การป้องกันอาการปวดหัว ปวดหัว (Headaches)
อาการปวดหัวป้องกันได้ยาก เนื่องจากมีหลายสาเหตุ แต่ควบคุมไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ใหญ่ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7–8 ชั่วโมงต่อวัน รวมไปถึงเข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นในเวลาปกติ
- ไม่ควรอดอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ซึ่งมักกระตุ้นอาการปวดหัวให้เกิดขึ้นได้ง่าย รวมไปถึงรับประทานอาหารให้ตรงต่อเวลา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ และยังช่วยลดความเครียด อาจจะลองเลือกกิจกรรมที่ชื่นชอบและค่อย ๆ เริ่มเล่นอย่างช้า ๆ เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น อาการปวดหัวเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อย เมื่อมีอาการจึงควรสังเกตและจดจำรายละเอียดของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งอาการผิดปกติอื่น ๆ เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้น เช่น เริ่มมีอาการปวดหัวเมื่อไร กำลังทำกิจกรรมใดอยู่ขณะมีอาการปวด อาการปวดเกิดขึ้นนานแค่ไหน เป็นต้น
- ลดความเครียด ความเครียดเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ จึงควรจัดการเมื่อเกิดความเครียด มองโลกในแง่บวก หรือหากิจกรรมที่ช่วยดึงดูดความสนใจไม่ให้จมอยู่กับปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด
- ไม่ควรใช้ยาเกินขนาด การรับประทานยาที่หาซื้อได้ทั่วไปหรือยาใด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หากมีการใช้เกินขนาดที่กำหนด หรือใช้ติดต่อเป็นเวลานานโดยไม่มีการปรึกษาแพทย์