Whiplash หรือ Whiplash Injury คืออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอจากการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน โดยเป็นการหมุนหรือสะบัดศีรษะอย่างแรงไปด้านหน้าและหลังอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เกิดได้บ่อยจากการได้รับอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนท้าย การถูกทำร้ายร่างกายหรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณต้นคอ การได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก
Whiplash เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อและเอ็นที่ต้นคอเคลื่อนไปเกินกว่าช่วงเคลื่อนไหวปกติแบบฉับพลัน โดยอาการอาจคล้ายกับภาวะกล้ามเนื้อคออักเสบหรือฉีกขาด แต่ Whiplash จะรวมถึงการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอประเภทอื่นด้วย โดยทั่วไปอาการเจ็บปวดมักไม่รุนแรงและอาจดีขึ้นหลังรับการรักษาในช่วง 2-3 สัปดาห์ แต่ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
อาการ Whiplash
อาการบาดเจ็บแบบ Whiplash มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับอุบัติเหตุหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่บางครั้งก็อาจพบอาการผิดปกติหลังจากนั้น 2-3 วัน โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้
- ปวดหรือตึงบริเวณคอ
- ขยับคอได้ลำบาก และรู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อขยับคอ
- ปวดศีรษะ โดยมักเริ่มที่บริเวณฐานของกะโหลก
- เวียนศีรษะหรือบ้านหมุน
- มองเห็นไม่ชัดเจน
- รู้สึกเหนื่อยและอ่อนแรง
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ได้ยินเสียงในหู รู้สึกหงุดหงิดง่าย มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณคอ ไหล่หรือศีรษะ
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรู้สึกปวดคอหรือมีอาการผิดปกติคล้ายอาการในข้างต้นหลังจากเล่นกีฬา ได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือจากสาเหตุอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง แต่หากอาการปวดลามไปยังบริเวณหัวไหล่หรือแขน รู้สึกเจ็บเมื่อขยับศีรษะ รู้สึกชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุของ Whiplash
Whiplash เกิดขึ้นเมื่อศีรษะเกิดการบิดหรือสะบัดอย่างแรงไปในทิศทางหลังและหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการบาดเจ็บขณะคอแหงนเต็มที่ ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ บริเวณคอ โดยส่วนมากมักเป็นผลมาจากการได้รับบาดเจ็บด้วยสาเหตุต่อไปนี้
- อุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยเฉพาะการถูกชนท้ายรถ
- การถูกทำร้ายร่างกายอย่างการถูกชกต่อย หรือการเขย่าแรง ๆ ที่มักพบในเด็กเล็ก (Shaken Baby Syndrome)
- การเล่นกีฬาที่ใช้แรงปะทะ เช่น การใช้ศีรษะโหม่งลูกฟุตบอล การต่อยมวย การเล่นคาราเต้หรือกีฬาชนิดอื่น
- การได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุอื่น เช่น ขี่ม้า ขี่จักรยาน ตกจากที่สูงจนทำให้ศีรษะกระแทกและเหวี่ยงไปด้านหลัง หรือถูกกระแทกจากวัตถุที่มีน้ำหนักมาก เป็นต้น
การวินิจฉัย Whiplash
แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ลักษณะการปวด ตำแหน่งที่รู้สึกปวด รวมถึงกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำหรือประวัติการบาดเจ็บก่อนมาพบแพทย์ จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อดูการเคลื่อนไหวของศีรษะ คอ ไหล่ และหลัง ตลอดจนอาการกดเจ็บ ความแข็งแรง ความรู้สึกและปฏิกิริยาตอบสนองบริเวณแขนและขาของผู้ป่วย
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมโดยใช้ภาพรังสี (Imaging Test) เพื่อหาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการ Whiplash ดังนี้
- การเอกซเรย์บริเวณคอ เพื่อวินิจฉัยอาการที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บด้วยภาพเอกซเรย์จากหลากหลายมุม เช่น กระดูกเคลื่อนหรือกระดูกหัก โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อต่อ อย่างโรคข้ออักเสบ เป็นต้น
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT Scan เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพของกระดูกและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายในกระดูก
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นวิทยุและคลื่นสนามแม่เหล็กเพื่อให้ได้ภาพ 3 มิติที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของการบาดเจ็บบริเวณกระดูกหรือเนื้อเยื่อ เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณไขสันหลัง หมอนรองกระดูก เอ็นหรือเส้นประสาท
ในบางกรณีแพทย์อาจใช้เพ็ท สแกน (PET Scan) หรือการถ่ายภาพรังสีด้วยเทคนิคที่เรียกว่า DTI (Duffusion Tensor Imaging) ในการวินิจฉัยร่วมด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนบริเวณสมอง เพราะการตรวจเหล่านี้จะช่วยประเมินขอบเขตของการได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือบริเวณอื่น ๆ
