Horner's syndrome หรือ กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติของใบหน้าและดวงตาที่พบได้น้อย มักส่งผลให้รูม่านตาทั้งสองข้างขยายไม่เท่ากัน หนังตาตกข้างเดียว หรือส่งผลให้มองเห็นสีผิดเพี้ยนไป กลุ่มอาการฮอร์เนอร์มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเส้นประสาทที่บริเวณดวงตาและใบหน้า ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด ในบางรายอาจพบได้ตั้งแต่เกิด โดยการรักษามักมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคต้นเหตุที่ทำให้เส้นประสาทเกิดความผิดปกติ
อาการของ Horner's syndrome
ความผิดปกติของเส้นประสาทจาก Horner's syndrome อาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้
- รูม่านตาทั้งสองข้างขยายไม่เท่ากันอยู่ตลอดเวลา
- การมองเห็นในที่มืดลดลง เนื่องจากรูม่านตาข้างที่ผิดปกติมักขยายตัวช้าหรือไม่ขยายตัวในที่มืด
- หนังตาตกข้างเดียวอยู่ตลอดเวลา
- ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งไม่มีเหงื่อออก หรือเหงื่อออกน้อย
- ตาบอดสีหรือเห็นสีเพียงบางส่วนเมื่อเกิดในเด็กทารกช่วง 2 ขวบปีแรก
- รอยแดงหรือเลือดฝาดในเด็กมักปรากฏเพียงซีกใดซีกหนึ่งบนใบหน้าเท่านั้น
นอกจากการเปลี่ยนแปลงบริเวณดวงตาและใบหน้าแล้ว กลุ่มอาการนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น เห็นภาพซ้อน บ้านหมุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัว ปวดหรือชาบริเวณแขน ปวดคอหรือปวดหูข้างใดข้างหนึ่ง เสียงแหบ สูญเสียการได้ยิน ถ่ายลำบาก การตอบสนองต่อสิ่งเร้าไวกว่าปกติ (Hyperreflexia) เป็นต้น
สาเหตุของ Horner's syndrome
สาเหตุหลักของกลุ่มอาการนี้มักเกิดจากความเสียหายหรือความผิดปกติของเส้นประสาทในระบบซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะหรือเส้นประสาทบริเวณสมองส่วนบน ใบหน้า หู คอ หน้าอก ปอด และกระดูกสันหลังเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบข้าง โดยสาเหตุที่ทำให้ระบบซิมพาเทติกอาจมี ดังนี้
- การบาดเจ็บของหลอดเลือดแดงหลอดดำบริเวณลำคอ
- การบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง คอ หน้าอก จากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ
- การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis) โรคมะเร็งปอด อาการปวดหัวไมเกรน อาการปวดหัวคลัสเตอร์
- เนื้องอกบริเวณสมองส่วนบน ไขสันหลัง ปลอกเส้นประสาทชั้นนอก ปอดส่วนบน คอ ระหว่างปอดและคอ หรือเนื้องอกในกะโหลกศีรษะ
- โพรงหรือถุงน้ำบริเวณกระดูกสันหลัง
- การติดเชื้อในกะโหลกศีรษะและหูชั้นกลาง
- หลอดเลือดแดงหัวใจพิการแต่กำเนิด
- การบาดเจ็บบริเวณไหล่หรือคอของทารกขณะคลอด
- โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma) ในเด็กซึ่งเป็นโรคมะเร็งของเซล์ประสาทชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่พบสาเหตุของความผิดปกติที่แน่ชัดถึงสาเหตุของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ในผู้ป่วยเด็กบางราย
การวินิจฉัย Horner's Syndrome
ในขั้นแรกแพทย์อาจซักประวัติการรักษา ตรวจร่างกาย และอาการผิดปกติ จากนั้นแพทย์อาจส่งผู้ป่วยเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์ โดยจักษุแพทย์อาจตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตาและการขยายของรูม่านตา รวมถึงทำการทดสอบแบบอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ แสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กและคลื่นวิทยุความถี่สูงหรือเอ็มอาร์ไอ แสดงภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน เจาะน้ำไขสันหลัง และการฉีดสารทึบแสงเพื่อแสดงภาพหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
การรักษา Horner's Syndrome
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งแพทย์จะมุ่งเน้นไปที่การหาสาเหตุของความผิดปกติ และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าหรือใช้ยาหยอดตาในการรักษากลุ่มอาการนี้
ภาวะแทรกซ้อนของ Horner's Syndrome
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบประสาทที่อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากรู้สึกหน้ามืด มีการมองเห็นเปลี่ยนไป ปวดคอหรือปวดศีรษะอย่างฉับพลันรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ กลุ่มอาการดังกล่าวยังอาจส่งผลให้เกิดโรคความบกพร่องทางประสาทอื่น ๆ ได้ อย่างกลุ่มอาการวอลเลนเบิร์ก (Wallenberg's Syndrome) และกลุ่มอาการเอดี (Adie syndrome) ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการคล้ายกับกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
การป้องกัน Horner's Syndrome
เนื่องจากกลุ่มอาการฮอร์เนอร์เป็นความผิดปกติทางระบบประสาท ที่มักเกิดจากโรคอื่น ๆ รวมทั้งบางส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดจึงอาจทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ โดยผู้ป่วยที่อยู่ในโรคกลุ่มเสี่ยงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตาและใบหน้า เมื่อเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้นควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของกลุ่มอาการดังกล่าว จึงควรดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังและมีสติเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