ความหมาย กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C)
MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) หรือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังร่างกายติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (COVID-19) โดยจะเกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อาทิ หัวใจ ปอด หลอดเลือด สมอง ไต หรือผิวหนัง
ภาวะ MIS-C อาจก่อให้เกิดอาการต่างกันออกไป และอาจทวีความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม อาการรุนแรงจากกลุ่มอาการนี้พบได้น้อยมากในปัจจุบัน
อาการของ MIS-C
ผู้ป่วย MIS-C มักแสดงอาการใน 2–6 สัปดาห์หลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งอาการของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่เกิดการอักเสบ
ส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะมีไข้สูงหรือมีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ มีผื่นที่ผิวหนัง ตาแดง รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หายใจถี่ มีอาการบวมแดงบริเวณริมฝีปาก ลิ้น มือ หรือเท้า ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหากเด็กมีอาการปวดท้องอย่างมาก มีปัญหาในการหายใจ ผิวซีดหรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกไม่ยอมหายไป มีอาการสับสนที่เกิดขึ้นใหม่ หรือคล้ายจะหมดสติ
สาเหตุของ MIS-C
ด้วยความที่ภาวะ MIS-C เป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ ทำให้ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด MIS-C ที่แน่ชัด แต่เนื่องจากผู้ป่วยเด็กหลายรายติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาก่อน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 หรืออาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19
โดยเด็กที่มีอายุระหว่าง 3–12 ปี จะเสี่ยงต่อการเกิด MIS-C มากกว่าช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ 8–9 ปี แต่เด็กทารกและเด็กโตก็มีโอกาสพบเจอกับกลุ่มอาการนี้ได้เช่นกัน
การวินิจฉัย MIS-C
ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติสุขภาพ ประเมินอาการที่เกิดขึ้น ทดสอบหาการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในร่างกายด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test และอาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ตามอาการผู้ป่วย เพื่อตรวจหาการอักเสบภายในร่างกายและสัญญาณต่าง ๆ ของ MIS-C เช่น ตรวจเลือดและปัสสาวะ เอกซเรย์ทรวงอก อัลตราซาวด์บริเวณหัวใจหรือช่องท้อง หรือทำเอ็กโคหัวใจ
วิธีการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค และทำให้วางแผนการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจาก MIS-C อาจมีอาการคล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพอื่น โดยเฉพาะโรคคาวาซากิ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) และกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome)
การรักษา MIS-C
ผู้ป่วย MIS-C ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือกุมารแพทย์ในสถานพยาบาลหรือห้องไอซียูเด็ก (PICU) โดยอาจประคับประครองอาการของผู้ป่วยด้วยการให้สารน้ำเพิ่มเติมป้องกันการขาดน้ำ เพิ่มออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น หรือกรณีที่พบได้น้อยมาก อาจใช้เครื่อง ECMO เพื่อดูแลและพยุงการทำงานของหัวใจและปอดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาบางชนิดให้กับผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตัน รวมไปถึงยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIg) และยาแก้อักเสบชนิดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการบวม อักเสบ และปกป้องอวัยวะต่าง ๆ จากการถูกทำลาย
ภาวะแทรกซ้อนของ MIS-C
หากขาดการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง กลุ่มอาการ MIS-C อาจส่งผลต่ออวัยวะสำคัญอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหัวใจหรือปอด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หลอดเลือดหัวใจโป่งพองในระยะยาว อวัยวะเสียหายถาวรหรือเสียชีวิตได้ แต่มักเป็นไปได้ยาก
การป้องกัน MIS-C
เนื่องจากโรคโควิด-19 อาจเป็นต้นตอที่ก่อให้เกิด MIS-C การดูแลเด็กให้ห่างไกลจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 อาจลดความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการ MIS-C ได้ โดยผู้ปกครองสามารถกำชับและดูแลบุตรหลานได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- สอนล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ครั้งละอย่างน้อย 20 วินาที หรือทดแทนด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70%
- ฝึกให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และควรหลีกเลี่ยงผู้ที่กำลังป่วย ไอ หรือจาม เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
- ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำเมื่อต้องออกไปใช้ชีวิต เรียน หรือเล่นนอกบ้าน โดยควรสวมหน้ากากอนามัยให้แนบสนิทกับใบหน้า ปิดคลุมจมูกและปาก และพยายามไม่สัมผัสหน้ากากอนามัยหรือใบหน้าของตัวเองบ่อย ๆ
- สอนให้เด็กปิดปากด้วยกระดาษทิชชู ผ้าสะอาด หรือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะไอหรือจาม หากไม่มีควรไอหรือจามใส่ข้อพับแขนของตัวเองแล้วล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
- พาเด็กที่อายุเข้าเกณฑ์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยสามารถเข้ารับบริการได้ผ่านช่องทางทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
อย่างไรก็ตาม เด็กที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้วผู้ปกครองควรกำชับให้ป้องกันตัวเองด้วยวิธีในข้างต้นเป็นประจำ ร่วมกับให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