Sjogren’s Syndrome หรือกลุ่มอาการโจเกรน เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันจะทำลายเซลล์ของร่างกายแทนการทำลายไวรัสและแบคทีเรีย ส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนที่ทำหน้าที่ผลิตของเหลว โดยเฉพาะต่อมน้ำตาและต่อมน้ำลาย ผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้มักมีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา ปากแห้ง หรือผิวแห้ง เนื่องจากร่างกายผลิตสารคัดหลั่งได้น้อยกว่าปกติ
กลุ่มอาการโจเกรนไม่มีอาการที่ร้ายแรงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการที่แสดงออกมาแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
อาการของ Sjogren’s Syndrome
อาการของผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรนจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายอาจมีอาการแค่ 1-2 อย่าง แต่ในบางรายอาจมีหลายอาการเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยอาการที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้
- ปากแห้ง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำลายหรือผลิตได้น้อยลง บางรายอาจรู้สึกลิ้นแห้งคล้ายกับมีชอล์คในปาก กลืนลำบาก เหงือกอักเสบ และมีโอกาสเกิดฟันผุมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากน้ำลายน้อย
- ตาแห้ง คันตา ดวงตาระคายเคือง รู้สึกสากในดวงตาหรือรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในดวงตา โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณรอบดวงตาหรือกระจกตาได้รับความเสียหาย
ขณะเดียวกัน อาจเกิดอาการอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ผิว คอ ริมฝีปาก หรือจมูกแห้ง ช่องคลอดแห้งในผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิง ต่อมน้ำลายบวมบริเวณลำคอและใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณกรามถึงด้านหน้าของใบหู มีอาการกรดไหลย้อน ทำให้รู้สึกแสบบริเวณช่วงอกไปจนถึงท้อง ข้อบวม ปวดบริเวณข้อ หรือมีอาการข้อติดแม้ไม่ได้เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
นอกจากนี้ อาการที่พบได้น้อยในผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ คือ เกิดการอักเสบบริเวณปอด ตับ และไต รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะกะทันหัน เหนื่อยง่าย มีอาการเหน็บชาตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
สาเหตุของ Sjogren’s Syndrome
กลุ่มอาการโจเกรนเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จึงส่งผลต่อการทำงานของต่อมที่ผลิตน้ำตาและน้ำลาย ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิด Sjogren Syndrome ได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติของยีนส์ สิ่งแวดล้อม และโรคทางระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เช่น โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น
การวินิจฉัย Sjogren’s Syndrome
การทดสอบเพื่อวินิจฉัยอาการในกลุ่ม Sjogren Syndrome สามารถทำได้ด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะอาการทั่วไปอย่างปากแห้ง ตาแห้ง อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือความเหนื่อยล้า หากมีการตรวจอย่างละเอียดจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยการตรวจเฉพาะทางต่าง ๆ มีดังนี้
- การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจหาสารภูมิคุ้มกันที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรน ซึ่งผลการตรวจจะช่วยให้แพทย์พบว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และสามารถบ่งชี้ได้หากตับหรือไตของผู้ป่วยมีความผิดปกติ
- การตรวจวัดปริมาณน้ำตา (Schirmer’s Test) เพื่อดูว่าต่อมน้ำตาของผู้ป่วยสามารถผลิตน้ำตาได้อย่างเพียงพอที่จะช่วยให้ตาชุ่มชื้น
- การตรวจกระจกตา (Ocular Surface Staining) เพื่อหาว่าบริเวณพื้นผิวดวงตามีความเสียหายและความแห้งหรือไม่
- การตรวจต่อมน้ำลาย (Salivary Scintigraphy) ที่อยู่บริเวณใต้ใบหูถัดลงมาจากขากรรไกร โดยแพทย์จะวัดการหลั่งของน้ำลายเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
- การตัดชิ้นเนื้อบริเวณริมฝีปาก เพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อบริเวณต่อมผลิตน้ำลายและน้ำตา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ระบุรูปแบบการอักเสบและความรุนแรงได้
- การอัลตราซาวด์ โดยแพทย์จะตรวจดูการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างเฉพาะบริเวณต่อมน้ำลายหลัก ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยอาการ
การรักษาอาการ Sjogren’s Syndrome
วิธีการและรูปแบบการรักษา Sjogren’s Syndrome จะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น
- รักษาหรือบรรเทาอาการด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาเอ็นเสด ยาแก้ปวด เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ในบางกรณีอาจต้องใช้ยารักษาโรครูมาตอยด์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดการบวมของต่อมน้ำลาย
- รักษาอาการตาแห้งด้วยการใช้ยาหยอดตาในเวลากลางวัน และใช้เจลทาบริเวณเปลือกตาในเวลากลางคืน ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบริเวณรอบดวงตาในตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้ดวงตาระคายเคือง ในกรณีที่มีความรุนแรง แพทย์อาจทำการอุดรูเปิดท่อน้ำตาเพื่อให้ตาชุ่มชื้นและมีน้ำตาหล่อเลี้ยงนานขึ้น
- บรรเทาอาการปากแห้งด้วยการอมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล และจิบน้ำระหว่างวันก็ช่วยบรรเทาอาการปากแห้งได้เช่นกัน หากไม่ได้ผลควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์จ่ายยาที่ช่วยเพิ่มการผลิตน้ำลาย
- ขอคำปรึกษาจากทันตแพทย์เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันอาการฟันผุ
- ผู้ป่วยเพศหญิงบางรายอาจมีปัญหาช่องคลอดแห้ง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำมันวิตามินอี ครีมเอสโตรเจน ครีมหรือโลชั่นสำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวบริเวณช่องคลอด
- เข้ารับการผ่าตัดเล็ก เพื่อขจัดการอุดตันของท่อน้ำตา แก้ไขอาการตาแห้ง
- รักษาอาการอื่น ๆ ในกลุ่มอาการโจเกรน เช่น การใช้เจลปิโตเลียมหรือลิปมันบรรเทาอาการริมฝีปากแห้ง พ่นสเปรย์น้ำเกลือเข้าจมูกเพื่อบรรเทาอาการจมูกแห้ง ใช้โลชั่นทาผิวระหว่างวันหรือหลังอาบน้ำ อาบน้ำอุ่นและปล่อยให้ตัวแห้งเองหลังอาบน้ำเพื่อบรรเทาอาการผิวแห้ง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยการสวมแว่นดำหรือแว่นกันลมขณะออกไปในพื้นที่โล่งเพราะลมและฝุ่นละอองในอากาศอาจเป็นสาเหตุของการระคายเคืองในตา แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหารหรือรับประทานขนมและเข้าพบทันตแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่เป็นกรด อย่างน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพราะกรดเป็นอันตรายต่อผิวฟัน และหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟเพราะจะทำให้ปากแห้ง
ภาวะแทรกซ้อนของ Sjogren’s Syndrome
ผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรนอาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือบรรเทาอาการตาแห้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อผิวกระจกตาชั้นนอก ตาไวต่อแสง และมองเห็นอย่างไม่ชัดเจน
- ฟันผุ เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้ไม่สามารถผลิตน้ำลายได้เพียงพอต่อการปกป้องฟันจากแบคทีเรีย
- ผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราในช่องปาก
- ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กในครรภ์มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือมีผื่นแดงตามตัวหลังคลอด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มอาการโจเกรนยังมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปอดติดเชื้อที่จะส่งผลให้ระบบการทำงานของตับและไตมีปัญหา โรคตับแข็ง ลำไส้แปรปรวน เกิดภาวะไทรอยด์ต่ำ ปลายประสาทอักเสบ และโรคหลอดเลือดอักเสบ
การป้องกัน Sjogren’s Syndrome
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของกลุ่มอาการนี้อย่างแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพต่อโรคโดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงด้วยการรักษาสุขภาพ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน พักผ่อนให้เพียงพอ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตนเองทุกครั้งหลังการใช้ยา หากพบว่ามีความผิดปกติทางร่างกายควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด