ความหมาย กลุ่มอาการทีโอเอส (TOS)
TOS (Thoracic Outlet Syndrome) หรือกลุ่มอาการทีโอเอส เกิดจากการกดทับของเส้นเลือดและเส้นประสาทบริเวณระหว่างต้นคอกับรักแร้ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่และหน้าอก โดยกลุ่มอาการแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
- อาการเกิดกับหลอดเลือด เป็นการบีบรัดจนทำให้เกิดแรงกดที่หลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า อาจเกิดเพียงหลอดเลือดเดียวหรือหลายหลอดเลือด
- อาการเกิดกับเส้นประสาท เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาทระหว่างต้นคอกับรักแร้ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่และหน้าอกที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและความรู้สึกของไหล่ แขน และมือ
- อาการเกิดจากสาเหตุคลุมเครือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณระหว่างต้นคอกับรักแร้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจต้องใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าเพื่อช่วยหาสาเหตุ
ทั้งนี้ TOS สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้ในผู้หญิงอายุ 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน
อาการของกลุ่มอาการทีโอเอส
ผู้ป่วยอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ามีการกดทับบริเวณเส้นประสาทหรือหลอดเลือด ซึ่งหากเกิดการกดทับที่หลอดเลือดก็อาจทำให้มีอาการ ดังต่อไปนี้
- ปวดและบวมที่แขน ซึ่งอาจเกิดจากการกดทับจนทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณดังกล่าว
- แขนอ่อนแรง หรือตรวจชีพจรไม่พบในแขนข้างที่มีอาการ
- มือและนิ้วเปลี่ยนเป็นสีซีดหรือม่วงคล้ำคล้ายฟกช้ำ
- แขน มือ และนิ้วมือเย็นผิดปกติ
- เกิดอาการเหน็บชาบริเวณนิ้วมือข้างที่มีอาการ
- มีก้อนเนื้อที่มีการเคลื่อนตัวเป็นจังหวะบริเวณใกล้กับกระดูกไหปลาร้า
ส่วนการกดทับที่เส้นประสาทบริเวณคอจะทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ดังนี้
- กล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งลีบลง
- กำมือได้ไม่แน่น เนื่องจากไม่มีแรง
- เกิดอาการชาที่แขนหรือนิ้วมือ
- ปวดบริเวณคอ ไหล่ หรือมือ
ทั้งนี้ หากอาการที่เกิดเริ่มรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอย่างเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
สาเหตุของกลุ่มอาการทีโอเอส
TOS เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด โดยอาการจะแสดงให้เห็นเมื่อหลอดเลือดหรือเส้นประสาทถูกกดทับหรือบีบรัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การมีกระดูกซี่โครงบริเวณคองอกเกินมาแต่กำเนิด หรือมีประวัติกระดูกไหปลาร้าหักจนทำให้ช่องว่างระหว่างหลอดเลือดกับเส้นประสาทแคบลง รวมถึงอาจมีเนื้อเยื่อบริเวณคอที่เจริญเติบโตผิดปกติ
นอกจากนี้ บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ อาจมีโอกาสเกิดกลุ่มอาการ TOS ได้มากกว่าคนทั่วไป
- เพศหญิง
- มีอายุระหว่าง 20-40 ปี
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ เป็นต้น
- มีเนื้องอก
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอกช่วงบนหรือใต้รักแร้โตผิดปกติ
- เผชิญความเครียด หรือภาวะซึมเศร้า
- เคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำ ๆ ยกของหนัก หรือเล่นกีฬาที่ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น เบสบอล ว่ายน้ำ กอล์ฟ วอลเลย์บอล เป็นต้น
- มีอาการบาดเจ็บที่คอหรือหลัง
- นั่ง ยืน หรือเคลื่อนไหวผิดท่า
- ออกกำลังกายแบบยกน้ำหนัก
การวินิจฉัยกลุ่มอาการทีโอเอส
กลุ่มอาการ TOS อาจทำให้มีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน การวินิจฉัยจึงอาจทำได้ค่อนข้างยาก ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ ซักประวัติสุขภาพและการรักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งตรวจร่างกายด้วย
หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือเข้าข่ายกลุ่มอาการ TOS แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การเอกซเรย์ เป็นการใช้รังสีแสดงภาพบริเวณที่เกิดอาการ เพื่อดูความเสียหายหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงอาจช่วยคัดกรองโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงออกไปด้วย
- การอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อสร้างภาพ ซึ่งช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติของหลอดเลือด
