กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain)

ความหมาย กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain)

กล้ามเนื้อฉีก เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อในร่างกายถูกใช้งานมากเกินไปหรือเกิดแรงตึงอย่างรุนแรงจนทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อบาดเจ็บและอาจฉีกขาด ทำให้รู้สึกเจ็บอย่างกะทันหันหรือขยับกล้ามเนื้อได้จำกัด มักเกิดกับกล้ามเนื้อบริเวณที่มีการใช้งานหนัก เช่น หลังส่วนล่าง ต้นขาด้านหลัง น่อง หน้าอก หน้าท้อง และเอ็นร้อยหวาย 

กล้ามเนื้อฉีกพบได้บ่อยในผู้ที่เล่นกีฬาหรือคนทำงานที่ต้องใช้แรง กล้ามเนื้อฉีกส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงมากและสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่ในบางกรณีที่กล้ามเนื้อฉีกอย่างรุนแรงก็อาจต้องรับการรักษาโดยแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากเกิดกล้ามเนื้อฉีกควรพักกล้ามเนื้อ และรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว

กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain)

อาการกล้ามเนื้อฉีก

อาการกล้ามเนื้อฉีกในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ บริเวณที่บาดเจ็บ และความรุนแรงของการบาดเจ็บ โดยมักปรากฏอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อขึ้นมาอย่างฉับพลัน ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย
  • มีอาการบวมหรือมีรอยฟกช้ำที่กดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง กระตุก หรือเป็นตะคริว  
  • กล้ามเนื้ออ่อนล้า เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างจำกัด

หากอาการกล้ามเนื้อฉีกไม่รุนแรงมาก เช่น มีอาการปวดไม่มาก ยังสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เพียงแต่เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด อาการเหล่านี้สามารถดูแลได้ด้วยตนเองที่บ้านและจะดีขึ้นภายใน 1–2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น ปวด บวม ช้ำอย่างรุนแรง อาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ มีไข้ รวมถึงหากดูแลอาการด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

สาเหตุของกล้ามเนื้อฉีก

กล้ามเนื้อฉีกมักเกิดจากการที่กล้ามเนื้อถูกแรงตึงอย่างรุนแรงและกะทันหันจนเส้นใยกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบาดเจ็บ โดยปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อฉีก เช่น

  • กล้ามเนื้อตึงและมีความยืดหยุ่นน้อย หรือการไม่อบอุ่นร่างกายอย่างเหมาะสมก่อนออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก 
  • การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแบบเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การฝึกซ้อมกีฬา การเต้น หรือการทำงานบางประเภทอย่างการยกของหนักเป็นประจำ
  • การเกิดอุบัติเหตุในระหว่างเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะหรือกระแทก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และชกมวย รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ เช่น ลื่น หกล้ม หรือขาพลิก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อฉีกได้ด้วย เช่น เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อจะมีความยืดหยุ่นน้อยลงทำให้อาจเกิดกล้ามเนื้อฉีกได้ง่าย รวมถึงหากเคยเกิดอาการกล้ามเนื้อฉีกมาก่อนและไม่ได้พักฟื้นกล้ามเนื้อให้หายดี ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อฉีกซ้ำบริเวณเดิมได้เช่นกัน

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อฉีก

แพทย์จะวินิจฉัยอาการกล้ามเนื้อฉีกในเบื้องต้นด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ สอบถามสาเหตุของการบาดเจ็บ และตรวจร่างกายบริเวณที่มีอาการปวด บวม หรือมีรอยช้ำ เพื่อให้ทราบตำแหน่งและความรุนแรงของอาการที่แน่ชัด

ในกรณีที่กล้ามเนื้อฉีกและมีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูการฉีกขาดของกล้ามเนื้อเพิ่มเติม รวมถึงอาจมีการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือซีทีสแกน (CT scan) เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อน มีเลือดออกหรือมีการบาดเจ็บในบริเวณใกล้เคียงด้วยหรือไม่

การรักษากล้ามเนื้อฉีก

การรักษากล้ามเนื้อฉีกสามารถรักษาได้ด้วยตนเองถ้ามีอาการไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็อาจจำเป็นต้องรับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง

การรักษาด้วยตนเองจะเป็นการรักษาตามหลักการ RICE เพื่อลดอาการปวดและอาการบวม โดยมีวิธีการดังนี้ 

  • Rest พักการใช้กล้ามเนื้อโดยหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายในบริเวณที่บาดเจ็บอย่างน้อยประมาณ 2–3 วัน
  • Ice ประคบเย็นบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดอาการปวดและอาการบวม โดยอาจประคบเป็นเวลา 20 นาทีทุก 1-2 ชั่วโมงในวันแรก ส่วนวันต่อไปอาจประคบเย็นทุก 4 ชั่วโมง 
  • Compression รัดบริเวณที่บาดเจ็บด้วยผ้าพันแผลแบบยืดเพื่อลดอาการบวม แต่ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไปเพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
  • Elevation ยกบริเวณที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม โดยอาจใช้หมอนหนุนขาให้สูงขึ้นในขณะที่กำลังนอนราบ

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรพักกล้ามเนื้อนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง หลังจาก 3 วันถ้าอาการเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอาจค่อย ๆ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อด้วยการเคลื่อนไหวเบา ๆ แล้วค่อยเพิ่มระดับการเคลื่อนไหวให้มากขึ้น หรืออาจประคบร้อนเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดร่วมด้วย

ในระหว่างการรักษาด้วยตนเอง ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อลดอาการปวดร่วมด้วย แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาใด ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่

การรักษาโดยแพทย์

การรักษาโดยแพทย์ หากผู้ป่วยไม่ได้มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงจนไม่สามารถรับประทานยาได้ แพทย์อาจจ่ายยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดเช่นเดียวกับการรักษาด้วยตนเอง ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดและอาการกระตุกของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

นอกจากนี้ หากกล้ามเนื้อฉีกรุนแรงแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง ไม้ค้ำ หรือใส่เฝือกเพื่อลดการเคลื่อนไหวในบริเวณที่บาดเจ็บ และทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยช่วยปรับปรุงการเคลื่อนไหวและเสริมการแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในกรณีที่กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาดอย่างรุนแรงหรือหลังจาก 6 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น  แพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

ภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อฉีก

โดยทั่วไปแล้วกล้ามเนื้อฉีกมักหายดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากผู้ป่วยพักฟื้นไม่เพียงพอในช่วงที่กล้ามเนื้อฉีกหรือกลับไปทำกิจกรรมเดิมในขณะที่อาการกล้ามเนื้อฉีกยังไม่หายดี ก็อาจทำให้เกิดอาการกำเริบหรือการกลับมาเป็นซ้ำในบริเวณเดิมได้ ภาวะแทรกซ้อนนี้จะพบบ่อยในนักกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อในการแข่งขันอยู่เสมอ เมื่อได้รับบาดเจ็บจึงอาจไม่ได้ฟักฟื้นอย่างเต็มที่

รวมถึงในกรณีที่มีอาการกล้ามเนื้อฉีกรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่เคยทำได้เหมือนปกติ และอาจมีอาการปวดเรื้อรัง

การป้องกันกล้ามเนื้อฉีก

กล้ามเนื้อฉีกมักเกิดในระหว่างการเล่นกีฬา การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุทั่วไป การป้องกันกล้ามเนื้อฉีกจึงควรเน้นไปที่การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยมีวิธีป้องกันดังนี้

  • อบอุ่นร่างกายทั้งก่อนและหลังการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากทุกครั้ง
  • ใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้าและถูกประเภทกับกิจกรรมที่ทำ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเช่น ใส่รองเท้าวิ่งสำหรับการวิ่ง
  • รักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกายอยู่เสมอ แต่ควรออกกำลังกายอย่างพอดีและเหมาะสมกับเงื่อนไขสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนท่าเดียวเป็นเวลานาน โดยอาจทำกายบริหารเพื่อช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อในระหว่างที่นั่งหรือยืน
  • ระวังการลื่นหรือหกล้ม เช่น งดเล่นโทรศัพท์และจับราวบันไดเมื่อขึ้นหรือลงบันได หลีกเลี่ยงการเดินในพื้นที่เปียก และเก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ
  • ยกของด้วยท่าที่ถูกต้องโดยการงอเข่าและเกร็งหลังให้ตรง หากของหนักเกินไปไม่ควรยกคนเดียว