Tobramycin
Tobramycin (โทบรามัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภาวะติดเชื้อในดวงตา เป็นต้น โทบรามัยซินมีรูปแบบการใช้ที่หลากหลาย อย่างยาสูดพ่น ยาฉีด และยาหยอดตา ซึ่งการนำไปใช้ขึ้นอยู่กับโรคที่ต้องการรักษา อย่างไรก็ตาม การยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้ในการรักษาโรคอื่น ๆ ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Tobramycin
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ใช้รักษาโรคซิสติกไฟโบรซิส ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ และโรคติดเชื้ออื่น ๆ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีดพ่น ยาฉีด ยาหยอดตา |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | ยาพ่นและยาฉีด Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยง ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารก ในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษา โรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ยาหยอดตา Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงใน การทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษา ในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยง ในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มี หลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลัง เดือนที่สามเป็นต้นไป |
คำเตือนในการใช้ยา Tobramycin
การใช้ยา Tobramycin มีข้อควรระวังที่ควรศึกษาก่อนการใช้ยา ดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้
- แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนรับการรักษา โดยเฉพาะยาขับปัสสาวะ ยูเรียครึม ยาที่อาจส่งผลกระทบต่อไต การได้ยิน และระบบประสาท ยารักษาโรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน โรคลำไส้ และยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเกี่ยวกับประวัติการรักษาและโรคประจำตัว โดยเฉพาะภาวะแร่ธาตุในเลือดต่ำ โรคไต โรคเกี่ยวกับดวงตา โรคซิสติกไฟโบรซิส โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG (Myasthenia Gravis) โรคพาร์กินสัน หรือโรคกล้ามเนื้อร่วมประสาทชนิดอื่น รวมทั้งอาการผิดปกติ อย่างปัญหาทางการได้ยิน ตาลาย ไอ หายใจมีเสียงหวีด และแน่นหน้าอก
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากเพิ่งรับหรือวางแผนจะรับวัคซีนชนิดเชื้ออ่อนฤทธิ์ (Live Bacterial Vaccine) อย่างวัคซีนไข้ไทฟอยด์ เนื่องจากยา Tobramycin อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีน
- ยาโทบรามัยซินในรูปแบบยาหยอดตาอาจส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัวชั่วคราวหลังใช้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูงกว่าคนในช่วงวัยอื่น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ เนื่องจากยาโทบรามัยซินในรูปแบบฉีดและสูดพ่นอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ส่วนผู้ที่ต้องการใช้ยาในรูปแบบยาหยอดตาควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยาโทบรามัยซินในรูปแบบฉีดและสูดพ่นสามารถส่งผ่านน้ำนม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ผู้ที่ใช้ยาในรูปแบบยาหยอดตาควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
ปริมาณการใช้ยา Tobramycin
รูปแบบและปริมาณของยาที่ใช้ในการรักษานั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ โดยยาโทบรามัยซินมีตัวอย่างการใช้ ดังนี้
โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
ตัวอย่างการใช้ยา Tobramycin เพื่อรักษาการติดเชื้อในปอดที่เกิดจากโรคซิสติกไฟโบรซิส มีดังนี้
ผู้ใหญ่ ใช้ยาโทบรามัยซินรูปแบบสูดพ่นผ่านเครื่องพ่นยา (Nebulizer) ปริมาณ 300 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน 28 วัน จากนั้นเว้นการใช้ยา 28 วัน โดยอาจกลับมาใช้ยาในรูปแบบเดิมอีกครั้งหากจำเป็น
ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยา Tobramycin เพื่อรักษาภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบระดับไม่รุนแรงจนถึงระดับกลาง มีดังนี้
ผู้ใหญ่ ใช้ยาโทบรามัยซิน ปริมาณ 2-3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง
โรคติดเชื้ออื่น ๆ
ตัวอย่างการใช้ยา Tobramycin เพื่อรักษาการติดเชื้อของกระเพาะอาหาร กระดูกและข้อต่อ ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง มีดังนี้
ผู้ใหญ่ ให้ยาโทบรามัยซิน ปริมาณ 3-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวผ่านการหยดยา (Infusion) เข้าสู่หลอดเลือดดำ โดยแบ่งการให้เป็น 3-4 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 20-60 นาที ระยะเวลาการรักษาโดยทั่วไปอยู่ที่ 7-10 วัน
เด็ก ให้ยาโทบรามัยซิน ปริมาณ 6-7.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวผ่านการหยดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำ โดยแบ่งการให้เป็น 3-4 ครั้งต่อวัน ระยะเวลาการรักษาโดยทั่วไปอยู่ที่ 7-10 วัน ในกรณีที่รักษาเด็กทารก ให้ยา Tobramycin ปริมาณ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว และแบ่งการให้เป็น 2 ครั้งต่อวัน
การติดเชื้อในดวงตา
ตัวอย่างการใช้ยา Tobramycin เพื่อรักษาการติดเชื้อในดวงตา มีดังนี้
ผู้ใหญ่ ใช้ยาโทบรามัยซินรูปแบบยาหยอดตาความเข้มข้น 0.3 เปอร์เซ็นต์ 1 หยดหยอดลงในดวงตาที่มีการติดเชื้อ 2 ครั้งต่อวัน หากอาการติดเชื้อรุนแรง วันแรกของการใช้ให้เพิ่มจำนวนการหยอดเป็น 4 ครั้ง และปรับเหลือ 2 ครั้งต่อวันในวันถัด ๆ ไป
หากใช้ยาโทบรามัยซินรูปแบบขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.3 เปอร์เซ็นต์ บีบยาเป็นแนวยาวประมาณ 0.5 นิ้ว บริเวณด้านในหนังตาล่างของดวงตาข้างที่ติดเชื้อ 2-3 ครั้งต่อวัน หากการติดเชื้อรุนแรงอาจทายาดังกล่าวทุก 3-4 ชั่วโมง
