Xanthelasma (ไขมันที่เปลือกตา) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณเปลือกตา ทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่มสีเหลืองบริเวณเปลือกตาด้านบนหรือรอบดวงตาที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยก้อนดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้
Xanthelasma มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อีกทั้งอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคไขมันในเลือดสูงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หากพบว่าตนเองมีอาการในลักษณะดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจระดับไขมัน
อาการของ Xanthelasma
ผู้ป่วยจะมีก้อนสีเหลืองนิ่มกึ่งแข็งหรือคล้ายคราบหินปูนในผิวหนังชั้นนอก ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อาจเกิดขึ้นเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยมักพบในบริเวณเปลือกตาช่วงหัวตาหรือใกล้กับจมูก แต่สามารถพบในบริเวณใต้ตาได้เช่นกัน แต่ก้อนดังกล่าวจะไม่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด
สาเหตุของ Xanthelasma
Xanthelasma สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ ปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไขมันที่เปลือกตาได้สูงขึ้น
- มีระดับไขมันไม่ดีสูงหรือมีระดับไขมันดีต่ำ มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
- ป่วยเป็นโรคตับแข็งที่ไม่ทราบสาเหตุ (Primary Biliary Cirrhosis: PBC) โรคเบาหวาน ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะความดันโลหิตสูง
- เป็นเพศหญิง โดยเฉพาะมีอายุระหว่าง 30-50 ปี
- มีเชื้อสายเอเชียหรือเมดิเตอร์เรเนียน
- สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป
- มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
การวินิจฉัย Xanthelasma
แพทย์จะตรวจผิวหนังบริเวณรอบดวงตาและอาการที่ปรากฏอื่น ๆ หากสงสัยว่าระดับไขมันของผู้ป่วยเป็นเหตุให้เกิด Xanthelasma แพทย์อาจตรวจระดับไขมันในเลือดเพิ่มเติม โดยจะเจาะเอาตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
การรักษา Xanthelasma
โดยทั่วไป Xanthelasma ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจไม่หายไปหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น หากผู้ป่วยมีความกังวลสามารถรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- การจี้เย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ความเย็นจัดจากไนโตรเจนเหลวหรือสารอื่น ๆ ในการกำจัดเนื้อเยื่อของไขมันที่เปลือกตาออกไป
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เป็นการยิงเลเซอร์เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อในชั้นผิวบางบริเวณที่มีไขมันออกไป โดยชนิดของเลเซอร์ที่แพทย์มักใช้คือ Fractional Co2 Laser
- การจี้ไฟฟ้า (Electrodesiccation) เป็นการกำจัดไขมันออกด้วยการใช้เข็มจี้
- การผ่าตัดทั่วไปเพื่อกำจัดไขมันที่เกิดขึ้นในบริเวณรอบดวงตาอย่างละเอียด
- การผลัดเซลล์ผิวหนัง (Chemical Peels) ด้วยกรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid: TCA)
- การใช้ยา แพทย์อาจนำยาที่ใช้ในการรักษาผู้ที่มีระดับคอลเลสเตอรอลสูง อย่างยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) มาใช้รักษาไขมันที่เปลือกตาได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเกิด Xanthelasma ซ้ำได้อีกแม้ว่าจะรักษาหรือกำจัดก้อนไขมันออกไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม นอกจากนี้ การรักษาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลเป็น ผิวเปลี่ยนสี หรือมีอาการเปลือกตาปลิ้นได้ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Xanthelasma
เนื่องจากเป็นอาการที่สามารถเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน จึงอาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง นอกจากนี้ Xanthelasma เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับระดับไขมันในเลือด ทำให้อาจะเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวอยู่แล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนทั่วไป
การป้องกัน Xanthelasma
การลดระดับคอลเลสเตอรอลในร่างกายอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Xanthelasma ได้บางส่วน โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น อาหารทอด เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมันหรือเนื้อสัตว์แปรรูป เนย นม ไอศกรีม ชีส เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที หลายวันต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์
หากสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่าย Xanthelasma ควรเข้ารับการตรวจระดับไขมันในเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและเข้าพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