- การทำ CT Scan แพทย์อาจฉีดสารย้อมสีเข้าไปเพื่อย้อมหลอดเลือด ก่อนจะใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ฉายรังสีเพื่อถ่ายภาพความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการกดทับ
- การทำ MRI Scan เป็นการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งช่วยให้ได้ภาพที่ละเอียดขึ้น วิธีนี้จะทำให้แพทย์มองเห็นตำแหน่งที่เกิดความเสียหายและสาเหตุของการกดทับได้ชัดเจนมากขึ้น
- การย้อมสีหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปบริเวณขาหนีบให้ขึ้นไปบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหา จากนั้นจะฉีดสารย้อมสีและถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูความเสียหายของหลอดเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้า เป็นวิธีตรวจการทำงานของกระแสประสาทกล้ามเนื้อในขณะเกร็งและขณะพัก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ระบุความผิดปกติของระบบประสาทได้
- การตรวจการตอบสนองของกระแสประสาท แพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าต่ำทดสอบการตอบสนองของเส้นประสาท หากมีความผิดปกติก็มีความเป็นไปได้ที่เส้นประสาทบริเวณดังกล่าวจะเสียหายจากการกดทับหรือบีบรัด
การรักษากลุ่มอาการทีโอเอส
โดยปกติแล้ว อาการของ TOS มักไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้วิธีใดในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกินแพทย์จะให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นจะเพิ่มเกิดแรงกดบริเวณกล้ามเนื้อไหล่ และอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากโรคนี้ เช่น
- ปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมประจำวันบางอย่างซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ
- ทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ ซึ่งจะทำให้ลดแรงกดบริเวณกระดูกไหปลาร้าและทำให้อาการดีขึ้น
- ในรายที่มีอาการปวดหรือบวม แพทย์จะให้ใช้ยาควบคู่กันไปเพื่อบรรเทาอาการ โดยยาที่มักใช้คือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น
- หากผู้ป่วยมีอาการจากการเกิดลิ่มเลือด แพทย์อาจต้องฉีดสารละลายลิ่มเลือดเข้าไปที่หลอดเลือดดำเพื่อละลายลิ่มเลือดดังกล่าว ซึ่งหลังจากฉีดยาแล้วก็อาจต้องใช้ยาชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดซ้ำด้วย
นอกจากนี้ การฝังเข็มก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยก่อนรักษาด้วยวิธีนี้เสมอ
อย่างไรก็ตาม หากการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หรือไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด เพื่อนำบางส่วนของกระดูกที่กดทับอยู่ออกไป ซึ่งจะทำให้อาการกดทับหรือบีบรัดหายไป
ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการทีโอเอส
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การกดทับอาจทำให้เกิดความเสียหายที่เส้นประสาทบริเวณคอ และทำให้เกิดอาการที่อันตรายมากขึ้น เช่น อาการบวมที่แขนอย่างถาวร เส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร เกิดแผลที่นิ้วเนื่องจากเลือดไหลเวียนไปไม่เพียงพอจนอาจเกิดเนื้อตายในที่สุด เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มอาการ TOS ยังอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดและโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดได้ด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยจึงควรรีบเข้ารับการรักษาทันทีหากเกิดอาการในกลุ่มอาการ TOS เพื่อความปลอดภัย
การป้องกันกลุ่มอาการทีโอเอส
กลุ่มอาการ TOS นั้นไม่มีวิธีป้องกัน แต่หากเป็นแล้วก็สามารถรักษาให้อาการบรรเทาลงและลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ โดยผู้ป่วยควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันเส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ฝึกนั่งและเดินในท่าทางที่ถูกต้อง
- ควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินมาตรฐาน
- หยุดพักและยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงานหรือเรียน
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้อาการแย่ลง เช่น การยกของหนัก การสะพายกระเป๋าหนัก ๆ หรือการเคลื่อนไหวในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ เป็นต้น
- หากผู้ป่วยมีอาการที่เป็นสัญญาณของการกลับมาเป็น TOS ซ้ำ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน