กระเพาะทะลุ

ความหมาย กระเพาะทะลุ

กระเพาะทะลุ หรือกระเพาะอาหารทะลุ คือ ภาวะที่ผนังกระเพาะอาหารมีรู ซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร หรือสาเหตุอื่น ๆ อย่างการเกิดอุบัติเหตุทางร่างกาย โดยโรคนี้มักเกิดขึ้นร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบเมื่อมีเชื้อแบคทีเรีย เศษอาหาร หรือกรดในกระเพาะอาหารสัมผัสกับโพรงช่องท้อง จนอาจทำให้ผู้ป่วยปวดท้องรุนแรง และเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรือเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนหากมีอาการของกระเพาะทะลุ และมักต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด

กระเพาะทะลุ

อาการของกระเพาะทะลุ

ผู้ป่วยมักมีอาการซึ่งเกิดขึ้นร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ดังนี้

  • ปวดท้องมาก โดยเฉพาะเมื่อถูกสัมผัสหรือคลำตรวจ โดยผู้ป่วยมักท้องบวมและท้องแข็งกว่าปกติ ซึ่งมีอาการดีขึ้นเมื่อนอนนิ่ง ๆ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • ปัสสาวะ อุจจาระ หรือผายลมน้อยกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบเหนื่อย

สาเหตุของกระเพาะทะลุ

หากเป็นกระเพาะทะลุที่เกิดขึ้นเองนั้น ในทางการแพทย์ยังคงไม่ทราบถึงสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดกระเพาะทะลุ ได้แก่

  • ความเครียด
  • การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่
  • การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน หรือแอมเฟทามีน
  • การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs อย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน ยาสเตียรอยด์ และยาเคมีบำบัดบางชนิด
  • การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร และกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) ซึ่งทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ แต่เป็นโรคที่พบได้น้อย
  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน
  • อุบัติเหตุทางร่างกาย เช่น มีดหรือกระสุนทะลุกระเพาะอาหาร การกลืนวัตถุลงกระเพาะอาหาร เช่น ของเล่น เครื่องเขียน เป็นต้น
  • การส่องตรวจกระเพาะอาหารด้วยกล้อง อาจทำให้กระเพาะทะลุได้เช่นกัน แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

การวินิจฉัยกระเพาะทะลุ

แพทย์มักวินิจฉัยกระเพาะทะลุโดยซักประวัติร่วมกับตรวจอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดและตรวจภาพถ่ายทางรังสีวิทยา เพื่อวินิจฉัยอาการ ค้นหาสาเหตุของโรค รวมทั้งตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ตรวจปริมาณเกลือแร่และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งตรวจการทำงานของตับและไต เพื่อประกอบการวินิจฉัย
  • ตรวจปริมาณเม็ดเลือดแดงที่อาจลดลงหากเสียเลือด และปริมาณเม็ดเลือดขาวที่อาจเพิ่มขึ้นหากเกิดการติดเชื้อ
  • เอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนบน ช่องอก และลำตัว เพื่อวินิจฉัยอากาศในช่องท้อง และระบุว่าเกิดการทะลุของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารหรือไม่
  • ตรวจซีทีสแกนบริเวณช่องท้อง เพื่อระบุตำแหน่งที่กระเพาะทะลุ

การรักษากระเพาะทะลุ

กระเพาะทะลุต้องรักษาที่สาเหตุ โดยอาจมีการรักษา เช่น รักษาแผลในกระเพาะอาหาร การผ่าตัด และการรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

การรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารอาจต้องรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร ยากลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์และยากลุ่มเอชทูบล็อกเกอร์ซึ่งช่วยยับยั้งการสร้างกรดในกระเพาะอาหารและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

การผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนหากกระเพาะอาหารทะลุ เพื่อปิดบาดแผล รวมทั้งกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เศษอาหาร และกรดในโพรงช่องท้อง ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้กระเพาะทะลุ ขนาดของบาดแผล ระยะของโรคขณะเข้ารับการรักษา และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้โรคหายช้าหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนี้

  • อายุมาก ขาดสารอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี
  • อ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ และถุงลมโป่งพอง  
  • ใช้ยาบางชนิด หรือใช้สารเสพติด เช่น ใช้ยาสเตียรอยด์หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ใช้ยาเพื่อรักษาโรคโครห์น โรคพุ่มพวง ลำไส้อักเสบ และข้ออักเสบ หรือกำลังใช้ยารักษาโรคมะเร็ง
  • มีเลือดออก มีก้อนเลือด หรือไตวาย

การรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการกระเพาะทะลุร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบ จึงต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอวัยวะทำงานล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสเลือดต้องได้รับสารน้ำ ยารักษาความดันโลหิต และสารอาหารร่วมกับยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำด้วย โดยผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะช็อกจากเลือดเป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนของกระเพาะทะลุ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากกระเพาะทะลุ ได้แก่ มีเลือดออก ติดเชื้อในช่องท้อง เกิดฝีในช่องท้อง และติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  

การป้องกันกระเพาะทะลุ

กระเพาะทะลุเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ช่วยลดความเสี่ยงจากกระเพาะทะลุ มีดังนี้

  • รู้จักวิธีจัดการกับความเครียด
  • ไม่ใช้ยาเสพติดทุกชนิด
  • งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1-2 ดื่มมาตรฐาน/วัน
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่รับประทานยากลุ่ม NSAIDs เป็นเวลานาน โดยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ เช่น การรับประทานแอสไพรินเพื่อรักษาโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาเป็นประจำ หากมีอาการของกระเพาะทะลุ โดยเฉพาะปวดท้องและมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที