Tranexamic Acid (กรดทรานเอกซามิก)
Tranexamic Acid (กรดทรานเอกซามิก) เป็นยารักษาการตกเลือด ภาวะเลือดออกมาก หรือเลือดออกไม่หยุด โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือด จึงจัดเป็นยาในกลุ่มช่วยให้เลือดแข็งตัว บางกรณีอาจใช้รักษาภาวะอื่นตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ประจำเดือนมามากแต่ไม่ช่วยให้เลือดประจำเดือนหยุดไหล หรือไม่สามารถรักษาอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนได้ เพราะไม่ใช่ยาฮอร์โมน ทั้งนี้ ควรใช้ยา Tranexamic Acid ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
เกี่ยวกับยา Tranexamic Acid
กลุ่มยา | ยาช่วยให้เลือดแข็งตัว |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการตกเลือดและภาวะเลือดออกมาก |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
คำเตือนของการใช้ยา Tranexamic Acid
- ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ กับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ได้
- ผู้ที่กำลังใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
- หากมีโรคประจำตัวหรือเคยเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ โดยเฉพาะเมื่อมีลิ่มเลือดในหลอดเลือด ภาวะประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคไต โรคหัวใจ ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือตรวจตา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
- หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยานี้ก่อนเสมอ และใช้ยาในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
- หญิงที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยาสามารถส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารกได้
- ยา Tranexamic Acid อาจเกิดปฏิกิริยากับยาบางตัวเมื่อรับประทานร่วมกัน เช่น ยาที่มีส่วนผสมของ Tretinoin ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน เป็นต้น
- ผู้ที่ใช้ยากลุ่ม NSAIDs หรือยาที่มีส่วนผสมของยากลุ่มนี้ เช่น ยาแอสไพริน ยานาพรอกเซน ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Tranexamic Acid ทุกครั้ง เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายเมื่อใช้ร่วมกับยานี้
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ระหว่างใช้ยาจึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ทำงานใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
- หลังรับประทานยา Tranexamic Acid แล้วยังพบว่าประจำเดือนมามากนานกว่า 2 รอบเดือน หรืออาการที่รักษาไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาและแจ้งให้แพทย์ทราบ
ปริมาณการใช้ยา Tranexamic Acid
ยาฉีด
ควบคุมภาวะตกเลือดหรือเลือดออกในระยะสั้น
ยาฉีด
- เด็ก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2-3 ครั้ง
- ผู้ใหญ่ 0.5-1 กรัม หรือ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือวันละ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยเจือจางด้วยสารละลายอื่นก่อนให้ยาเข้าทางหลอดเลือดด้วยอัตราคงที่
ยารับประทาน
- เด็ก 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2-3 ครั้ง
- ผู้ใหญ่ 1-1.5 กรัม หรือ 15-25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2-3 ครั้ง
ควบคุมอาการลมพิษแองจิโอดีมาจากกรรมพันธุ์ (Hereditary Angioedema)
ยารับประทาน
- เด็ก 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2-3 ครั้ง
- ผู้ใหญ่ 1-1.5 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง
*ปริมาณยาและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก
การใช้ยา Tranexamic Acid
- หากเป็นยา Tranexamic Acid ชนิดฉีด การใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และต้องฉีดยาภายในสถานพยาบาลเท่านั้น
- สำหรับยา Tranexamic Acid ชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนใช้และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยให้กลืนยาลงไปทั้งเม็ด ไม่ควรหัก แบ่ง หรือเคี้ยวยาก่อนกลืน รับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารวันละ 2-3 ครั้ง ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน
- แพทย์จะพิจารณาปริมาณการใช้ยาตามสุขภาพของผู้ป่วยและการตอบสนองต่อการรักษา
- ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่ให้ทิ้งระยะห่างจากการรับประทานยารอบถัดไปอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- เมื่อพบอาการผิดปกติ มีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้น หรือคาดว่าอาจรับประทานยาเกินขนาด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และพ้นจากมือเด็ก
- ไม่ควรรับประทานยาที่หมดอายุ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tranexamic Acid
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ คัดจมูก ปวดท้อง รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้หลังรับประทานยานี้ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากอาการเหล่านี้ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการแพ้รุนแรง ได้แก่ ลมพิษ ผื่นขึ้น หายใจหรือกลืนอาหารลำบาก แน่นหน้าอก ปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ หรือหน้าบวม ผิวลอกหรืออาจมีไข้ร่วมด้วย
- หายใจไม่อิ่มเป็นช่วงสั้น ๆ
- ไอเป็นเลือด
- ปวดศีรษะรุนแรง
- แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง มีปัญหาในการพูดหรือการคิด ทรงตัวไม่ได้ ตาพร่ามัว หน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- เกิดรอยช้ำ หรือมีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
- แขนขาปวด บวม เป็นเหน็บชา หรือมีสีผิวที่เปลี่ยนแปลงไป
- ชัก