ความหมาย กรามค้าง (Locked Jaw / Trismus)
กรามค้าง หรือขากรรไกรค้าง เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อซึ่งใช้ในการบดเคี้ยวอาหารเกิดการหดเกร็ง หรือเกิดจากข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนออกจากเบ้าและไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าที่เดิมได้ ทำให้ผู้ป่วยอ้าปากได้น้อยกว่าปกติหรืออ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ เกิดเสียงดังบริเวณข้อต่อขากรรไกร และมักทำให้รู้สึกเจ็บปวด จึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
กรามค้างเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอ้าปากกว้างเกินไป การได้รับบาดเจ็บบริเวณขากรรไกร ภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร การติดเชื้อในช่องปาก โรคบาดทะยัก โรคมะเร็ง และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งบางครั้งการผ่อนคลายและนวดบริเวณกรามจะช่วยให้อาการกรามค้างหายได้เอง แต่กรณีที่อาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
อาการกรามค้าง
คนทั่วไปมักใช้คำว่ากรามค้างในกรณีที่อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ หรืออ้าปากแล้วรู้สึกตึงและเจ็บ ทำให้อ้าปากได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งทำให้การพูด การเคี้ยว และกลืนอาหารเป็นไปอย่างลำบาก ซึ่งอาการโดยทั่วไปของภาวะกรามค้าง มีดังนี้
- รู้สึกตึงและเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อกรามอย่างฉับพลัน โดยมักจะรู้สึกเท่ากันที่กรามทั้งสองข้าง
- ปวดกรามแม้ไม่ได้ขยับบริเวณดังกล่าว และจะปวดมากขึ้นเมื่ออ้าปากกว้าง เช่น หาว
- ได้ยินเสียงกึกกักบริเวณกราม
- พูดไม่ชัด และแปรงฟันได้ลำบาก
- เคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก โดยเฉพาะอาหารที่แข็งและเหนียว
- ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดฟัน
กรณีที่กรามค้างเป็นเวลานาน อาจมีอาการปากแห้ง เนื่องจากไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ และเยื่อบุช่องปากอักเสบ (Oral Mucositis) จากการที่ไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้สะดวก
สาเหตุของกรามค้าง
เส้นประสาทและกล้ามเนื้อหลายส่วนทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกราม กรามค้างเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และข้อต่อบริเวณขากรรไกรเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติและค้างอยู่โดยไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าที่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การอ้าปากกว้างมากขณะหาว รับประทานอาหาร หรือหัวเราะ และการเคี้ยวหมากฝรั่งมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อขากรรไกรตึง
- พฤติกรรมการกัดฟันจากความเครียดโดยไม่รู้ตัว และโรคนอนกัดฟัน (Bruxism) ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และความผิดปกติในการสบฟัน
- ภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disorder) โดยอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ภาวะข้อเสื่อม โรครูมาตอยด์ และการได้รับอุบัติเหตุบริเวณขากรรไกร ซึ่งอาการกรามค้างจากสาเหตุนี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง แต่บางคนอาจมีอาการเรื้อรัง
- โรคบาดทะยัก (Tetanus) เกิดจากติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดร้ายแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยทำให้กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง ซึ่งทำให้เจ็บปวดและอ้าปากลำบาก
- มะเร็งบริเวณศีรษะและคอ รวมทั้งการผ่าตัดหรือฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งที่ศีรษะและคอ
- โรคคางทูม และทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ฟัน ต่อมน้ำลาย และลำคอ ทำให้เกิดอาการกรามค้าง
- การใช้ยา เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) แก้คลื่นไส้ ยาต้านอาการทางจิตบางชนิด และยาสลบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไข้สูงอย่างรุนแรงที่เกิดจากการตอบสนองต่อยาสลบที่มากผิดปกติ (Malignant Hyperthermia) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็งและกรามค้าง
- การผ่าตัดบริเวณช่องปาก เช่น การถอนฟันคุด โดยเฉพาะฟันคุดที่อยู่บริเวณขากรรไกรล่าง หรือเกิดจากการที่ขากรรไกรยื่นออกมามากผิดปกติระหว่างผ่าตัด การอักเสบของขากรรไกรหลังการผ่าตัด และความผิดปกติในการฉีดยาชาที่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณขากรรไกรถูกทำลาย
