Triamcinolone (ไตรแอมซิโนโลน)
Triamcinolone (ไตรแอมซิโนโลน) เป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ โรคข้ออักเสบ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลูปัส โรคผิวหนัง และโรคเกี่ยวกับการหายใจ หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Triamcinolone มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Triamcinolone
กลุ่มยา | คอร์ติโคสเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการอักเสบ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่และเด็ก |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาทาเฉพาะที่ ยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Triamcinolone
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือเกิดการติดเชื้อราตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด เพราะยานี้อาจทำปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ เช่น ยาแอสไพริน ยาขับปัสสาวะ ยาวาร์ฟาริน ยาไซโคลสปอริน ยาไรแฟมพิน อินซูลิน ยารักษาโรคเบาหวาน ยากันชัก เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ วัณโรค โรคกระดูกพรุน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้อหิน ต้อกระจก ติดเชื้อเริมที่ตา มีแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ ถุงลำไส้อักเสบ ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า มีอาการผิดปกติทางจิต หรือมีประวัติเป็นมาลาเรีย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังป่วยด้วยโรคที่รุนแรง มีภาวะติดเชื้อ หรือเป็นไข้ รวมไปถึงหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือรับการรักษาฉุกเฉิน เพราะอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วย
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นโรคหรือมีภาวะติดเชื้อในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะการใช้ยาสเตียรอยด์อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อหรือทำให้อาการติดเชื้อที่เป็นอยู่แย่ลง
- ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสหรือโรคหัด เพราะเป็นโรคที่อาจมีความรุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้หากเกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังใช้ยาสเตียรอยด์
- ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีนและหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็นในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะยาอาจทำให้วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพน้อยลง
- ห้ามหยุดใช้ยากะทันหัน เพราะอาจก่อให้เกิดอาการถอนยา ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีเลี่ยงอาการถอนยา และควรไปพบแพทย์หากพบอาการถอนยาหลังจากหยุดใช้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมทั้งแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากตั้งครรภ์ในระหว่างที่กำลังใช้ยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากพบว่าเด็กที่ใช้ยานี้มีพัฒนาการการเจริญเติบโตผิดปกติ เพราะยาสเตียรอยด์สามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้
-
หากต้องรับการตรวจวินิจฉัยใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่ากำลังใช้ยานี้ เพราะยาอาจทำให้ผลการทดสอบทางการแพทย์บางอย่างคลาดเคลื่อน
ปริมาณการใช้ยา Triamcinolone
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาโรคภูมิแพ้
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 4-48 มิลลิกรัม/วัน
รักษาและป้องกันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
ผู้ใหญ่ ใช้สเปรย์ปริมาณเริ่มต้น 110 ไมโครกรัม พ่นเข้าในรูจมูกทีละข้าง วันละ 1 ครั้ง และเมื่อควบคุมอาการได้แล้วให้ใช้สเปรย์ปริมาณ 55 ไมโครกรัม พ่นเข้าในรูจมูกทีละข้าง วันละ 1 ครั้ง
เด็ก อายุ 6-12 ปี ใช้สเปรย์ปริมาณ 55 ไมโครกรัม พ่นเข้าในรูจมูกทีละข้าง วันละ 1 ครั้ง กรณีที่มีอาการรุนแรงให้เพิ่มปริมาณเป็น 220 ไมโครกรัม/วัน
ระงับอาการภูมิแพ้และการอักเสบ
ผู้ใหญ่ ยา Triamcinolone Acetonide ฉีดยาปริมาณ 20-80 มิลลิกรัม
ยา Triamcinolone Diacetate ฉีดยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม เข้าทางกล้ามเนื้อก้น
เด็ก ยา Triamcinolone Acetonide ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 0.11-1.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดวันละ 3-4 ครั้ง เข้าทางกล้ามเนื้อก้น และห้ามใช้ยานี้กับทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
