กระดูกสะโพกหัก คือการหักของกระดูกต้นขา ถือเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่กระดูกเปราะบางและเกิดการแตกหักได้ง่าย ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
กระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่เป็นการแตกหักบริเวณคอกระดูกต้นขาต่อกับกระดูกเชิงกรานหรือบริเวณคอคอดของกระดูกต้นขา โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนมากมักเป็นผลมาจากการกระแทกจากการหกล้มและกระดูกอ่อนแอลงจากปัญหาสุขภาพบางประการ
อาการของกระดูกสะโพกหัก
ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้
- ปวดบริเวณสะโพกหรือขาหนีบอย่างรุนแรง
- ไม่สามารถยกหรือขยับขาได้ทันทีหลังจากหกล้ม
- ไม่สามารถยืนหรือลงน้ำหนักด้วยเท้าข้างเดียวกับกระดูกสะโพกที่หัก
- บริเวณสะโพกแข็งเกร็ง บวม หรือมีรอยฟกช้ำ
- ขาข้างที่กระดูกสะโพกหักจะดูสั้นผิดปกติหรืออาจมีลักษณะบิดออกไปด้านนอก
อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีเพียงอาการเจ็บปวดบริเวณสะโพก ก้น ขาอ่อน ขาหนีบ หรือหลังเท่านั้น แต่ยังสามารถเดินได้เป็นปกติ หากสงสัยว่ากระดูกสะโพกหักควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที
สาเหตุของกระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพกหักในคนทั่วไปมักเกิดจากอุบัติเหตุอย่างการถูกรถชน ส่วนคนสูงอายุมักกระดูกสะโพกหักจากการหกล้ม โดยมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกสะโพกหักมากขึ้นดังนี้
- อายุมาก
ด้วยกระดูกที่เสื่อมสภาพลงและมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลงไปตามอายุ ผู้สูงอายุจึงมักเกิดปัญหากระดูกหักได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาในการมองเห็นหรือการทรงตัวที่มักเสี่ยงต่อการหกล้ม
- เพศหญิง
เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้น กระดูกจะพรุนและเปราะบางเร็ว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับเพศชายที่จะค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูกอย่างช้า ๆ
- ปัญหาสุขภาพ
หากกระดูกสะโพกข้างใดข้างหนึ่งเคยหักมาก่อนก็มีโอกาสสูงที่กระดูกสะโพกอีกข้างจะหักตาม รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจทำให้กระดูกสะโพกเสี่ยงต่อการหักได้ง่ายขึ้น เช่น โรคระบบต่อมไร้ท่ออย่างไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลให้กระดูกบาง โรคเกี่ยวกับลำไส้อาจลดการดูดซึมของวิตามินดีและแคลเซียมจนกระดูกอ่อนแอ ปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทอาจทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย อย่างความทรงจำบกพร่อง สมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมองและปลายประสาทอักเสบ เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซนอาจทำให้กระดูกอ่อนแอได้หากใช้ติดต่อกันในระยะยาว รวมถึงยาที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางบางชนิดอาจทำให้เวียนศีรษะและเสี่ยงต่อการหกล้มได้มากขึ้น เช่น ยานอนหลับ ยาต้านอาการทางจิต ยากล่อมประสาท เป็นต้น
- ร่างกายขาดสารอาหาร
อาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันมีสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินดี หรือแคลเซียม หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ตั้งแต่อายุน้อยก็อาจทำให้มวลกระดูกลดต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น จึงเสี่ยงต่อการแตกหักเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ โรคการกินผิดปกติอย่างโรคอะนอเร็กเซียหรือโรคบูลิเมียอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการสร้างกระดูกลดลง กระดูกจึงอาจอ่อนแอและแตกหักได้ง่ายเช่นกัน
- วิถีชีวิต
การขาดการออกกำลังกายที่เพิ่มมวลกระดูกอาจเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักมากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือการเดิน ยิ่งไปกว่านั้น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้งอาจส่งผลต่อกระบวนการสร้างและซ่อมแซมกระดูก ทำให้สูญเสียมวลกระดูกได้
การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหัก
ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูสัญญาณของกระดูกสะโพกหักอย่างอาการบวม รอยช้ำ หรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์เพื่อดูรอยร้าว สภาพโดยรวมและความผิดปกติของกระดูกบริเวณสะโพก ในกรณีที่การเอกซเรย์เห็นไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การทำซีที สแกน (CT Scan) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan) ซึ่งจะช่วยถ่ายภาพของกระดูกได้ละเอียดกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป
การรักษากระดูกสะโพกหัก
เมื่อผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักแพทย์จะพิจารณาและวางแผนการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการรักษาสะโพกหัก แบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดที่กระดูกสะโพกหักและความรุนแรงของอาการ ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาร่วมกับอายุ สภาพร่างกายและจิตใจ และปัญหาสุขภาพส่วนตัวของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดด้วย นอกจากนี้ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับฉีดยาชาบริเวณสะโพกกระดูกเพื่อลดอาการเจ็บปวด
สำหรับการผ่าตัดที่นำใช้รักษาอาการสะโพกหัก เช่น
- การผ่าตัดด้วยการใส่โลหะ อย่างสกรู แผ่นเหล็ก หรือหมุด เพื่อยึดตรึงกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแทนที่หัวกระดูกต้นขา หรือแทนที่ทั้งหัวกระดูกต้นขาและเบ้าสะโพก ทั้งนี้ ขึ้นกับลักษณะของกระดูกที่หัก และการพิจารณาของแพทย์
การฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องฟื้นฟูร่างกายด้วยการทำกายภาพบำบัด โดยในขั้นตอนแรกจะมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวและเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งจะมีวิธีต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัด ผู้ป่วยและคนในครอบครัวหรือผู้ดูแลอาจต้องปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อนำไปปฏิบัติตามหากต้องกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ในระหว่างนี้จะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินเพื่อพยุงร่างกายด้วย
การใช้ยา
แพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น และในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอาจต้องใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ เพื่อให้กระดูกแข็งแรงขึ้น และลดความเสี่ยงที่กระดูกสะโพกอีกข้างจะหักไปด้วย ซึ่งอาจเป็นยาเม็ดรับประทานหรือยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
การรักษาแบบประคับประคอง
ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาแบบประคับประคองหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมกับการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอมาก มีความเสี่ยงสูงหากต้องผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้ไปพบแพทย์ทันทีหลังกระดูกสะโพกหักและกระดูกเริ่มติดแล้ว เป็นต้น การรักษาประเภทนี้อาจทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ร่างกายฟื้นตัวได้ช้า ในระยะยาวอาจส่งผลให้สุขภาพโดยรวมไม่แข็งแรงได้
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพกหักอาจทำให้ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงและเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในขาหรือปอด เกิดแผลกดทับ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ปอดบวม รวมถึงสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มและบาดเจ็บมากขึ้นได้
ผู้ที่เคยกระดูกสะโพกหักมาก่อนก็อาจมีภาวะเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายและมีกระดูกเปราะบาง จึงมีโอกาสที่กระดูกสะโพกจะแตกหักซ้ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เท่าเดิม จึงอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า
การป้องกันกระดูกสะโพกหัก
การดูแลสุขภาพตนเองให้ที่แข็งแรงร่วมกับการใช้ชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นการป้องกันกระดูกสะโพกหักที่ได้ผลดี ซึ่งอาจช่วยเพิ่มค่ามวลกระดูกสูงสุดให้สูงขึ้นกว่าเดิม หรือลดการหกล้มและการเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยผู้ที่มีอายุ 50 ขึ้นไปควรรับประทานแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม และวิตามินดีวันละ 600 IU
- เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักที่ขาอย่างการเดิน และฝึกการทรงตัวให้ดีขึ้นด้วยกิจกรรมหรือการออกกำลังกายบางประเภทอย่างไทเก๊ก เพื่อป้องกันการหกล้ม
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะอาจลดความหนาแน่นของมวลกระดูกและทำให้ควบคุมสติได้ไม่ดี จึงอาจหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุในภายหลัง
- จัดบ้านให้เรียบร้อย ไม่วางของเกะกะขวางทาง และเปิดไฟในห้องให้สว่าง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การกระแทก หรือการลื่นล้ม อีกทั้งยังควรติดตั้งราวจับบนผนังเช่นในห้องน้ำหรือบริเวณบันได เพื่อให้ลุก นั่งหรือเดินได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคเกี่ยวกับตา รวมทั้งควรเลือกหรือเปลี่ยนแว่นสายตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาของตนเอง
- ลุกขึ้นยืนช้า ๆ เพื่อไม่ให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงจนเกิดอาการเวียนศีรษะและอาการเซ นอกจากนี้ ยังควรปรึกษาแพทย์หากยาที่กำลังใช้ส่งผลให้รู้สึกเวียนศีรษะและอ่อนแรง เพราะอาจเสี่ยงต่อการหกล้มได้
- หากการลักษณะการเดินไม่มั่นคง ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดในการแนะนำการบริหารร่างกาย หรือใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายอื่น เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ง่ายและมั่นคงขึ้น