กระดูกทับเส้น (Herniated Disc)

ความหมาย กระดูกทับเส้น (Herniated Disc)

กระดูกทับเส้น (Herniated Disc) หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังเสื่อมหรือได้รับความเสียหาย และส่งผลให้กระดูกกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจรู้สึกชา อ่อนแรง หรือเจ็บปวดบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ กระดูกทับเส้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามแนวกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะบริเวณคอและหลังส่วนล่าง

หมอนรองกระดูก เป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ด้านในนุ่มเหนียวและด้านนอกแข็ง หมอนรองกระดูกทำหน้าที่เชื่อมต่อแนวกระดูกสันหลังบริเวณคอ อก และเอวเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังช่วยให้หลังมีความยืดหยุ่นขณะเคลื่อนไหวและปกป้องกระดูกจากกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทก เช่น การเดิน การยกของ และการบิดตัว

Herniated Disc

อาการกระดูกทับเส้น

อาการกระดูกทับเส้นเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณตามแนวกระดูกสันหลังซึ่งเริ่มตั้งแต่คอไปจนถึงหลังส่วนล่าง โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณที่กระดูกทับเส้น กระดูกทับเส้นมักมีอาการ ดังนี้

  • เจ็บปวดบริเวณที่ถูกกดทับ เช่น หากหมอนรองกระดูกทับเส้นที่คอ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากบริเวณไหล่และแขน หากกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง นอกจากจะปวดหลังส่วนล่างแล้ว อาจรู้สึกปวดร้าวบริเวณก้น ต้นขา น่อง และเท้าได้อีกด้วย 
  • รู้สึกชาหรือเสียวคล้ายโดนไฟช็อตบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ
  • อาจเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณที่เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจส่งผลให้สะดุดล้มบ่อย หยิบหรือถือของไม่ถนัด หากมีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถยกหรือถือของได้

สาเหตุของกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นเมื่อส่วนนอกของหมอนรองกระดูกแตก ทำให้กระดูกอ่อนที่อยู่ข้างในโผล่ออกมา และกดทับเส้นประสาท โดยหมอนรองกระดูกแตกอาจเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเสื่อมเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยหมอนรองกระดูกมักสูญเสียมวลน้ำ ทำให้ขาดความยืดหยุ่นและแตกหักได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดกระดูกทับเส้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน นอกจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมแล้ว อาจมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่นำไปสู่กระดูกทับเส้น ดังนี้

  • น้ำหนักตัวมากเกินไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาจทำให้กระดูกสันหลังบริเวณหลังส่วนล่างต้องแบกรับน้ำหนักอยู่ตลอดเวลาและนำไปสู่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
  • ยกของหนักเป็นประจำหรือผิดวิธี การใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาหรือต้นขาในการยกของ หรือการยกสิ่งของขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมากเป็นประจำ อาจทำให้กระดูกบิดและเคลื่อนทับเส้นได้
  • การนั่งนาน ๆ ขณะขับรถและแรงสั่นจากเครื่องยนต์ อาจก่อให้เกิดการกดทับบริเวณกระดูกสันหลังและเส้นประสาทได้
  • การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระดูกทับเส้น เนื่องจากส่งผลให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งอาจทำให้แตกหักได้ง่าย
  • การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง หรือได้รับการกระทบกระเทือนจากการถูกทำร้ายร่างกายบริเวณหลัง อาจส่งผลให้เกิดกระดูกทับเส้นได้ แต่พบไม่บ่อยนัก
  • พันธุกรรม กระดูกทับเส้นหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

การวินิจฉัยกระดูกทับเส้น

การวินิจฉัยกระดูกทับเส้นสามารถทำได้ดังนี้

การตรวจร่างกาย

แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยกระดูกทับเส้นจากการตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการและดูท่าทาง กำลังและการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ประสิทธิภาพการเดิน และประสาทสัมผัสของแขนและขา

การตรวจเส้นประสาท 

แพทย์จะตรวจการทำงานของเส้นประสาทเพื่อดูว่าเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับหรือไม่ โดยจะให้ผู้ป่วยก้มหัวไปข้างหน้าและเอียงข้าง จากนั้นแพทย์จะกดศีรษะของผู้ป่วย หากผู้ป่วยรู้สึกปวดหรือชามากขึ้น มีแนวโน้มว่ากระดูกกำลังกดทับเส้นประสาทที่คอ 