รักษาและควบคุมอาการไข้ละอองฟาง
ผู้ใหญ่ ยา Triamcinolone Acetonide ฉีดยาปริมาณ 40-100 มิลลิกรัม
ยา Triamcinolone Diacetate ฉีดยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม/สัปดาห์ เข้าทางกล้ามเนื้อก้น
เด็ก ยา Triamcinolone Acetonide ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 0.11-1.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดวันละ 3-4 ครั้ง เข้าทางกล้ามเนื้อก้น และห้ามใช้ยานี้กับทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
ลดการอักเสบของผิวหนัง
ผู้ใหญ่ ยา Triamcinolone Acetonide ฉีดยาปริมาณ 1-3 มิลลิกรัม/ตำแหน่ง ในกรณีที่ฉีดหลายตำแหน่ง ให้ฉีดยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม
ยา Triamcinolone Diacetate สำหรับแผลขนาดเล็ก ฉีดยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม โดยแบ่งฉีดหลายครั้ง
สำหรับแผลขนาดใหญ่ ฉีดยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 48 มิลลิกรัม โดยแบ่งฉีดหลายครั้ง
ฉีดยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 12.5 มิลลิกรัม/ตำแหน่ง และไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/แผล
รักษาโรคข้ออักเสบ
ผู้ใหญ่ ยา Triamcinolone Acetonide สำหรับข้อต่อขนาดเล็ก ฉีดยาปริมาณ 2.5-5 มิลลิกรัม (ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม) สำหรับข้อต่อขนาดใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 5-15 มิลลิกรัม (ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม) ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 20-80 มิลลิกรัม
ยา Triamcinolone Hexacetonide ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 2-20 มิลลิกรัม/วัน
รักษาแผลในปาก
ผู้ใหญ่ ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดประมาณ 0.6 เซนติเมตร ทาลงบนแผลจนเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ วันละ 2-3 ครั้ง โดยอาจทาหลังมื้ออาหาร หากผ่านไป 7 วัน แล้วแผลไม่ดีขึ้น ควรไปรับการตรวจจากแพทย์อีกครั้ง
ผิวหนังอักเสบ
ผู้ใหญ่ ใช้ยาครีม/โลชัน/ขี้ผึ้ง Triamcinolone Acetonide ความเข้มข้น 0.02 หรือ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ตามแพทย์สั่ง วันละ 2-3 ครั้ง หากยามีความเข้มข้นน้อยอาจใช้วันละ 4 ครั้ง
การใช้ยา Triamcinolone
- ใช้ยาตามฉลากและคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- แพทย์อาจปรับปริมาณการใช้ยาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
- ควรรับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดท้อง
- พกบัตรหรือห้อยป้ายข้อมือที่แสดงว่าตนเป็นผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะช่วยให้แพทย์หรือผู้ให้การช่วยเหลือทราบว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยาสเตียรอยด์อยู่
- หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
-
ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Triamcinolone
การใช้ยา Triamcinolone อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ผิวแห้ง ผิวบางลง เกิดรอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี สิวขึ้น แผลหายช้า เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องอืด ปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างหรือตำแหน่งของไขมันในร่างกาย เป็นต้น และหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา ได้แก่ ลมพิษ มีปัญหาในการหายใจ หน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม
- มีปัญหาในการมองเห็น
- น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
- หายใจไม่อิ่ม
- มีอาการซึมเศร้ารุนแรง มีพฤติกรรมหรือความคิดผิดปกติ
- มีอาการชัก
- ไอเป็นเลือด
- มีแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร อุจจาระเป็นสีดำหรือปนเลือด
- มีภาวะโพแทสเซียมต่ำ มีอาการบ่งชี้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ สับสน กระหายน้ำรุนแรง ปัสสาวะมาก รู้สึกไม่สบายขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- ความดันโลหิตสูง อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นไม่ชัด ได้ยินเสียงดังในหู สับสัน เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ชัก หัวใจเต้นผิดปกติ และวิตกกังวล
- ตับอ่อนอักเสบ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องส่วนบนอย่างรุนแรงและลามไปที่หลัง หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ และอาเจียน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน