Tourette Syndrome หรือกลุ่มอาการทูเร็ตต์ เป็นโรคติกส์ (Tics) ประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำ ๆ กะพริบตาและทำเสียงออกมาโดยไม่รู้ตัวหรือไม่สามารถควบคุมได้ ส่งเสียงจากในลำคอหรือโพล่งคำหยาบออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้และมักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
อาการของกลุ่มอาการทูเร็ตต์
ผู้ป่วย Tourette Syndrome จะมีอาการของโรคติกส์อย่างอาการกล้ามเนื้อกระตุกและทำเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่สามารถควบคุมได้ โดยทั้ง 2 อาการอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงบางคนอาจมีเพียงอาการกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำ ๆ อย่างรวดเร็ว แต่บางรายก็อาจมีอาการรุนแรงเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
นอกจากนี้ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อและอาการเปล่งเสียงออกมาโดยไม่ตั้งใจยังแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อาการแบบไม่ซับซ้อนที่มักส่งผลต่อกล้ามเนื้อร่างกายเพียงไม่กี่ส่วน และอาการแบบซับซ้อนที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อร่างกายหลาย ๆ ส่วน ดังนี้
อาการกระตุกของกล้ามเนื้อ
- ชนิดไม่ซับซ้อน เช่น กะพริบตา ขยิบตา กลอกตา ยักไหล่ ผงกศีรษะ แลบลิ้น ปากกระตุกหรือจมูกกระตุก เป็นต้น
- ชนิดซับซ้อน เช่น สัมผัสหรือดมสิ่งของ ทำท่าทางไม่สุภาพ เลียนแบบท่าทางผู้อื่น ดัดหรือบิดตัว กระโดด เป็นต้น
อาการทำเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ชนิดไม่ซับซ้อน เช่น เสียงคราง เสียงกระแอมไอ เสียงเห่า อาการสะอึก เป็นต้น
- ชนิดซับซ้อน เช่น พูดซ้ำ ๆ พูดทวนคำผู้อื่น โพล่งคำหยาบคาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วย Tourette Syndrome มักมีอาการรุนแรงในช่วงวัยรุ่นตอนต้น แต่อาการมักดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยอาจหยุดอาการนี้ได้ชั่วคราวแต่ต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก นอกจากนี้ อาการของโรคนี้มักหายไปได้เองเมื่อผู้ป่วยมีสมาธิจดจ่อกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการของ Tourette Syndrome อาจแย่ลงเมื่อเผชิญหน้ากับความตื่นเต้น ความเครียด หรือความวิตกกังวล และยังอาจเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในระหว่างที่นอนหลับ แต่อาการจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงหลับลึก โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น
สาเหตุของกลุ่มอาการทูเร็ตต์
สาเหตุของโรค Tourette Syndrome นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยแวดล้อม หรืออาจเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมองอย่างโดพามีนและเซโรโทนิน นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวมีประวัติการเกิดโรค Tourette Syndrome หรือโรคติกส์มาก่อน อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากขึ้น โดยมักพบโรคนี้ในเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี และเด็กผู้ชายจะมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า
การวินิจฉัยกลุ่มอาการทูเร็ตต์
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยซักประวัติและสอบถามอาการจากผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ที่เป็นโรค Tourette Syndrome ต้องมีอาการของโรคติกส์อย่างการกระตุกของกล้ามเนื้อตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป และมีการทำเสียงออกมาอย่างน้อย 1 อย่าง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และอาจเกิดอาการวันละหลาย ๆ ครั้ง เกือบทุกวัน หรือมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวิธีการตรวจสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากมีเด็กหลายรายที่มีอาการของโรคติกส์แล้วอาการนั้นหายไปได้เองในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยเป็นโรคอื่นได้ เนื่องจากผู้ป่วย Tourette Syndrome มักมีภาวะอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ โรคความผิดปกติด้านการนอน หรือโรควิตกกังวล
ทั้งนี้ หากเป็นอาการที่เกิดจากการรับประทานยาหรืออาการจากโรคอื่น ๆ อย่างโรคลมชัก โรคฮันติงตัน (Huntington Disease) และโรคสมองอักเสบ จะไม่จัดว่าเป็นโรค Tourette Syndrome โดยแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคนี้จริง เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การทำ MRI Scan การทำ CT Scan หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นต้น
การรักษากลุ่มอาการทูเร็ตต์
Tourette Syndrome เป็นกลุ่มอาการที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยสามารถจัดการกับอาการและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากมีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการใช้ยา การทำจิตบำบัด หรือการผ่าตัด ดังนี้