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาและให้ผู้ป่วยลองขยับขาตามขั้นตอนการตรวจ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวด โดยการตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยยืดเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง หากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด ชา หรือเสียวคล้ายโดนไฟช็อตเมื่อถูกยกขา

การวินิจฉัยโดยภาพ (Imaging tests)

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์มักวินิจฉัยอาการกระดูกทับเส้นโดยการซักประวัติและอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจดูกำลังกล้ามเนื้อและเส้นประสาทเบื้องต้น นอกจากนี้ หากสงสัยว่ามีอาการอื่นหรือต้องการตรวจดูเส้นประสาทที่อาจได้รับผลกระทบ แพทย์อาจใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อประกอบการรักษา ได้แก่

  • การเอกซเรย์ (X-Ray) อาจช่วยให้แพทย์ดูการเรียงตัวของกระดูกสันหลังและระบุสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือปวด เช่น การติดเชื้อ เนื้องอก กระดูกหัก 
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) อาจช่วยระบุบริเวณที่เกิดกระดูกทับเส้นได้ชัดเจนขึ้น แพทย์จะสแกนโครงสร้างภายในร่างกายผู้ป่วยโดยใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อประมวลภาพออกมา 
  • การทำซีทีสแกน (CT Scan)แพทย์จะทำพื่อตรวจดูโครงสร้างของแนวกระดูกสันหลังและโครงสร้างกระดูกอื่น ๆ
  • การฉีดสีเพื่อตรวจระบบไขสันหลัง (Myelogram) แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในน้ำไขสันหลัง เพื่อให้ได้ภาพสแกนของอวัยวะภายใน โดยวิธีนี้จะแสดงให้เห็นว่าไขสันหลังหรือเส้นประสาทอื่น ๆ ของผู้ป่วยถูกกดทับอันเนื่องมาจากกระดูกทับเส้นหรือสาเหตุอื่น  

การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram: EMG)

การวินิจฉัยกระดูกทับเส้นด้วยวิธีนี้ แพทย์จะวางขั้วไฟฟ้าไว้บนผิวของผู้ป่วยและปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นเส้นประสาท แพทย์จะประเมินการทำงานของสัญญาณประสาทเพื่อระบุตำแหน่งของเส้นประสาทที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระดูกกดทับ

การรักษากระดูกทับเส้น

อาการกระดูกทับเส้นมักดีขึ้นหากผู้ป่วยได้พักผ่อน ออกกำลังกาย และกินยาบรรเทาอาการของโรค โดยกระดูกทับเส้นอาจใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 1–3 เดือน อย่างไรก็ตาม วิธีรักษากระดูกทับเส้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ดังนี้

การรักษาด้วยยา 

การรักษากระดูกทับเส้นอาจใช้ยาต่าง ๆ ดังนี้

  • ยาแก้ปวด หากกระดูกทับเส้นมีอาการปวดหลังเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง สามารถซื้อยาแก้ปวดที่หาซื้อกินได้เอง เช่น ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซน
  • ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotics) หากกินยาแก้ปวดทั่วไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดชนิดเสพติดให้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่น โคเดอีน หรือยาพาราเซตามอลที่ผสมสารออกซิโคโดน แต่อาจได้รับผลข้างเคียงของยาบางอย่าง เช่น ง่วง คลื่นไส้ สับสนมึนงง และท้องผูก 
  • ยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาท หากผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น เช่น ยาบางตัวในกลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้าและยากันชัก โดยยาจะช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทให้ดีขึ้น 
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์จะสั่งจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยกินยานี้ประมาณ 2-3 วันเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
  • สเตียรอยด์ หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากกินยาแก้ปวด แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์บริเวณหลังส่วนล่างหรือบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดเส้นประสาท

 กายภาพบำบัด 

หากอาการกระดูกทับเส้นไม่ดีขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด โดยการทำกายภาพบำบัดอาจช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้นและลดอาการปวดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ใช้วิธีบำบัดต่าง ๆ เช่น การนวด การบำบัดด้วยความร้อนหรือความเย็น การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า และการรักษาโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายแบบแอโรบิก นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้มากขึ้นและบรรเทาอาการปวดบริเวณที่ถูกกดทับได้แล้ว ยังช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้นอีกด้วย