- โรคอื่น ๆ เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) ซึ่งอาจเกิดระหว่างการผ่าตัดไทรอยด์ ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ ไซนัสอักเสบ และโรคคนแข็ง (Stiff-Person Syndrome) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ยากมาก
การวินิจฉัยอาการกรามค้าง
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการประสบอุบัติเหตุ เช่น การถูกต่อย ถูกรถชน หรือเล่นกีฬาแล้วเกิดการกระแทกที่ขากรรไกรโดยตรง รวมทั้งสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการรักษา เช่น การรักษาฟันและผ่าตัดในช่องปากกับทันตแพทย์ การฉายแสงและการผ่าตัดรักษามะเร็งที่ศีรษะและลำคอ
จากนั้นแพทย์จะตรวจความผิดปกติของขากรรไกรว่าสามารถอ้าปากได้กว้างเท่าใด เมื่ออ้าปากแล้วสามารถหุบปากลงและกัดฟันได้ปกติหรือไม่ หากสงสัยว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ ติดเชื้อ มีเนื้องอกหรือมะเร็งในปาก ใบหน้า หรือกราม แพทย์อาจให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น เช่น
- การวินิจฉัยโดยใช้ผลจากภาพเอกซเรย์ ซีที สแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) และอัลตราซาวด์
- การตัดชิ้นเนื้อในกรณีที่มีเนื้องอกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
การรักษากรามค้าง
ในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรผ่อนคลาย ไม่เกร็งบริเวณกราม เพราะกล้ามเนื้อกรามที่แข็งเกร็งจะไม่คลายตัวและไม่สามารถจัดตำแหน่งขากรรไกรเข้าที่ได้ นอกจากนี้ สามารถดูแลตัวเองเมื่อขากรรไกรค้างได้ดังนี้
นวดบริเวณกรามที่ค้าง
นวดคลึงบริเวณหน้าใบหู เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อขากรรไกรเบา ๆ ขยับนิ้วเป็นวงกลมเป็นเวลา 30 วินาที วันละ 2–3 ครั้ง โดยห้ามตบหรือชกใบหน้าและขากรรไกร และไม่ควรพยายามหุบปากลงขณะที่ข้อต่อขากรรไกรยังค้างอยู่ เพราะจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น
บริหารขากรรไกร และกล้ามเนื้อคอ
ในกรณีที่พอจะขยับขากรรไกรและหุบปากลงได้ อาจบริหารขากรรไกรด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- อ้าปากหรือยิ้มให้กว้างที่สุด ค้างไว้ประมาณ 2 วินาที ทำซ้ำวันละ 10–20 ครั้ง
- อ้าและหุบปากเบา ๆ สลับกันหลายครั้ง จากนั้นวางนิ้วบนฟันหน้าสี่ซี่ด้านล่าง และค่อย ๆ ดันขากรรไกรลงจนกว่าจะรู้สึกตึง ทำค้างไว้ 30 วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยมือและหุบปาก ทำซ้ำ 10–20 ครั้ง
- วางอุ้งของฝ่ามือไว้ใต้กรามแล้วดันขึ้นในขณะที่อ้าปากค้างไว้ ทำซ้ำวันละ 3 รอบ รอบละ 20 ครั้ง
- แตะปลายลิ้นบนเพดานปากด้านหลังฟันหน้าด้านบน และค่อย ๆ อ้าปากให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นค่อย ๆ หุบปากลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- บริหารกล้ามเนื้อคอโดยแนบคางให้ชิดหน้าอก ทำค้างไว้ 30 วินาที ดันศีรษะกลับไปด้านหลัง ค้างไว้อีก 30 วินาที สลับกับให้ขยับศีรษะไปทางซ้ายและขวา และขยับศีรษะเป็นวงกลม อย่างไรก็ตาม ควรหยุดทำท่าเหล่านี้ หากรู้สึกเจ็บปวด
ประคบร้อนหรือประคบเย็นที่กราม
ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบที่กรามเป็นเวลา 15 นาที ทำซ้ำทุก 1 ชั่วโมง และประคบก่อนนอน เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อกรามและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น กรณีที่มีอาการกรามค้างหลังทำฟัน สามารถประคบบริเวณหน้าหูหรือข้างแก้มด้วยผ้าชุบน้ำเย็นหรือห่อน้ำแข็งเพื่อลดอาการเจ็บปวดได้
ปรับพฤติกรรม
ในช่วงที่กรามค้างควรหลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้างมาก ๆ เช่น เอามือประคองใต้คางขณะหาว รับประทานอาหารคำเล็ก ๆ โดยรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็งหรือเหนียว ซึ่งอาจทำให้เจ็บปวดขณะเคี้ยว หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องด่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดความเครียด ทำให้กัดฟันมากขึ้น และทำให้อาการกรามค้างรุนแรงขึ้น
หากที่มีอาการปวด ผู้ป่วยอาจรับประทายาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน แต่กรณีที่ดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่
การใส่เครื่องมือในช่องปาก
กรณีที่มีอาการนอนกัดฟัน แพทย์อาจให้ใส่เฝือกสบฟันขณะนอนหลับเพื่อลดการสัมผัสเสียดสีระหว่างฟันบนและฟันล่าง ซึ่งจะช่วยป้องกันการสึกหรอของฟัน และป้องกันความเกร็งและตึงของกล้ามเนื้อกราม เช่นเดียวกับผู้ที่มีภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร แพทย์อาจให้ใส่ที่ครอบฟัน เพื่อช่วยในการสบฟันและลดแรงกระแทกต่อของข้อต่อขากรรไกร
