กระดูกสันหลังคด (Scoliosis)

ความหมาย กระดูกสันหลังคด (Scoliosis)

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ การที่กระดูกสันหลังคดงอหรือมีลักษณะบิดเบี้ยวไปด้านข้าง ทำให้เสียสมดุลและไม่สวยงาม หากอาการไม่รุนแรงมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากกระดูกสันหลังคดมาก อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามอาการและความรุนแรงของการคดงอในแต่ละคน

กระดูกสันหลังคดอาจเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่มักเกิดบ่อยในวัยเด็กหรือวัยรุ่น อีกทั้งยังอาจพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติกระดูกสันหลังคด ซึ่งอาการกระดูกสันหลังคดที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน

Scoliosis

สาเหตุของกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคดอาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น สมองพิการ หรือกล้ามเนื้อเสื่อม
  • ความไม่สมบูรณ์ของการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังระหว่างอยู่ในครรภ์ หรืออาการกระดูกสันหลังคดโดยกำเนิด 
  • อาการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง 
  • เนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลัง
  • การเสื่อมสภาพของร่างกาย กระดูกสันหลังคดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายมักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง 
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome)

อาการของกระดูกสันหลังคด

ความรุนแรงและอาการของกระดูกสันหลังคดแตกต่างกันไปในแต่ละคน กรณีที่กระดูกสันหลังคดเกิดขึ้นในเด็ก ผู้ปกครองมักเริ่มต้นสังเกตเห็นว่าไหล่ทั้งสองข้างของเด็กไม่เท่ากัน แผ่นหลังหรือหน้าออกนูนไม่เท่ากัน และอาจสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่ออาการรุนแรงขึ้น 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้งอาการกระดูกสันหลังคดและบิดงอ ลักษณะของโรคกระดูกสันหลังคดที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้

  • สามารถมองเห็นความคดงอของกระดูกสันหลังได้อย่างชัดเจน
  • ลำตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
  • สะโพกหรือหัวไหล่สองข้างไม่เท่ากัน
  • ซี่โครงหรือหน้าอกด้านใดด้านหนึ่งอาจยื่นออกมาด้านหน้า

โดยทั่วไปแล้ว กระดูกสันหลังคดมักก่อให้เกิดอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง กล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasms) หรือเจ็บซี่โครง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง กระดูกสันหลังคดอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและปอด เช่น เจ็บหน้าอกหรือหายใจติดขัด

อาการของกระดูกสันหลังคดที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เมื่อสังเกตเห็นอาการกระดูกสันหลังคดต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

การวินิจฉัยอาการกระดูกสันหลังคด

แพทย์มักเริ่มต้นวินิจฉัยกระดูกสันหลังคดจากการสอบถามประวัติอาการกระดูกสันหลังคดในครอบครัว ความรุนแรงของอาการ หรือประวัติสุขภาพต่าง ๆ จากนั้นจะเริ่มตรวจความคดงอของกระดูกสันหลัง อีกทั้งยังอาจตรวจดูระดับของสะโพกและหัวไหล่ ความเอนเอียงของร่างกาย และความแข็งแรงและปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

หากแพทย์เชื่อว่าผู้ป่วยมีอาการกระดูกสันหลังคด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์หลัง (X-Ray) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินความคดงอของกระดูกและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม 

การรักษาอาการกระดูกสันหลังคด

ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการกระดูกสันหลังคดเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่อาจต้องเข้าพบแพทย์ทุก ๆ 4–6 เดือนเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง และประเมินวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมหากอาการรุนแรงขึ้น โดยการรักษามักขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ ตำแหน่ง ลักษณะการคดงอของกระดูก ความรุนแรงของอาการ 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีทั้งวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้นที่ผู้ป่วยทำได้เอง หรืออาจเป็นวิธีการรักษาทางการแพทย์ เช่น

การรักษากระดูกสันหลังคดด้วยตนเอง

กระดูกสันหลังคดอาจรักษาได้เบื้องต้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การนวด กายภาพบำบัด การยืดเส้น การออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลัง นอกจากนี้ หากมีอาการปวดร่วมด้วย อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อมีอาการ

การรักษากระดูกสันหลังคดด้วยกระบวนการทางการแพทย์

การรักษากระดูกสันหลังคดด้วยวิธีทางการแพทย์อาจมีดังนี้ 

  • การใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโตของกระดูก หรือมีอาการกระดูกสันหลังคดในระดับปานกลางสวมเสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนเพื่อช่วยป้องกันกระดูกไม่ให้เกิดความคดงอมากขึ้น
  • การผ่าตัด แพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการรุนแรงเพื่อลดการคดงอของกระดูกและป้องกันอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น 

นอกจากนี้ อาจมีการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังคดร่วมด้วย เช่น กระดูกสันหลังคดบางชนิดอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือมีเนื้องอกของกระดูกสันหลัง เมื่อรักษาที่ต้นเหตุแล้ว ความคดงอของกระดูกก็อาจหายดีขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการกระดูกสันหลังคด

อาการกระดูกสันหลังคดโดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • ปอดและหัวใจได้รับความเสียหาย กระดูกสันหลังคดแบบรุนแรงอาจส่งผลให้ซี่โครงต่ำลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปอดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหายใจลำบากหรือขัดขวางการสูบฉีดเลือดของหัวใจ
  • ปัญหาบริเวณหลัง ผู้ใหญ่ที่มีอาการกระดูกสันหลังคดตั้งแต่ในวัยเด็กมักมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่าผู้อื่น
  • ภาพลักษณ์ เมื่ออาการกระดูกสันหลังคดรุนแรงขึ้น รูปลักษณ์ของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจได้ เช่น สะโพกและหัวไหล่ 2 ข้างอยู่ในระดับต่างกัน ซี่โครงยื่น รอบเอวและลำตัวด้านข้างต่างไปจากเดิม 

การป้องกันอาการกระดูกสันหลังคด

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันกระดูกสันหลังคด แต่สามารถป้องกันไม่ให้อาการกระดูกสันหลังคดรุนแรงขึ้นได้ เช่น

  • ผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติกระดูกสันหลังคดควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย เนื่องจากอาจมีอาการกระดูกสันหลังคดที่รุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบางประเภทที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น โยคะ พิลาทิส หรือกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหรือส่งผลต่อการบิดแนวกระดูกสันหลัง การเล่นยิมนาสติก การสะพายกระเป๋าเป้เพียงข้างเดียว หรือการใช้แทรมโพลีนในการออกกำลังกาย