ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE)

ความหมาย ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE)

VTE (Venous Thrombosis) คือภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มักเกิดขึ้นบริเวณขา ส่งผลให้รู้สึกปวดร่วมกับมีอาการบวมแดง หากลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่ปอดอาจทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก ไอหรือไอมีเลือดปน เวียนศีรษะ หมดสติ หายใจถี่ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรงถึงชีวิต หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที

VTE

ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) มักเกิดขึ้นบริเวณขา กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism: PE) มักเกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดที่อุดกั้นหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำในปอด ซึ่งค่อนข้างร้ายแรงกว่าภาวะแรก

อาการของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน

อาการของภาวะนี้มักขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบบ DVT บางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น ทว่าบางรายอาจมีอาการปวด บวมแดง และรู้สึกร้อนบริเวณขาหรืออวัยวะที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบบ PE อาจรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม ไอหรือไอมีเลือดปน เวียนศีรษะ หมดสติ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สาเหตุของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันมักเกิดขึ้นบริเวณที่เลือดไหลเวียนผิดปกติ ไม่ว่าจะไหลเวียนได้ช้าหรือเปลี่ยนทิศทางการไหล ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น ระหว่างการเดินทางหรือระหว่างพักฟื้นหลังผ่าตัด
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคอ้วน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และภาวะที่ส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น
  • กระบวนการรักษาทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดเข่าและสะโพก การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น

ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อภาวะ VTE มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และหญิงตั้งครรภ์

การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน

ในขั้นแรกแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น เนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้อาจมีอาการบวมแดงตามผิวหนังให้เห็น หากประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นภาวะ VTE อาจทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณเม็ดเลือด เกล็ดเลือด สารชนิดต่าง ๆ ในเลือด และสารดีดิมเมอร์ (D Dimer) เป็นต้น เนื่องจากเลือดของผู้ป่วยภาวะนี้มักมีปริมาณสารดังกล่าวผิดไปจากค่าปกติ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันแบบ PE และ DVT นั้นแตกต่างกัน โดยการวินิจฉัย DVT สามารถทำได้ดังนี้

  • การอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจำลองภาพอวัยวะภายในเพื่อตรวจหาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะหลอดเลือดดำบริเวณขา
  • การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำบริเวณเท้าหรือข้อเท้า จากนั้นจึงเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณขา

การวินิจฉัยภาวะ PE ใช้วิธีต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์ปอด คือการใช้รังสีช่วยสร้างภาพอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด หรือกระดูกรอบปอด เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้น
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวัดอัตราการทำงานของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ
  • การฉีดสีดูหลอดเลือดปอด โดยการเปิดแผลเล็ก ๆ และใส่เครื่องมือพิเศษเข้าทางหลอดเลือดดำ จากนั้นจึงฉีดสารสีตาม เพื่อช่วยให้เห็นลักษณะหลอดเลือดดำในปอดได้อย่างชัดเจน
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan: CT Scan) วิธีนี้สามารถสร้างภาพตัดขวางของปอด ช่วยให้แพทย์เห็นลักษณะของหลอดเลือดในปอดอย่างละเอียด
  • การสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) วิธีนี้ช่วยสร้างภาพของหลอดเลือดดำและอวัยวะในช่องอกได้ชัดเจน ทำให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

การรักษาภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน

วิธีการรักษา VTE ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันแบบ PE ส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการที่ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์จึงต้องกู้ชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงประเมินความรุนแรงของอาการและสุขภาพของผู้ป่วย โดยการรักษามักเริ่มจากการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีฤทธิ์ช่วยให้เลือดแข็งตัวช้าลง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ยาวาร์ฟาริน และยาเฮพาริน ซึ่งอาจใช้เป็นยารับประทานชนิดเม็ดหรือยาฉีด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือช็อก แพทย์อาจให้สารน้ำร่วมกับพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งจะช่วยสลายลิ่มเลือดที่อวัยวะเป้าหมายโดยตรงได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายไม่เหมาะแก่การใช้ยาอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก

ส่วนผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันแบบ DVT มักมีอาการไม่รุนแรง จึงรักษาแบบประคับประคองตามอาการได้ โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และควรใช้ยาติดต่อกัน 36 เดือน หรืออาจนานกว่านั้นในกรณีที่เคยมีภาวะเลือดจับตัวเป็นลิ่มมาก่อน ทั้งนี้ ยาชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงให้มีเลือดออกได้ง่าย แพทย์อาจต้องตรวจเลือดของผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อประเมินว่าปริมาณยาที่ได้รับนั้นมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย

นอกจากใช้ยา การรักษาภาวะ VTE ยังมีอีกหลายวิธี เช่น การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่เพื่อดักจับลิ่มเลือดที่กำลังเคลื่อนตัวไปยังปอด หรือการใส่ถุงน่องซัพพอร์ทเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหรืออาการบวม แต่ต้องใส่ไว้ตลอดเวลา ถอดออกเฉพาะตอนอาบน้ำและตอนนอนเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน

ลิ่มเลือดที่อุดกั้นหลอดเลือดดำบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายอาจหลุดไปตามกระแสเลือด และไปอุดตันหลอดเลือดดำในปอด ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณปอดและการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดผิดปกติ ส่งผลต่อการหายใจของผู้ป่วยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนั้น ผู้ป่วยลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันแบบ DVT อาจเสี่ยงต่อภาวะหลังหลอดเลือดตีบ ซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดเข้าทำลายลิ้นหลอดเลือดดำจนทำให้อัตราการไหลเวียนเลือดลดลง

การป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน

การไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะ VTE ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลจึงควรลุกเดินและเคลื่อนไหวร่างกายทันทีที่ทำได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต่อเสี่ยงต่อภาวะ VTE หรือมีประวัติเป็นภาวะนี้มาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด สวมถุงน่องซัพพอร์ท หรือใช้เครื่องมือบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนเป็นปกติ นอกจากกลุ่มเสี่ยงแล้ว คนทั่วไปก็สามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดเช่นกัน ทำได้โดยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เลิกสูบบุหรี่ และออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เมื่อต้องนั่งเครื่องบินหรือโดยสารรถเป็นเวลานาน

  • ลุกขึ้นเดินทุก 12 ชั่วโมง พยายามไม่นั่งไขว้ขา และหมั่นเหยียดขาเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น
  • ดื่มน้ำให้มาก และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนออกเดินทาง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ทำให้ง่วงนอนเพื่อป้องกันการอยู่ในท่าเดิมนานเกินไป
  • การรับประทานยาแอสไพรินอาจช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง