กลูโคซามีน

กลูโคซามีน

กลูโคซามีน (Glucosamine) คือสารประกอบทางเคมีที่ร่างกายผลิตได้เองจากกลูโคสเพื่อใช้สร้างกระดูกอ่อน นอกจากนั้นยังมีการผลิตขึ้นในรูปแบบยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอ้างว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด บวมตามข้อต่อจากโรคข้ออักเสบ กลูโคซามีนที่สังเคราะห์ขึ้นนี้มีหลายชนิด เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) กลูโคซามีนไฮโดรคลอดไรด์ (Glucosamine Hydrochloride) และกลูโคซามีนคลอโรไฮเดรต (Glucosamine Chlorohydrate) ทั้งนี้ เฉพาะกลูโคซามีนซัลเฟตเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ใช้สำหรับรักษาโรคข้อเสื่อม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อย.) อนุญาตให้จำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กลูโคซามีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางการแพทย์ไม่อาจยืนยันถึงประสิทธิภาพของกลูโคซามีนในการบรรเทาอาการจากโรคข้ออักเสบได้แน่ชัด เนื่องจากผลวิจัยมีทั้งสนับสนุนและคัดค้านสรรพคุณของกลูโคซามีน อีกทั้งงานวิจัยในแต่ละชิ้นมีจำนวนผู้เข้าร่วมทดลองไม่มากพอที่จะระบุว่าใช้ได้ผลดีกับทุกคน กลูโคซามีนจึงไม่ใช่ยาหลักที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ แต่มักใช้เป็นยาทางเลือกสำหรับผู้ป่วย

เกี่ยวกับกลูโคซามีน

กลุ่มยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง 
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวด บวม และฝืดแข็งของข้อต่อจากโรคข้ออักเสบและช่วยชะลอการเสื่อมของข้อ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด แคปซูล แคปซูลชนิดนิ่ม ยาผงชนิดผสมก่อนใช้แกรนูลสำหรับผสมก่อนใช้

คำเตือนของการใช้กลูโคซามีน

  • ควรใช้กลูโคซามีนที่ผ่านการรรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้ หากเคยมีประวัติแพ้กลูโคซามีน ไอโอดีน หรือสัตว์น้ำมีเปลือก เช่น หอย กุ้ง ปู เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ มะเร็ง มีคอเรสตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูหรือมีภาวะเลือดออกง่าย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่น โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กลูโคซามีน
  • เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ผู้ที่กำลังใช้กลูโคซามีนต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อนวางแผนผ่าตัดหรือรับการรักษาทางทันตกรรม

ปริมาณการใช้กลูโคซามีน

ใช้รักษาโรคข้อเสื่อมและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ผู้ใหญ่ โดยทั่วไปรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง หรือตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ

การใช้กลูโคซามีน

  • ควรใช้กลูโคซามีนตามฉลากหรือตามคำแนะนำจากแพทย์ ห้ามรับประทานเกินปริมาณที่กำหนด
  • ห้ามรับประทานกลูโคซามีนหลายชนิดพร้อมกัน นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ควรรับประทานร่วมกับมื้ออาหาร เนื่องจากกลูโคซามีนอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
  • ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบอาจต้องใช้กลูโคซามีนตามปริมาณที่แพทย์แนะนำติดต่อกันนาน 2 เดือน อาการจึงจะทุเลาลง
  • หากลืมรับประทานให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงมื้อถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อนั้น โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • เก็บกลูโคซามีนไว้ที่อุณหภูมิห้องและหลีกเลี่ยงความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้กลูโคซามีน

กลูโคซามีนมีผลข้างเคียงจากการใช้ที่พบได้ทั่วไปและมักไม่เป็นอันตราย ได้แก่

  • คลื่นไส้
  • เกิดลมในกระเพาะ
  • เวียนศีรษะ
  • ท้องเสีย ท้องผูก
  • แสบร้อนกลางอก

ทั้งนี้ ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการต่อเนื่องหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหากพบผลข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีสัญญาณของการแพ้กลูโคซามีน เช่น ผื่น ลมพิษ หายใจติดขัด หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง