กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติก (Paraneoplastic Syndromes)

ความหมาย กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติก (Paraneoplastic Syndromes)

กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติก หรือ Paraneoplastic Syndromes เป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเกิดจากก้อนมะเร็งผลิตฮอร์โมนหรือโปรตีนบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายออกมาหรือเป็นผลจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายตนเอง โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ   

Paraneoplastic Syndromes เกิดขึ้นได้กับหลายระบบอวัยวะทั่วทั้งร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สมอง ระบบประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ ไต กระดูกและข้อต่อ ผิวหนัง หรือเลือด โดยจัดเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคมะเร็งในระยะแรกเริ่ม และพบได้ประมาณ 8–20% ในหมู่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่กลุ่มอาการนี้มักพบได้น้อยมาก  

กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติก (Paraneoplastic Syndromes)

อาการของ Paraneoplastic Syndromes

โดยทั่วไป ผู้ป่วย Paraneoplastic Syndromes มักมีอาการไข้ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักตัวลดลง หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังอาจพบอาการที่ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ เช่น 

ระบบประสาทและสมอง 

ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะ มองเห็นเป็นภาพซ้อน ชัก พฤติกรรมและความคิดเปลี่ยนไปจากเดิม มีปัญหาในการนอนหลับ การกลืน การพูดคุย หรือความจำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบประสาททำงานบกพร่อง มีปัญหาด้านการตอบสนอง ความรู้สึก หรือการทำงานประสานกันของอวัยวะ แขนหรือขาสูญเสียความรู้สึก

ระบบต่อมไร้ท่อ

ผู้ป่วยอาจมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรปิก (Adrenocorticotropic Hormone: ACTH) สูง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มือหรือขาบวม น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือไตวายเฉียบพลัน

กระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ   

ผู้ป่วยอาจพบอาการปวด มีปัญหาข้ออักเสบ ปวดข้อ ข้อบวม ข้อต่อแข็งเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ หรือนิ้วปุ้ม (Clubbing Fingers)  

ผิวหนัง

ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น ผิวแดง เป็นขุย คัน มีผื่นหรือมีแผลที่ผิวหนัง ผิวหนา ผิวหนังเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ ผมร่วง หรือเส้นผมเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ 

เลือด

ผู้ป่วยอาจมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อย ปริมาณเกล็ดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดขาวสูง ผิวซีดผิดปกติ อ่อนเพลีย มีปัญหาในการหายใจ ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำลึก หรือโปรตีนในเลือดไหลเวียนผิดปกติ   

ระบบอวัยวะอื่น ๆ

Paraneoplastic Syndromes อาจส่งผลต่อไต ทำให้ปริมาณกรดและด่างเสียสมดุล ขาบวมทั้งสองข้าง ของเหลวคั่งอยู่ในร่างกาย หรือมีโปรตีนในปัสสาวะมากเกินไป และยังอาจกระทบระบบย่อยอาหาร ทำให้ผู้ป่วยถ่ายเหลว ขาดน้ำ เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล หรือมีปริมาณโปรตีนในเลือดต่ำลงจากการถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระ    

หากพบสัญญาณที่เข้าข่าย Paraneoplastic Syndromes ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากกลุ่มอาการนี้เป็นสัญญาณแรก ๆ ของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเร็วก็จะช่วยให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมเร็วขึ้นด้วย

สาเหตุของ Paraneoplastic Syndromes

Paraneoplastic Syndromes อาจเป็นผลจากการที่ก้อนมะเร็งบางชนิดหลั่งฮอร์โมนหรือโปรตีนที่ทำให้อวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติออกมา หรืออาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผลิตแอนติบอดี (Antibody) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-Cell) ออกมาทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อปกติแทนที่จะเป็นเซลล์มะเร็ง จนก่อให้เกิดอาการในระบบอวัยวะต่าง ๆ ตามมา

กลุ่มอาการนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด แต่มักพบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งปอดอย่างมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) มะเร็งผิวหนังอย่างมะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งอัณฑะ    

