ความหมาย ไข้เหลือง (Yellow Fever)
Yellow Fever (ไข้เหลือง) เป็นการติดเชื้อไวรัสรุนแรงที่มียุงเป็นพาหะนำโรค อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน มีไข้สูง และปวดศีรษะ เป็นต้น โดยโรคไข้เหลืองจะพบมากในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และทะเลแคริบเบียน แม้จะไม่พบโรคนี้ในทวีปเอเชีย แต่ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังทวีปดังกล่าวก็ควรระมัดระวังและป้องกันการติดโรคด้วยการฉีดวัคซีน
อาการของไข้เหลือง
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ ที่ชัดเจน แต่อาจมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงและอาจเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3-6 วัน ซึ่งเป็นช่วงระยะฟักตัว
โดยอาการเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- มีไข้ที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ปวดหลัง ปวดตามร่างกาย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ตาแพ้แสง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักใช้เวลาประมาณ 3 หรือ 4 วัน จึงจะหายเป็นปกติ โดยผู้ป่วยประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการที่รุนแรงดังต่อไปนี้ และอาจป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้
- มีไข้สูง
- ตัวเหลืองตาเหลือง หรือดีซ่าน
- มีเลือดออกที่ปาก จมูก และตา
- ปัสสาวะน้อยลง
- อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- มีอาการเพ้อ
- ชัก
- ช็อก
ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีอาการของไข้เหลืองเกิดขึ้นระหว่างที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
สาเหตุของไข้เหลือง
Yellow Fever หรือไข้เหลือง เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยถูกยุงพาหะนำโรคกัดที่มีเชื้อไวรัสในตระกูลฟลาวิไวรัสกัด (Flavivirus) พบได้มากในตัวเมืองและแถบชนบทของทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมักไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน หากเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นโรคไข้เหลืองได้ โดยโรคไข้เหลืองสามารถติดต่อกันแบบคนสู่คนได้หากยุงไปกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วกัดคนอื่น ๆ ต่อ แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส
การวินิจฉัยไข้เหลือง
เนื่องจากโรคไข้เหลืองจะพบมากเฉพาะในบางทวีปเท่านั้น ดังนั้น แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการสอบถามเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง และเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคไข้เหลือง แพทย์จะทดสอบเพิ่มเติิมด้วยการตรวจเลือด เพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะนำตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค หรือตรวจหาภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส
การรักษาไข้เหลือง
เนื่องจากยังไม่มียาสำหรับต้านไวรัสโรคไข้เหลือง ดังนั้น การรักษาจึงเป็นการควบคุมอาการในระหว่างที่ร่างกายกำลังขจัดเชื้อไวรัส ได้แก่
- ใช้ยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ
- ด่ื่มน้ำปริมาณมากเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
- ให้ออกซิเจนในผู้ป่วยบางราย
- รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับการถ่ายเลือด
- ฟอกไต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไตวาย
- รักษาการติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไข้เหลืองพักรักษาตัวในที่พักอาศัย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด และเป็นการป้องกันโรคติดต่อไปสู่ผู้อื่น
- หากมีอาการรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาดูแลอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของไข้เหลือง
ภาวะแทรกซ้อนของ Yellow Fever มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดง แต่สามารถฟื้นตัวและหายเป็นปกติได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงและอ่อนเพลียอยู่หลายเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ นอกจากนั้น ผู้ป่วยประมาณ 20-50 เปอร์เซ็นต์ก็อาจมีอาการรุนแรงมาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยบางรายอาจพบว่าการทำงานของไตและตับล้มเหลว มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง มีการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างปอดบวมหรือติดเชื้อในกระแสเลือด เพ้อ อยู่ในภาวะโคม่า เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานร่างกายบกพร่องจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่หายจากโรคไข้เหลืองและร่างกายฟื้นตัวเป็นปกติ มักมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อในภายหลัง ซึ่งจะลดความเสี่ยงของการป่วยซ้ำด้วยโรคนี้อีกครั้ง
การป้องกันไข้เหลือง
การป้องกัน Yellow Fever สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือประเทศที่ต้องการใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองแล้ว โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองจะแนะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนถึง 59 ปี ที่ต้องเดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสไข้เหลือง ซึ่งควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 10 วันก่อนการเดินทาง เพื่อให้สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และผู้ที่รับวัคซีนจะได้ใบรับรองเมื่อฉีดตามเวลาดังกล่าวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น แพ้ไข่ แพ้โปรตีนจากไก่ หรือแพ้เจลาตินอย่างรุนแรง ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นโรคเอดส์ หรือป่วยด้วยภาวะที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ไม่ควรรับวัคซีนนี้ ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ต้องปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนรับวัคซีนป้องกัน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปฉีดซ้ำหรือขอใบรับรองใหม่ เพราะเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ไปตลอดชีวิต