ในปัจจุบัน เฝือกสบฟันมีทั้งชนิดสำเร็จรูปและชนิดทำขึ้นพิเศษให้เหมาะกับรูปปากของผู้สวมใส่ ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนเลือกใส่เฝือกสบฟัน
การใช้ยา
แพทย์อาจให้รับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine) และเมตาซาโลน (Metaxalone) ยาต้านเศร้า และยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ซึ่งยาเหล่านี้อาจช่วยลดอาการปวด ลดภาวะการกัดฟัน และลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้ แพทย์อาจฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือสารโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin: Botox) บริเวณข้อต่อขากรรไกรโดยตรง เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อกรามที่แข็งค้าง และให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือให้ทางหลอดเลือดดำ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อ
การบำบัด
แพทย์อาจให้ผู้ที่มีอาการกรามค้างเข้ารับการบำบัดกับนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญ เช่น
- กายภาพบำบัด เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่กรามค้าง และลดความเจ็บปวด ซึ่งนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำวิธีบริหารขากรรไกรที่บ้านอย่างเหมาะสม
- บำบัดการพูด สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาพูดไม่ชัด เพื่อช่วยให้พูดได้ชัดเจนขึ้น
- การบำบัดด้วยวิธีครานิโอซาคราล (Craniosacral Therapy) เพื่อลดความตึงของระบบประสาท และบรรเทาความเจ็บปวด
การใช้รังสีรักษา และผ่าตัด
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการรักษาโดยใช้เครื่องเลเซอร์ความร้อนลึกด้วยคลื่นสั้น ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าความถี่สูงเพื่อสร้างความร้อนในร่างกาย การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ส่วนผู้ป่วยกรามค้างที่มีสาเหตุจากเนื้องอกหรือมะเร็ง แพทย์อาจรักษาด้วยการฉายแสงหรือผ่าตัดนำก้อนเนื้อออก
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกรามค้างจากภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร เข้ารับการผ่าตัดข้อต่อขากรรไกร ซึ่งอาจผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง หรือผ่าตัดแบบเปิด เพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกร
ภาวะแทรกซ้อนของกรามค้าง
กรามค้างอาจหายได้เองหลังจากดูแลตัวเอง แต่หากมีอาการเคี้ยวอาหารลำบาก กรามแข็งเกร็ง รู้สึกตึงหรือปวดกรามโดยที่อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น
- ปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยวและกลืนอาหาร และภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากรับประทานอาหารไม่สะดวก
- ฟันผุและแผลในปาก เนื่องจากผู้ที่มีอาการกรามค้างมักจะไม่สามารถทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างเหมาะสม
- สารเคลือบฟันสึกหรอ และอาจทำให้ฟันร้าวหรือแตกจากภาวะนอนกัดฟัน
- การเกิดเนื้อเยื่อเส้นใยในข้อต่อขากรรไกรหรือกล้ามเนื้อโดยรอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดพังผืดขึ้นตามมา
การป้องกันกรามค้าง
กรามค้างเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งหลายสาเหตุสามารถป้องกันได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียว เช่น ลูกอม ถั่ว น้ำแข็งก้อน และหมากฝรั่ง ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อกรามทำงานหนักเกินไป และเสี่ยงต่อการเกิดกรามค้าง
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน ว่ายน้ำ รวมทั้งทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล เช่น ฝึกหายใจ เล่นโยคะ และนั่งสมาธิ ซึ่งช่วยให้ไม่เครียด ลดอาการกัดฟัน และนอนหลับได้ดีขึ้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากยาที่รับประทานทำให้เกิดอาการตึงบริเวณกราม แพทย์อาจแนะนำการปรับปริมาณหรือเปลี่ยนตัวยาที่ไม่ก่อให้เกิดอาการกรามค้าง รวมทั้งแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการกรามค้างหลังการผ่าตัดในช่องปาก การฉายแสง และผ่าตัดรักษามะเร็ง
- ควรแจ้งทันตแพทย์หากเคยมีประวัติขากรรไกรค้าง และขณะทำฟันควรขอพักหุบปากลงเป็นระยะหากรู้สึกเมื่อยจากการอ้าปากเป็นเวลานาน
- หากเคยมีประวัติหรืออาการกรามค้างบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการบริหารขากรรไกรอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการกรามค้างซ้ำอีก
- ป้องกันโรคติดเชื้อด้วยการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนบาดทะยัก ซึ่งจะฉีดให้เด็ก และควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีแผลเปิดที่ไม่แน่ใจว่าได้รับวัคซีนครั้งสุดท้ายเมื่อไร