Tinidazole (ทินิดาโซล)
Tinidazole (ทินิดาโซล) เป็นยาต้านโปรโตซัว ออกฤทธิ์โดยทำลายดีเอ็นเอหรือยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ใช้รักษาภาวะพยาธิในช่องคลอด โรคติดเชื้อไกอาเดีย โรคบิดมีตัว และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด นอกจากนี้ อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Tinidazole
กลุ่มยา | ยาต้านเชื้อโปรโตซัว |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ |
รักษาภาวะพยาธิในช่องคลอด โรคติดเชื้อไกอาเดีย โรคบิดมีตัว และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก และผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ |
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Tinidazole
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาชนิดนี้ ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่นอยู่ ทั้งยาที่ซื้อรับประทานเอง ยาตามใบสั่งแพทย์ วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพร เนื่องจากแพทย์อาจปรับปริมาณยาให้เหมาะกับผู้ป่วย และเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา โดยเฉพาะหากกำลังรับประทานยาคอเลสไทรามีน ซึ่งผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยานี้พร้อมกับยา Tinidazole จึงควรสอบถามแพทย์ถึงการเว้นระยะเวลาในการรับประทานยาทั้ง 2 ชนิดอย่างเหมาะสม
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังป่วยเป็นโรคหรือเคยป่วยเป็นโรคใด ๆ โดยเฉพาะโรคลมชัก โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ตับ เลือด กำลังเข้ารับการฟอกไต หรือติดเชื้อจากยีสต์
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ และแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยา
- ห้ามรับประทานยานี้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์หรือหากมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ และห้ามให้นมบุตรขณะรับประทานยาหรือหลังจากหยุดใช้ยาเป็นเวลา 3 วัน
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะรับประทานยานี้หรือหลังจากหยุดใช้ยาเป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากอาจปวดศีรษะ หน้าแดง มีเหงื่อออก รู้สึกไม่สบายท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง หรืออาเจียนได้
- ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจร่างกายได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากต้องเข้ารับการตรวจร่างกายในขณะที่รับประทานยา
ปริมาณการใช้ยา Tinidazole
ปริมาณการใช้ยา Tinidazole อาจขึ้นอยู่กับโรค อายุ และการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ภาวะพยาธิในช่องคลอด
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อรักษาภาวะพยาธิในช่องคลอด
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2 กรัม ครั้งเดียว โดยคู่นอนควรรับประทานยารักษาด้วยเช่นเดียวกัน
โรคบิดมีตัวที่ลำไส้
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อรักษาโรคบิดมีตัวที่ลำไส้
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2 กรัม/วัน เป็นเวลา 2 หรือ 3 วัน
เด็ก อายุมากกว่า 3 ปี รับประทานยาปริมาณ 50-60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน
โรคบิดมีตัวที่ตับ
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อรักษาโรคบิดมีตัวที่ตับ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 1.5-2 กรัม/วัน เป็นเวลา 3-6 วัน
เด็ก อายุมากกว่า 3 ปี รับประทานยาปริมาณ 50-60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 5 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน
โรคติดเชื้อไกอาเดีย
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อรักษาโรคติดเชื้อไกอาเดีย
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2 กรัม ครั้งเดียว
เด็ก อายุมากกว่า 3 ปี รับประทานยาปริมาณ 50-75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว หรืออาจรับประทานยาซ้ำหากจำเป็น โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน
ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2 กรัม ครั้งเดียว หรืออาจรับประทานยาปริมาณ 2 กรัม/วัน เป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน หรือ 1 กรัม/วัน เป็นเวลา 5 วัน
การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ต้องการออกซิเจน
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ต้องการออกซิเจน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2 กรัม/วัน ในวันแรก จากนั้น รับประทานยาปริมาณ 1 กรัม/วัน หรือแบ่งรับประทาน 500 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 5-6 วัน
การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ต้องการออกซิเจนก่อนการผ่าตัด
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ต้องการออกซิเจนก่อนการผ่าตัด
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2 กรัม ครั้งเดียว ก่อนการผ่าตัด 12 ชั่วโมง
การติดเชื้อเอชไพโลไรที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ตัวอย่างการใช้ยา Tinidazole เพื่อกำจัดเชื้อเอชไพโลไรที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับยาคลาริโทรมัยซินและยาโอเมพราโซล เป็นเวลา 7 วัน
การใช้ยา Tinidazole
- ใช้ยาตามฉลากยาและตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้
- ห้ามรับประทานยาน้อยเกินไป มากเกินไป หรือนานเกินไปหากแพทย์ไม่ได้สั่ง เนื่องจากอาจทำให้ติดเชื้ออื่นซ้ำซ้อนได้ และควรรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
- ห้ามหยุดรับประทานยาแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากหากหยุดใช้ยาก่อนกำหนดหรือรับประทานยาไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด อาการติดเชื้ออาจไม่หายขาด และเชื้อแบคทีเรียอาจดื้อยาปฏิชีวนะ
- หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในขณะที่รับประทานยา หรือหากรับประทานยาเกินปริมาณ ให้ติดต่อแพทย์โดยด่วน
- หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องรับประทานยาทดแทน
- ควรรับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- ห้ามใช้ยาร่วมกับผู้อื่น และห้ามรับประทานยาของผู้อื่น
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้องให้ห่างจากแสงแดด ความชื้น เด็ก และสัตว์เลี้ยง
- ห้ามเก็บยาที่ไม่ได้ใช้แล้วหรือยาหมดอายุไว้ โดยอาจสอบถามแพทย์เกี่ยวกับวิธีกำจัดยาที่ปลอดภัยที่สุด แต่ไม่ควรทิ้งยาลงในอ่างล้างมือหรือชักโครก
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tinidazole
ระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานยา Tinidazole อาจรู้สึกว่ามีรสชาติขมภายในปาก หรือมีความสามารถในการรับรสชาติลดลง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป แต่หากอาการเหล่านี้หรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เหนื่อยล้าหรืออ่อนแรง เบื่ออาหาร อาเจียน ไม่สบายท้อง ท้องผูก ปวดท้องหรือเป็นตะคริวที่ท้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากอาการข้างเคียงต่าง ๆ มีความรุนแรง เกิดขึ้นเป็นเวลานาน หรือไม่หายไป ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
นอกจากนี้ หากมีอาการแพ้ยาอย่างหายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น คอ เป็นลมพิษ หรือเกิดผลข้างเคียงเป็นอาการที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- มีไข้ มีอาการของไข้หวัดใหญ่ หนาวสั่น
- มีอาการชา ปวดแสบปวดร้อน รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามร่างกาย
- ปวดตามร่างกาย
- ชักเกร็ง