โดยคนในวัยกลางคน คนสูงอายุ และคนที่มีประวัติเป็นมะเร็งหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อน เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเต้านม อาจเสี่ยงต่อกลุ่มอาการ Paraneoplastic Syndromes มากกว่าคนอื่น  

การวินิจฉัย Paraneoplastic Syndromes

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติทางสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ตรวจร่างกายและการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ อีกทั้งยังอาจส่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น เช่น 

  • การตรวจทางระบบประสาท เพื่อทดสอบการทำงานของระบบประสาทในด้านต่าง ๆ เช่น การตอบสนอง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การมองเห็น การได้ยิน ความจำ อารมณ์ หรือการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ  
  • การตรวจเลือดหาโปรตีนและแอนติบอดีที่อาจเกี่ยวข้องกับ Paraneoplastic Syndromes หรือตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่นที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายกันอย่างการติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือโรคการเผาผลาญ
  • การตรวจจากภาพถ่าย เช่น ซีทีสแกน (CT Scan) อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เอ็มอาร์ไอสแกน (MRI Scan) หรือพีอีทีสแกน (PET Scan) เพื่อหาก้อนเนื้องอกในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณสมอง หน้าอก ท้อง เชิงกราน หรือเต้านม
  • การเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อหาสัญญาณของแอนติบอดีที่ทำลายเซลล์ปกติที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง ในกรณีที่อาจตรวจหาแอนติบอดีในเลือดไม่พบ  

การรักษา Paraneoplastic Syndromes

แพทย์จะวางแผนการรักษามะเร็งอันเป็นต้นเหตุของ Paraneoplastic Syndromes ในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อควบคุมอาการและลดความเสียหายต่อระบบอวัยวะภายในร่างกายให้ได้มากที่สุด 

โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยารักษา เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่างยาคอร์ติโซน (Cortisone) หรือยาเพรดนิโซน (Prednisone) ที่ช่วยลดอาการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกันที่ช่วยชะลอการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือยา Intravenous Immunoglobulin (IVIg) ชนิดฉีดที่ช่วยลดปริมาณแอนติบอดีที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า (Plasmapheresis) ซึ่งจะช่วยกำจัดแอนติบอดีในพลาสม่าที่ไปทำลายเซลล์ปกติให้น้อยลง หรืออาจบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างกายภาพบำบัดหรืออรรถบำบัด (Speech Therapy) ในกรณีที่มีปัญหาด้านการพูดหรือการกลืน 

ภาวะแทรกซ้อนของ Paraneoplastic Syndromes

Paraneoplastic Syndromes อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หลากหลาย ซึ่งอาจมีความรุนแรงเล็กน้อย รุนแรงแรงมาก หรืออาจรุนแรงถึงขั้นอวัยวะเสียหายถาวรและเสียชีวิตได้ โดยจะขึ้นอยู่กับระยะของก้อนมะเร็ง ชนิดของมะเร็ง รวมถึงระบบอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มอาการนี้

การป้องกัน Paraneoplastic Syndromes

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน Paraneoplastic Syndromes แต่อาจลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้ด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งอยู่เสมอ เช่น

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักและผลไม้ และลดการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารน้ำตาลสูง และอาหารไขมันสูง 
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยออกกำลังกายระดับหนักปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนักมากอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ 
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • ปกป้องผิวจากแสงแดดเป็นประจำอย่างสวมเสื้อแขนยาว หมวก หรือแว่นตากันแดด ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 ก่อนออกจากบ้าน หรือพยายามอยู่กลางแจ้งให้น้อยที่สุด 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหรือปัญหาสุขภาพบางประการที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็ง เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็ง โดยควรสวมถุงยางอนามัยหรือใช้แผ่นยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และควรมีคู่นอนเพียงคนเดียว 
  • ไปตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจคัดกรองมะเร็งตามที่แพทย์แนะนำ เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและอาจหายดีได้เร็วขึ้น