การรักษา Whiplash
การรักษา Whiplash จะแตกต่างกันไปตามอาการและตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ แพทย์อาจใช้หลายวิธีในการรักษา โดยเป้าหมายของการรักษาจะเน้นไปที่การบรรเทาและควบคุมอาการเจ็บปวด ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวคอในระยะปกติ และสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ หากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถรับประทานยาที่หาซื้อได้ทั่วไปร่วมกับการดูแลตนเองที่บ้าน แต่บางรายอาจต้องได้รับยาตามที่แพทย์สั่ง พร้อมกับการรักษาและการบำบัดเป็นพิเศษ
การใช้ยา
ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาพาราเซตามอลหรือยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาแอสไพริน แต่หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาอื่น เช่น
- ยาแก้ปวด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาโรครักษาซึมเศร้า เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท
- ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อและบรรเทาปวดในระยะสั้น แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วง หรือช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการนอนหลับสามารถพักผ่อนได้ดียิ่งขึ้น
- การฉีดยาชาบริเวณกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด อย่างยาลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อลดอาการเจ็บปวดและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดได้
การทำกายภาพบำบัด
หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องหรือต้องการผู้ช่วยในการบำบัดการเคลื่อนไหว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบนักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้อาการปวดดีขึ้นและป้องกันการได้รับบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยระยะเวลาในการเข้ารับกายภาพบำบัดอาจแตกต่างกันไปตามอาการของผู้ป่วย
การทำกายภาพบำบัดอาจใช้วิธีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ปรับอิริยาบถและการเคลื่อนไหวให้กลับมาเป็นปกติ หรืออาจใช้วิธีกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า (TENS) เพื่อบรรเทาอาการปวดคอและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดอาจช่วยวางแผนตารางการออกกำลังกายที่บ้านด้วยตนเองให้แก่ผู้ป่วยเพิ่มเติม
การออกกำลังกาย
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อคอที่บ้านด้วยการออกกำลังกายในท่าทางต่าง ๆ เช่น หมุนหรือเอียงคอไปมา ก้มหรือเงยคอสลับไปมาช้า ๆ หรือหมุนหัวไหล่ เพื่อเป็นการยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวบริเวณต้นคอได้ดีขึ้น และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยก่อนการออกกำลังกายควรอาบน้ำอุ่นหรือประคบร้อนในบริเวณที่ปวด
นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาอาการ Whiplash ด้วยการใส่เฝือกอ่อนพยุงคอ หรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม การทำไคโรแพรคติก การนวด และการบำบัดด้วยโยคะ หรือการทำสมาธิบำบัด เป็นต้น ในกรณีที่ผู้ป่วย Whiplash มีกระดูกต้นคอหัก เคลื่อน ร่วมกับมีอาการของเส้นประสาท ไขสันหลังที่บริเวณต้นคอถูกกดทับ แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเร่งด่วน
ภาวะแทรกซ้อนของ Whiplash
แม้ว่าอาการผิดปกติจาก Whiplash มักดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังการได้รับบาดเจ็บ แต่บางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรังต่อเนื่องนาน 2-3 เดือน หรืออาการคงอยู่เป็นปีหลังจากได้รับบาดเจ็บ โดยอาจมีอาการปวดต้นคออย่างรุนแรง การเคลื่อนไหวคอหรือบริเวณใกล้เคียงทำได้ลำบาก มีอาการปวดลามไปยังแขนหรือมีอาการปวดหัว
ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับแรงกระทบกระเทือนหรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง โดยจะมีโอกาสเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมาก มีอาการปวดคอหรือหลังส่วนล่างอยู่ มีประวัติได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง หรือเคยมีอาการ Whiplash มาก่อน
การป้องกัน Whiplash
อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นคออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมักเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยระมัดระวังในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่อาจเกิดแรงกระแทกบริเวณคอและไหล่ รวมทั้งไม่ควรหักโหมหรือใช้แรงมากเกินไป เช่น การใช้ศีรษะโหม่งลูกฟุตบอล การชกมวย หรือเล่นคาราเต้ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรระมัดระวังอุบัติเหตุหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจทำให้บริเวณคอได้รับบาดเจ็บได้