Tiotropium (ไทโอโทรเปียม)
Tiotropium (ไทโอโทรเปียม) เป็นยารักษาโรคปอด อย่างโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และช่วยป้องกันอาการหายใจมีเสียงหวีดและหายใจไม่อิ่ม โดยตัวยาออกฤทธิ์ช่วยขยายกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้รักษาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
เกี่ยวกับยา Tiotropium
กลุ่มยา | ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคหืด โรคปอดอุดกันเรื้อรัง และโรคปอดอื่น ๆ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาสูดพ่น |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ปัจจุบันยาไทโอโทรเปียมยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนให้นมบุตร |
คำเตือนในการใช้ยา Tiotropium
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Tiotropium และยาไอปราโทรเปียม (Ipratropium) รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยารักษาความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ ยาโรคไข้หวัดหรือภูมิแพ้ ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และยาขยายหลอดลม
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อหินมุมปิด โรคไต แพ้นม ต่อมลูกหมากโต ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยอื่น ๆ ของผู้ป่วย
- แจ้งให้แพทย์ทราบขณะใช้ยา หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทันตกรรมใด ๆ
- ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของปอดในระหว่างที่ใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวหรือใช้สายตาอยู่ตลอดเวลา เพราะยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะหรือมองเห็นเป็นภาพเบลอได้
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยา Tiotropium เพราะตัวยาอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะมากขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงสารก่อการระคายเคืองหรือก่อภูมิแพ้ เพราะอาจทำให้ปัญหาการหายใจแย่ลงได้ อาทิ ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ฝุ่น และไรฝุ่น
- ผู้ป่วยชายสูงอายุอาจเสี่ยงต่อการปัสสาวะลำบากขณะใช้ยานี้
- ไม่อนุญาตให้ใช้ยา Tiotropium ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
- ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนใช้ยานี้
- ผู้ป่วยที่ต้องให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนให้นมบุตร
ปริมาณการใช้ยา Tiotropium
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
รักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ตัวอย่างการใช้ยา Tiotropium เพื่อรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ผู้ใหญ่ หากใช้เครื่องสูดพ่นยาชนิดผงให้ใช้ครั้งละ 1 แคปซูล หรือปริมาณ 18 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยใช้ในเวลาเดียวกันของทุก ๆ วัน หากใช้เครื่องสูดพ่นยาชนิดละอองหมอกให้ใช้ครั้งละ 2 หลอดยา หรือประมาณ 5 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยใช้ในเวลาเดียวกันของทุก ๆ วัน
การใช้ยา Tiotropium
วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องและใช้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากยามากที่สุด
- ผู้ป่วยเด็กควรใช้ยาภายใต้การดูแลจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
- ยา Tiotropium ชนิดผงจะบรรจุอยู่ในรูปแบบแคปซูลและใช้กับเครื่องสูดพ่นยาแบบพิเศษเท่านั้น ห้ามนำแคปซูลยานั้นมารับประทานโดยเด็ดขาด และไม่ควรแกะแคปซูลยาออกจากบรรจุภัณฑ์ทิ้งไว้ หากยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้ยา
- ผู้ป่วยควรระมัดระวังขณะใช้ยา Tiotropium ชนิดผง เพราะผงยาอาจเข้าตาจนทำให้เจ็บตา ระคายเคืองตา มองเห็นเป็นภาพเบลอชั่วคราว หรือมีปัญหาสายตาอื่น ๆ
- ผู้ป่วยที่ใช้ยา Tiotropium ชนิดละอองหมอกควรสอดหลอดบรรจุยาเข้าไปในฐานยาให้สนิท และควรหมุนหลอดยาจนได้ยินเสียงคลิกก่อนการใช้ยาตามปกติ
- ผู้ป่วยควรบ้วนปากหลังการใช้เครื่องสูดพ่นยา เพื่อป้องกันปากแห้งและการระคายเคืองในลำคอ รวมถึงควรทำความสะอาดเครื่องสูดพ่นยาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
- หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ยา Tiotropium จะใช้ไม่ได้ผลในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจเฉียบพลัน อย่างหลอดลมหดเกร็ง หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจไม่อิ่ม เพราะปัญหาในการหายใจเฉียบพลันเหล่านี้ควรใช้ยาบรรเทาที่ออกฤทธิ์เร็วหรือยาที่ใช้เมื่อมีอาการโดยเฉพาะ เช่นยาซาลบูทามอล (Salbutamol)
- หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และห้ามใช้ยามากกว่า 2 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจส่งผลให้ปากแห้ง ตาแดง ท้องผูก ปวดท้อง สันสน หรือง่วงซึม
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และห้ามแช่แข็งยา รวมถึงควรปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tiotropium
ปกติแล้วการใช้ยาไทโอโทรเปียมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง เวียนศีรษะ มองเห็นเป็นภาพเบลอ ท้องผูก เจ็บขณะปัสสาวะ ท้องไส้ปั่นป่วน เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว และมีอาการหวัดอย่างมีน้ำมูกไหลหรือเจ็บคอ เป็นต้น
ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์หากเกิดอาการรุนแรงต่อไปนี้
- มีสัญญาณของการพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ คัน หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น
- หายใจมีเสียงหวีด สำลัก มีปัญหาในการหายใจ
- มองเห็นเป็นภาพเบลอ ปวดตา ตาบวม ตาแดง มองเห็นแสงกระจายเป็นรัศมีรอบ ๆ ดวงไฟ
- มีแผลในปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น
- ปัสสาวะลำบาก เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะได้น้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
- ปัญหาด้านการหายใจมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วหลังการสูดพ่นยา แต่มักพบได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยใช้ยา Tiotropium แล้วพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป