Theophylline (ทีโอฟิลลีน)

Theophylline (ทีโอฟิลลีน)

Theophylline (ทีโอฟิลลีน) เป็นยาในกลุ่มยารักษาโรคหอบหืด (Antiasthmatic) และโรคปอด มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ทางเดินหายใจภายในปอด ทำให้ทางเดินหายใจภายในปอดกว้างขึ้น และหายใจได้สะดวกขึ้น รวมถึงช่วยในเรื่องการหดตัวของกระบังลม ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการหายใจ และลดการตอบสนองของทางเดินหายใจจากสารระคายเคืองที่มากระตุ้น ยานี้ใช้เพื่อป้องกันหรือรักษาอาการต่าง ๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจถี่จากโรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนการนำยา Theophylline ไปใช้รักษาโรคอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ 

Theophylline

เกี่ยวกับ Theophylline

กลุ่มยา ยารักษาโรคหอบหืด (Antiasthmatic)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาโรคหืด โรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับปอด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ดและน้ำ ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Theophylline

  • ห้ามใช้ยานี้ หากแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในตัวยา Theophylline หรือยาชนิดอื่นที่คล้ายกัน เช่น ยาอะมิโนฟิลลีน (Aminophylline)
  • ห้ามใช้ยา หากกำลังบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแซนทีน (Xanthine) ในปริมาณมาก เช่น ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีน

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือมีแนวโน้มจะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร
  • เคยมีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
    • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ
    • ปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง
    • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
    • ปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือเส้นประสาท
    • อาการชัก เช่น โรคลมชัก
  • อยู่ในภาวะช็อก หรือมีไข้
  • มีแผลอักเสบ
  • ติดเชื้อรุนแรง
  • เป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เซลล์เยื่อเมือกในทุก ๆ อวัยวะสร้างสารคัดหลั่งมากขึ้น เช่น ปอดและลำไส้
  • อยู่ในภาวะน้ำท่วมปอด
  • สูบบุหรี่หรือกัญชา รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในช่วงเลิกบุหรี่

การใช้ยาบางชนิด  รวมถึงวิตามินและสมุนไพรร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรืออาจลดประสิทธิภาพการทำงานของยา ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Theophyllin เสมอ เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และยาชนิดอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ยาลดการอยากสุรา เช่น ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram)
  • ยารักษาโรควิตกกังวล เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam)  และยาลอราซีแพม (Lorazepam) 
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline)
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine)
  • ยารักษาโรคเก๊าท์ เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) 
  • ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาเวอราปามิล (Verapamil) และยาโพรพราโนลอล (Propranolol)
  • ยารักษาโรคตับอักเสบ เช่น ยาอินเตอร์เฟอรอนชนิด Alfa-2a (Interferon Alfa-2a)
  • ยาปรับฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิด เช่น ยาเอสโตรเจน (Estrogen)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเมโทเทรกเซท (Methotrexate)
  • ยารักษาอาการติดเชื้อ เช่น ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ยาต้านชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin)
  • ยาลดกรดในกระเพาะ เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine)

ปริมาณการใช้ยา Theophylline

โรคหืด (ระยะเฉียบพลัน)

  • ผู้ใหญ่
    ยารับประทานปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา Theophylline หรือ Aminophylline ในขณะนั้นมาก่อน) เมื่ออาการสงบลง ให้ยาต่อเนื่องในปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน (สูงสุดไม่เกิน 900 มิลลิกรัม/วัน)
  • ผู้สูงอายุ
    ยารับประทานปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา Theophylline หรือ Aminophylline ในขณะนั้นมาก่อน)  เมื่ออาการสงบลง ให้ยาต่อเนื่องในปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน (สูงสุดไม่เกิน 900 มิลลิกรัม/วัน)
  • เด็ก
    ยารับประทานปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อให้ปริมาณซีรัมอยู่ที่ 10 ไมโครกรัม/1 มิลลิลิตร ควรใช้ยารับประทานที่ถูกดูดซึมได้เร็วมากกว่าใช้ยารับประทานชนิดที่ค่อย ๆ ออกฤทธิ์ (สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา Theophylline มาก่อน ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา)
    ยารับประทานปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจถูกนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน หากความเข้มข้นของซีรัมไม่เพียงพอ และอาจเปลี่ยนแปลงปริมาณการให้ยาโดยคำนวณจากค่าความเข้มข้นของซีรัม (สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยา Theophylline มาก่อนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา) เมื่ออาการสงบลง แพทย์จะปรับปริมาณการให้ยาตามอายุของเด็ก

หลอดลมหดเกร็งเรื้อรัง

  • ผู้ใหญ่
    ยารับประทานปริมาณ 300-1,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งเป็นให้ยาทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง
    ยารับประทานปริมาณ 175-500 มิลลิกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง (สำหรับรูปแบบยาที่มีการควบคุมการปลดปล่อยยา)
  • เด็กอายุ 6-12 ปี หรือน้ำหนักตัว 20-35 กิโลกรัม
    ยารับประทานปริมาณ 120-250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
    ยารับประทานปริมาณ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ผู้สูงอายุ
    ยารับประทานปริมาณเล็กน้อย

การใช้ยา Theophylline

  • ห้ามใช้ยาเกินปริมาณ หรือใช้ยาเป็นเวลานานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด
  • ควรเก็บยาในบรรจุภัณฑ์ที่มากับตัวยา ปิดให้สนิท และให้พ้นจากมือเด็ก
  • ควรเก็บยาในอุณหภูมิห้อง หรือที่อุณหภูมิ 15-30 องศา พ้นจากความร้อนและความชื้น
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น กาแฟ โกโก้ ชา หรือช็อคโกแลต เป็นต้น
  • การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ยา อาจเพิ่มอัตราการเกิดผลข้างเคียงให้สูงขึ้นได้
  • การสูบบุหรี่ระหว่างใช้ยา อาจทำให้ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยาลดลงได้
  • ไม่สามารถนำยา Theophylline มาใช้รักษาทันทีที่อาการของโรคหืดกำเริบได้ ผู้ป่วยควรพกยาฉุกเฉินชนิดอื่น ๆ ติดตัวด้วย เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม
  • ยา Theophylline อาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หากจะปรับปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน
  • หากแพทย์ท่านอื่นสั่งให้หยุดใช้ยาใด ๆ หรือจ่ายยาอื่นเพิ่ม ควรแจ้งให้แพทย์ท่านนั้นทราบด้วยว่ากำลังใช้ยา Theophylline อยู่
  • หากต้องรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่ากำลังใช้ยา Theophylline เพราะตัวยาอาจรบกวนผลการตรวจได้
  • ผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • หากลืมกินยา ควรรีบกินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงช่วงเวลาการกินยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปกินยาครั้งถัดไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเด็ดขาด
  • หากกินยาเกินขนาด อาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ อาเจียนรุนแรง หรือชัก ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Theophylline

ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย หรือกระสับกระส่าย โดยควรไปปรึกษาแพทย์ หากอาการดังกล่าวไม่ทุเลาลง หรือทวีความรุนแรงมากขึ้น และควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากปรากฏผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียนอย่างหนัก
  • มีผื่นผิวหนัง
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดปกติ
  • หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
  • ชัก