การใช้ยา Tobramycin
ยาโทบรามัยซินมีวิธีการใช้ ดังนี้
- อ่านใบกำกับยาโดยละเอียดก่อนการใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ถามแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
- ควรใช้ยา Tobramycin อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าไม่มีอาการของโรคแล้ว เนื่องจากการหยุดยาก่อนกำหนดอาจส่งผลต่อการรักษาครั้งต่อไปได้
- ผู้ที่ฉีดยาหรือใช้ยาด้วยตนเอง ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องและใช้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
- โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยาโทบรามัยซิน หากต้องการรักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยจำเป็นต้องเรียนวิธีการฉีดยาที่ถูกต้องจากบุคลากรทางการแพทย์
- หากยา Tobramycin รูปแบบฉีดมีตะกอนหรือมีสีต่างไปจากเดิม ห้ามใช้โดยเด็ดขาด
- หากลืมฉีดยา ควรฉีดยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้เวลาฉีดยาครั้งถัดไปสามารถข้ามไปฉีดยาครั้งถัดไปได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
- ควรใช้ยาโทบรามัยซิน กับเครื่องพ่นยาที่ออกแบบโดยเฉพาะเท่านั้น
- ควรกำจัดเสมหะด้วยการทำกายภาพบําบัดทรวงอก (Chest Physiotherapy) หรือวิธีอื่น ๆ ก่อนการใช้เครื่องพ่นยาทุกครั้ง
- ห้ามกลืนยา เมื่อใช้ยาโทบรามัยซินผ่านเครื่องพ่นยา
- หากบรรจุภัณฑ์ยาแบบสูดพ่น มีตะกอน มีสีขุ่น หรือบรรจุภัณฑ์ยาอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ห้ามใช้ยาโดยเด็ดขาด
- ยาโทบรามัยซินแบบสูดพ่นอาจมีสีเข้มขึ้นตามอุณหภูมิและเวลาที่เก็บรักษา ซึ่งสามารถใช้ได้ตามปกติ
- ใส่บรรจุภัณฑ์ยาโทบรามัยซินสำหรับสูดพ่นไว้ในเครื่องพ่นยาเมื่อต้องการใช้เท่านั้น
- เก็บเครื่องพ่นยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ห่างจากความชื้นและความร้อน
- หากลืมสูดพ่นยาควรใช้ยาทันทีที่นึกได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา แต่ไม่ควรเกิน 6 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์
- ก่อนใช้ยา Tobramycin ในรูปแบบยาหยอดตาหรือขี้ผึ้ง ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และไม่ควรให้ปลายหลอดยาหยอดตาอยู่ใกล้ดวงตามากเกินไป
- ห้ามทาหรือหยอดตาในขณะสวมคอนแทคเลนส์ และหมั่นทำความสะอาดคอนแทคเลนอย่างถูกวิธี
- หากใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วย ควรยาใช้ชนิดนี้ก่อนและรอ 5-10 นาทีก่อนใช้ยาอื่น
- หากลืมทายา ควรทาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้เวลาทายาครั้งถัดไปสามารถทายาได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
- ยาโทบรามัยซินรูปแบบฉีดควรจัดเก็บในอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส รูปแบบสูดพ่นควรจัดเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และรูปแบบยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งควรจัดเก็บในอุณหภูมิ 8-7 องศาเซลเซียส โดยทั้งหมดนี้ควรเก็บให้ห่างจากความร้อนและแสงแดด
- หากได้รับยาเกินขนาดและเกิดอาการ อย่างหมดสติหรือหายใจลำบาก ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
- หากใช้ยาแล้วอาการไม่ทุเลาหรืออาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tobramycin
ยาโทบรามัยซินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยอาจแบ่งตามรูปแบบของยา ดังนี้
-
ยารูปแบบสูดพ่น
ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการสูดพ่นยาโทบรามัยซิน เช่น เลือดกำเดาไหล เป็นไข้ หายใจลำบาก น้ำมูกเปลี่ยนสี เสียงเปลี่ยน จาม และคัดจมูก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจเกิดผลข้างเคียงอื่นซึ่งพบได้น้อย อย่างเจ็บหน้าอก สั่น มีปัญหาทางการได้ยิน มีเสียงในหู ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ เหนื่อยล้า ไม่มีแรง แผลในปาก มีเลือดออกหรือรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
-
ยารูปแบบฉีด
ยาโทบรามัยซินรูปแบบฉีดอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ปวดบริเวณที่ฉีดยา หากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นหรือไม่หายควรแจ้งเภสัชกร แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น รู้สึกชา เป็นเหน็บ กล้ามกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการชัก ควรพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
บางกรณี ยาโทบรามัยซินอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในช่วงหลังจากการใช้ยา และหากมีอาการปวดท้อง ท้องเสียต่อเนื่อง หรืออุจจาระปนเลือด ควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ การใช้ยานี้ในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องปากได้ -
ยารูปแบบยาหยอดตาและขี้ผึ้ง
การใช้ยารูปแบบนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างระคายเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง คันเปลือกตา ซึ่งหากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นหรือไม่หายควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ การใช้ยา Tobramycin หยอดตาเป็นเวลานานยังอาจทำให้เกิดเชื้อราในดวงตาได้ จึงไม่ควรใช้ยาเกินระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงของยา Tobramycin ดังนั้น หากมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นหลังจากการใช้ยา ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ
นอกจากนี้ ยาโทบรามัยซินก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา อย่างผื่นแดงคัน อาการบวมตามใบหน้า ปาก ลำคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือหายใจลำบาก แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจพบได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที