ไทโอริดาซีน

ไทโอริดาซีน

Thioridazine (ไทโอริดาซีน) เป็นยาในกลุ่มฟีโนไทอาซีน ออกฤทธิ์ช่วยปรับกระบวนการทำงานของสารเคมีในสมอง โดยลดการตื่นตัวที่ผิดปกติของสมอง เพื่อช่วยลดอาการประสาทหลอน อาการหลงผิด ความคิดในแง่ลบ และป้องกันการคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น โดยยาชนิดนี้มักถูกนำมาใช้รักษาโรคจิตเภทในกรณีที่รักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล

Thioridazine

เกี่ยวกับยา Thioridazine

กลุ่มยา ยาฟีโนไทอาซีน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคจิตเภท
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Thioridazine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติการแพ้ยา Thioridazine หรือเคยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาชนิดนี้ รวมถึงยาในกลุ่มฟีโนไทอาซีน เนื่องจากอาจมีส่วนผสมบางอย่างที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม วิตามิน หรือสมุนไพรใด ๆ ที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Thioridazine ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยหากเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม โรคตับ โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต และโรคพาร์กินสัน รวมถึงหากมีประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น เคยมีอาการชัก จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือเคยมีอาการหัวใจเต้นช้าจนทำให้รู้สึกคล้ายจะเป็นลม พบปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะ หรือมีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาชนิดนี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ
  • ห้ามรับประทานยาชนิดนี้ หากเคยมีประวัติหรือกำลังมีป่วยด้วยโรคหัวใจประเภทตรวจพบ QT ยาวจากผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ มีความดันโลหิตสูงโดยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือไม่สามารถควบคุมได้ ความดันโลหิตต่ำมาก มีอาการง่วงซึม หายใจช้า ชีพจรอ่อน หรือรู้สึกไม่ตื่นตัว ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือการรับประทานยาชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้รู้สึกง่วงนอน
  • ผู้ที่มีอาการทางจิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมห้ามใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากยาชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้สูงอายุที่มีอาการของภาวะสมองเสื่อมได้
  • ห้ามรับประทานยา Thioridazine ร่วมกับยาปฏิชีวนะ ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคหัวใจหรือความดันโลหิต รวมทั้งยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ไข้มาลาเรีย โรคเอดส์ รวมทั้งยารักษาโรคจิตเภทชนิดอื่น ๆ เนื่องจากอาจส่งผลให้มีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • การใช้ยา Thioridazine ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่รุนแรง โดยอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น ตา แขน และขา ทั้งนี้ ผู้หญิงและผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงนี้มากกว่าคนทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การขับรถ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา เนื่องจากยา Thioridazine อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งหรือการนอนอย่างรวดเร็ว โดยควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้า ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของอาการมึนงงหรือการล้มเมื่อรับประทานยานี้
  • ยา Thioridazine อาจส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยไวต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด และควรใช้ครีมกันแดดหรือสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเมื่อต้องออกแดด อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการผิวไหม้จากแสงแดด หรือมีตุ่มพองหรือรอยแดงขึ้นบริเวณผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเลือด การตรวจสายตา การตรวจระดับโพแทสเซียมในเลือดและการตรวจการทำงานของหัวใจโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • แม้การใช้ยาต้านโรคจิตเภทในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้ อย่างไรก็ตาม ห้ามหยุดใช้ยาชนิดนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Thioridazine สามารถส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่บุตรได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตรเสมอ

ปริมาณการใช้ยา Thioridazine

โรคจิตเภท
ตัวอย่างการใช้ยาเพื่อรักษาโรคจิตเภท

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 50-100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ผู้ป่วยอาจเพิ่มปริมาณยาในกรณีที่จำเป็น โดยเพิ่มปริมาณได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/สัปดาห์ ส่วนปริมาณสำหรับการรับประทานปกติอยู่ที่ 200-800 มิลลิกรัม/วัน โดยอาจแบ่งรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Thioridazine

  • ใช้ยา Thioridazine ตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
  • สามารถรับประทานยา Thioridazine พร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้ โดยรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง หรือใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
  • ใช้ยา Thioridazine อย่างสม่ำเสมอเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และควรใช้ยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน
  • ห้ามแบ่งยารับประทานร่วมกับผู้อื่น
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการแพทย์และการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อการบำบัด ทั้งนี้ ไม่ควรหยุดใช้ยาหรือปรับปริมาณยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ห้ามเก็บในห้องน้ำ และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Thioridazine

การใช้ยา Thioridazine อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น มีอาการง่วงซึม ปากแห้ง ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย มีอาการบวมบริเวณเต้านม หรือมีน้ำเหลืองหรือหนองออกมาทางเต้านม มือบวม เท้าบวม และรอบประจำเดือนเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เป็นต้น
  • ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าได้ ทำให้พบปัญหาในการเคี้ยว การขยับริมฝีปาก ลิ้น และคิ้ว การกะพริบตา การเคลื่อนไหวดวงตา หรืออาจเกิดอาการยึกยือ
  • พบปัญหาเกี่ยวกับการเดินและการทรงตัว
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก และเป็นลม
  • น้ำลายไหล กลืนลำบาก และพูดไม่ชัด
  • ชัก
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย
  • รู้สึกอ่อนแอหรือไม่สบายตัวอย่างฉับพลัน มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ เหงือกบวม เกิดแผลในปาก รู้สึกเจ็บเวลากลืน มีแผลที่บริเวณผิวหนัง เป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และไอ
  • พบปัญหาสายตา เช่น มองเห็นไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน มองเห็นชัดเจนเฉพาะตรงกลาง ไวต่อแสง และอาจมีน้ำตาไหล เป็นต้น
  • มีปฏิกิริยาของระบบประสาทที่รุนแรง กล้ามเนื้อแข็ง มีไข้สูง มีเหงื่อออก รู้สึกสับสน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ตัวสั่น รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
  • มีระดับสารโพรแลกตินในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางเพศ เช่น สมรรถภาพทางเพศลดลง ความสามารถในการผลิตอสุจิลดลง หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น มีน้ำนมไหลออกมาผิดปกติ ประจำเดือนมาผิดปกติหรือประจำเดือนไม่มา มีบุตรยาก เป็นต้น