การใช้ยา
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการของโรค โดยยาที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้
- ยาฮาโลเพอลิดอล ยาฟลูเฟนาซีน ยารักษาโรคฮันติงตัน หรือยาระงับอาการทางจิตอื่น ๆ เพื่อช่วยยับยั้งสารโดพามีนในสมองและช่วยควบคุมอาการโรคติกส์
- การฉีดโบทอกซ์ เพื่อช่วยควบคุมอาการกล้ามเนื้อกระตุกและอาการทำเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจในผู้ป่วยที่มีอาการชนิดไม่ซับซ้อน
- ยาเมทิลเฟนิเดต เป็นยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางที่ช่วยลดอาการของโรคสมาธิสั้นและโรคติกส์
- ยาต้านอะดรีเนอร์จิกในระบบประสาทส่วนกลางอย่างยาโคลนิดีน ซึ่งมักใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมและยับยั้งตนเองไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจ
- ยาต้านเศร้าฟลูออกซิทีน ช่วยควบคุมอาการที่เกิดร่วมกับโรค Tourette Syndrome อย่างพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล และซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น หากผู้ป่วยพบความผิดปกติใด ๆ หลังใช้ยา ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
การทำจิตบำบัด
เป็นการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือนักจิตวิทยา เพื่อบรรเทาอาการของโรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรควิตกกังวล ซึ่งเป็นอาการที่เกิดร่วมกับ Tourette Syndrome โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอาจรักษาผู้ป่วยด้วยการสะกดจิต เทคนิคการผ่อนคลาย การทำสมาธิ และการฝึกหายใจ นอกจากนี้ อาจใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดร่วมด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้และระบุสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการได้ รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะหยุดอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือการทำเสียงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ
การผ่าตัด
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก ซึ่งเป็นการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงในสมอง เพื่อกระตุ้นไฟฟ้าไปยังส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังต้องการการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรค Tourette Syndrome จริงหรือไม่ จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้
ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการทูเร็ตต์
ผู้ป่วยโรค Tourette Syndrome ส่วนมากมักมีอาการดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และอาการอาจหายไปได้เองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยโรคนี้ไม่ส่งผลต่อสติปัญญาและอายุขัยของผู้ป่วย แต่มักมีผลต่อพฤติกรรมและการเข้าสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีได้
ทั้งนี้ แม้อาการจะลดลงไปตามอายุที่มากขึ้น แต่หากยังเกิดอาการหรือโรคดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- โรคสมาธิสั้น
- โรคย้ำคิดย้ำทำ
- กลุ่มอาการออทิสติก
- โรคบกพร่องทางการเรียนรู้
- โรคความผิดปกติด้านการนอน
- โรคซึมเศร้า
- โรคหวาดระแวงและวิตกกังวล
- อาการปวดศีรษะจากโรคติกส์
- ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการกับความโกรธ
การป้องกันกลุ่มอาการทูเร็ตต์
เนื่องจากแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด Tourette Syndrome จึงยากที่จะป้องกันโรคได้ แต่ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้อาจปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดอาจช่วยดูแลไม่ให้อาการของโรคสร้างปัญหาต่อผู้ป่วยได้ เนื่องจากโรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจในตนเองจนประสบปัญหาในการเข้าสังคม ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวจึงควรช่วยกันสังเกตและทำความเข้าใจกับผู้ป่วย โดยอาจปรึกษาและขอคำแนะนำจากบุคคลากรการแพทย์และผู้ที่เคยคลุกคลีกับผู้ป่วย Tourette Symdrome มาก่อน เพื่อช่วยดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสมที่สุด
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก คุณครูหรือผู้ที่พบปะกันบ่อยครั้งควรได้รับคำแนะนำในการรับมือกับผู้ป่วยอย่างถูกวิธี และอาจปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามที่ผู้ป่วยต้องการ อย่างการเรียนกับครูพี่เลี้ยง การทำแบบทดสอบเพื่อลดความเครียด หรือการเรียนในชั้นเรียนเล็ก ๆ นอกจากนี้ การสนับสนุนในสิ่งที่ผู้ป่วยชื่นชอบหรือพาผู้ป่วยไปพบปะกับคนอื่น ๆ ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นได้