โรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow)

ความหมาย โรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow)

Tennis Elbow หรือโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก เป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอก ก่อให้เกิดอาการปวดบวมบริเวณข้อศอก แขนท่อนล่าง หรือข้อมือ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่พบในนักเทนนิส นักกีฬาอาชีพอื่น ๆ และผู้ที่ต้องเหยียดแขนหรือกระดกข้อมือซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน

1519 Tennis elbow Resized

อาการของโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

ผู้ป่วยมักเจ็บปวดและมีอาการบวมบริเวณข้อศอกด้านนอก บางรายก็ปวดแขนท่อนล่าง หลังมือ หรือข้อมือร่วมด้วย โดยอาการปวดขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจปวดเล็กน้อยเฉพาะตอนขยับข้อมือและแขน หรือปวดมากอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ อาการปวดดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ยากลำบาก หรือปวดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวข้อมือและแขนส่วนล่าง เช่น หยิบจับสิ่งของ จับมือทักทาย ยกของ งอแขน หรือถือถ้วยกาแฟ เป็นต้น ซึ่งอาการของโรคอาจเป็นอย่างต่อเนื่องได้นาน 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี

อย่างไรตาม หากอาการปวดหรือบวมไม่หายไปหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว เช่น รับประทานยาแก้ปวด หรือลองหยุดพักการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้น เป็นต้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะอาการปวดลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน

สาเหตุของโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

Tennis Elbow เกิดจากการใช้งานแขนส่วนล่างซ้ำ ๆ หรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน บางรายอาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บอย่างฉับพลัน ทำให้เส้นเอ็นแขนบริเวณที่ยึดเกาะกับปุ่มกระดูกด้านข้างข้อศอกเกิดการบาดเจ็บและอักเสบตามมา โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการตีลูกเทสนิสหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นบ่อย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น วาดภาพ ตัดกระดาษ ขันน็อต ทำสวน เล่นไวโอลิน เป็นต้น แต่ก็อาจมีส่วนน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุของอาการปวดอย่างแน่ชัด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่นำไปสู่ Tennis Elbow ได้มากยิ่งขึ้น ดังนี้

  • มีอายุระหว่าง 30-50 ปี แต่โรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
  • ประกอบอาชีพที่ต้องใช้แขนและข้อมือในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ เช่น ช่างประปา นักวาดรูป ช่างไม้ คนทำอาหาร ช่างก่อสร้าง เป็นต้น
  • เล่นกีฬาบางชนิด เช่น เทนนิส แบดมินตัน สควอช พุ่งแหลน เป็นต้น ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อแขนส่วนล่างและข้อมือซ้ำ ๆ เป็นประจำ หรือเล่นกีฬาเหล่านั้นด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม

การวินิจฉัยโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

ในขั้นแรกแพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ซักประวัติทางการแพทย์และการมีโรคประจำตัวอย่างโรคข้อรูมาตอยด์หรือโรคเส้นประสาท รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มักเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้ เช่น การเล่นกีฬา กิจวัตรประจำวัน การประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น จากนั้นจึงตรวจร่างกายทั่วไป โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยลองขยับข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือในท่าทางต่าง ๆ รวมทั้งกดตามจุดที่มีอาการปวด ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มักเพียงพอต่อการวินิจฉัย Tennis Elbow แล้ว

นอกจากนั้น แพทย์อาจทดสอบด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวด ดังนี้

  • การเอกซเรย์ จะช่วยให้เห็นโครงสร้างและรายละเอียดของกระดูกอย่างชัดเจน เพื่อแยกโรคที่มีอาการคล้ายกันอย่างข้ออักเสบที่ข้อศอก
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) แพทย์จะตรวจเอ็มอาร์ไอในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับคอ โดยจะตรวจดูความผิดปกติของเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณที่มีอาการปวด เนื่องจากอาการปวดแขนอาจเป็นผลมาจากโรคอื่น เช่น ข้ออักเสบที่คอ หมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นต้น
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) หรือการตรวจอีเอ็มจี แพทย์จะใช้ตรวจหาตําแหน่งของเส้นประสาทบริเวณข้อศอกที่โดนกดทับและทำให้เกิดอาการปวดตามมา

การรักษาโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติจากการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นได้เอง โดยระยะเวลากว่าจะหายดีอาจนานเป็นสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน เพราะเส้นเอ็นเป็นอวัยวะที่ฟื้นฟูได้ช้า ระหว่างนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • หยุดพักแขนชั่วคราว ผู้ป่วยควรงดทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เป็นสาเหตุของโรค พยายามเคลื่อนไหวแขนและข้อมือให้น้อยลงเพื่อให้เอ็นและกล้ามเนื้อได้พัก โดยอาจต้องหยุดพักนานหลายสัปดาห์
  • รับประทานยาแก้ปวด สามารถรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs เพื่อช่วยลดอาการปวดบวมได้ เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น
  • ประคบน้ำแข็ง ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือเจลประคบเย็นนาน 15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง
  • ใช้อุปกรณ์พยุงแขน เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยในการประคองแขน และจำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่ในท่าทางที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เอ็นหรือกล้ามเนื้อได้พักฟื้นชั่วคราวและลดอาการปวดได้

ทั้งนี้ หากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลงหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แพทย์อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การทำกายภาพบำบัด เป็นการออกกำลังกายแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อกระตุ้นการทำงานและเสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนส่วนล่างให้กลับมาแข็งแรง นักกายภาพบำบัดจะนวดบริเวณที่มีอาการปวดด้วยน้ำแข็ง หรือเสริมการรักษาด้วยวิธีอื่นเป็นระยะ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหายไวมากขึ้น โดยจะมีการตรวจอัลตราซาวด์ด้วย
  • การฉีดยาบรรเทาอาการปวด แพทย์จะฉีดยาบริเวณเอ็นที่มีการอักเสบ เพื่อลดอาการปวดหรือกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมแซมตนเอง ซึ่งอาจเป็นยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์อย่างยาคอร์ติโซน หรือสารละลายชนิดต่าง ๆ ที่มีความเข้มข้นสูง นอกจากนี้ บางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีฉีดเกล็ดเลือด (Platelet-Rich Plasma: PRP) หรือโบทอกซ์ให้กับผู้ป่วย แต่ปัจจุบันยังเป็นวิธีที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เพราะต้องอาศัยผลการวิจัยอย่างต่อเนื่องถึงผลการรักษาที่ชัดเจนก่อนนำมาใช้กับผู้ป่วยจริง
  • การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy) เป็นการใช้คลื่นเสียงพลังงานสูงผ่านเข้าไปที่ข้อศอกหรือบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บใหม่ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีปัญหาเกิดกระบวนการซ่อมแซมหรือสร้างเนื้อเยื่อใหม่
  • การผ่าตัด หลังจากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6-12 เดือน เป็นอยู่อย่างเรื้อรัง หรือรุนแรงมากกว่าเดิม แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีตั้งแต่การผ่าตัดใหญ่ไปจนถึงผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อาการบาดเจ็บ สุขภาพโดยรวม ความประสงค์ของผู้ป่วย และความเสี่ยงของการรักษา เป็นต้น หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องใส่เฝือกชั่วคราวประมาณ 1 สัปดาห์ และมีการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อช่วยให้เอ็นและกล้ามเนื้อทำงานได้เป็นปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

โดยปกติ อาการ Tennis Elbow มักไม่รุนแรง อาการอาจหายได้เองหรือบรรเทาอาการได้เองที่บ้าน แต่หากอาการทวีความรุนแรงแล้วไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายขึ้น เช่น เส้นเอ็นบาดเจ็บ เส้นเอ็นฉีดขาด หรือกล้ามเนื้อปลายแขนอ่อนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ บางครั้งภาวะแทรกซ้อนก็เป็นผลมาจากการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เช่น ติดเชื้อ เส้นประสาทและหลอดเลือดได้รับความเสียหาย กล้ามเนื้อเสียความยืดหยุ่นหรือความแข็งแรงไป เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้ยากลำบากขึ้นและกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้วย

การป้องกันโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก

วิธีการป้องกัน Tennis Elbow ขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุ บางสาเหตุเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ยาก แต่ผู้ป่วยอาจป้องกันการบาดเจ็บในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีดังนี้

  • ออกกำลังกายบริหารข้อมือและแขนเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวแขนและข้อมือในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน ควรหยุดพักเป็นระยะ พยายามกระจายการใช้แรงไปยังหัวไหล่หรือต้นแขนที่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่กว่า หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
  • ก่อนทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้แขนบ่อย ๆ ควรอบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งเพื่อป้องกันการบาดเจ็บในระหว่างที่เล่นกีฬา
  • เลือกอุปกรณ์การเล่นกีฬาที่เหมาะสม น้ำหนักเบา และใช้ท่าทางการเล่นที่ถูกต้อง
  • ผู้ที่เคยมีอาการ Tennis Elbow ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาเดิม ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด หากไม่สามารถเลี่ยงได้ก็ควรเลือกวิธีที่สร้างแรงกดให้กับกล้ามเนื้อน้อยที่สุด