การผ่าตัดหมอนรองกระดูก 

แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดหมอนรองกระดูก (Discectomy) หากการรักษากระดูกทับเส้นด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินหรือยืนลำบาก หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก

 โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหลังจากพักฟื้นประมาณ 2–8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดและประเภทของงานที่ทำ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ เส้นประสาทได้รับความเสียหาย เลือดออกมาก และอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 

ผู้ป่วยควรปรึกษาศัลยแพทย์เกี่ยวกับขั้นตอนการผ่าตัด อัตราความสำเร็จ และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวก่อนรับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและระบุระยะเวลาพักฟื้นที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย

การรักษาด้วยวิธีอื่น 

นอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้ว อาการกระดูกทับเส้นสามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่น ดังนี้

  • การจัดกระดูกหรือไคโรแพรคติก (Chiropractic) เป็นศาสตร์การจัดกระดูกสันหลังที่อาจช่วยรักษาอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่าง
  • การฝังเข็ม เป็นวิธีการใช้เข็มขนาดเล็กฝังบนร่างกาย เพื่อให้การทำงานของร่างกายกลับมาสมดุล และอาจช่วยลดอาการปวดหลังหรือปวดคอเรื้อรังได้ การนวด ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังอาจทุเลาลงเมื่อได้รับการนวด แต่วิธีนี้จะช่วยบำบัดอาการดังกล่าวได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
  • โยคะเป็นวิธีบำบัดที่รวมกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย การกำหนดลมหายใจ และการทำสมาธิเข้าไว้ด้วยกัน ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มักปวดหลังน้อยลง

ภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกทับเส้น

ผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกทับเส้นรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายถาวรได้ ในบางราย หมอนรองกระดูกอาจกดทับเส้นประสาทของรากประสาทหางม้า (Cauda Equina) ซึ่งเป็นไขสันหลังที่แตกออกเป็นหลายเส้นคล้ายหางม้าบริเวณเอวลงไป หากรากประสาทหางม้าถูกกระดูกกดทับ อาจเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตถาวร 

โดยผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

  • อาการแย่ลง หากกระดูกทับเส้นและรู้สึกเจ็บ ปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
  • ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยที่รากประสาทหางม้าถูกกดทับจะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะลำบากทั้งที่รู้สึกปวดปัสสาวะมาก
  • รู้สึกชาบริเวณรอบทวารหนัก รากประสาทหางม้าที่ถูกกดทับจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ทางสัมผัส โดยภาวะนี้จะส่งผลต่ออวัยวะที่สัมผัสกับทวารหนัก ได้แก่ ต้นขาด้านใน ด้านหลังของขา และบริเวณรอบ ๆ ลำไส้ตรง

การป้องกันกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นอาจป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ปวดหลังและหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เช่น

  • จัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสมเพื่อลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เช่น เมื่อต้องนั่งนาน ๆ ควรยืดหลังให้ตรงและอยู่ในแนวขนาน หากต้องยกของหนัก ควรค่อย ๆ ย่อตัวลง โดยให้น้ำหนักลงที่ขาไม่ใช่ที่หลัง
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อลดแรงกดทับของกระดูก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อชะลอการเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณหลัง อีกทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น 
  • งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการกระดูกทับเส้นสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการให้ทุเลาและไม่แย่ลงเกินไปนัก โดยแนวทางการดูแล สามารถทำได้ดังนี้

  • กินยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซน เพื่อบรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากกระดูกทับเส้นให้ทุเลาลงได้
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ โดยประคบเย็นก่อน หลังจากนั้นประมาณ 2–3 วัน จึงเปลี่ยนไปประคบร้อนเพื่อให้อาการทุเลาลงและรู้สึกสบายตัวมากขึ้น
  • เลี่ยงการนอนอยู่บนเตียงนานเกินไป เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการข้อติดแข็งและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยควรเปลี่ยนอิริยาบถและพักในท่าสบาย ๆ ประมาณ 30 นาที หรือออกไปเดินเล่นและทำกิจกรรมตามสมควร 
  • เลือกที่นอนซึ่งช่วยรองรับแนวกระดูกสันหลังของตัวเองเพื่อเลี่ยงอาการปวดหลัง และใช้หมอนหนุนคอเพื่อลดความเสี่ยงของอาการปวดต้นคอ
  • ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักหรือรับแรงกระแทกมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่กำลังพักฟื้นร่างกาย