์จะปรับลดปริมาณยาลงและหยุดการใช้ยาในที่สุด ซึ่งการใช้ยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เกิดภาวะกระดูกพรุน ประจำเดือนผิดปกติ ดังนั้น แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามินดีร่วมด้วย
- ยายับยั้งระบบภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ ในกรณีที่การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ไม่ได้ผลในการรักษา แพทย์อาจจ่ายยากดภูมิคุ้มกันทดแทน อย่างยาเมโธเทรกเซทหรือยาอะซาไธโอพรีน แต่ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้
- ยาที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน หากการรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมกับระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของผู้ป่วย เช่น ยาอินฟลิซิแมบ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ยังต้องมีทดสอบอีกหลายครั้ง และผลข้างเคียงส่วนใหญ่คือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น
ในกรณีที่อาการเส้นเลือดตีบหรืออุดตันมีความรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดช่องหลอดเลือดหรือผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนได้อย่างปกติ ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดจะช่วยให้ภาวะความดันโลหิตสูงหรืออาการเจ็บหน้าอกทุเลาลง รวมทั้งช่วยป้องกันการแตกของเส้นเลือดหากผู้ป่วยมีภาวะเส้นเลือดโป่งพอง แต่การผ่าตัดจะมีประสิทธิภาพเมื่อการอักเสบของเส้นเลือดลดลง โดยทางเลือกในการผ่าตัดมีดังนี้
- การทำบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แพทย์จะผ่าตัดนำเส้นเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมาเชื่อมต่อกับเส้นเลือดที่อุดตัน ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านได้ โดยแพทย์จะพิจารณาทำบายพาสเมื่อเส้นเลือดตีบอย่างรุนแรง
- การผ่าตัดเพื่อขยายหลอดเลือดเมื่อเกิดการอุดตันในเส้นเลือดอย่างรุนแรง โดยแพทย์จะทำการสอดบอลลูนขนาดเล็กผ่านหลอดเลือดไปถึงจุดที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งบอลลูนดังกล่าวจะช่วยขยายหลอดเลือดในส่วนที่ตีบ
- การผ่าตัดลิ้นหัวใจเพื่อซ่อมแซมหรือแทนที่ลิ้นหัวใจ วิธีนี้จะมีความจำเป็นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลิ้นหัวใจรั่ว
ภาวะแทรกซ้อนของ Takayasu’s Arteritis
การอักเสบที่เกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดได้รับความเสียหาย และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา ดังนี้
- เส้นเลือดอาจแคบ ตีบลง หรือแข็งตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะต่าง ๆ น้อยลง
- ความดันโลหิตสูงจากการที่เลือดเวียนไปสู่ไตน้อย
- ภาวะหัวใจอักเสบที่จะส่งผลกระทบต่อลิ้นหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ
- ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย เนื่องจากความดันโลหิตสูง การอักเสบที่หัวใจ และลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนในหัวใจผิดปกติ
- โรคหลอดเลือดสมองเป็นผลมาจากการลดลงหรือการอุดตันของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง ส่งผลต่อการพูด การคิด และสุขภาพอนามันในด้านอื่น ๆ
- โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองที่เกิดจากผนังเส้นเลือดเสื่อมและยืดออก ก่อตัวเป็นส่วนนูนที่มีโอกาสแตกได้
- ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว โดยลักษณะอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่มีผลกระทบในระยะยาว
นอกจากนี้ ยาบางชนิดที่ใช้เพื่อการรักษาโรคทากายาสุอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่วางแผนจะมีบุตรควรวางปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
การป้องกัน Takayasu’s Arteritis
โรค Takayasu’s Arteritis ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของหัวใจ