การป้องกันโรคหัวใจ โรคหัวใจ (Heart Disease)
การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้
ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล
ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ควรเริ่มตรวจคอเลสเตอรอล หลังจากนั้นตรวจเป็นประจำทุก 5 ปี หรือในรายที่มีบุคคลในครอบครัวมีคอเลสเตอรอลสูงอาจต้องเริ่มตรวจเร็วขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงทางพันธุกรรม
โดยระดับคอเลสเตอรอลปกติควรต่ำกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจควรมีระดับไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือหากเคยมีอาการของโรคหัวใจหรือเบาหวานเกิดขึ้นแล้วก็ควรควบคุมคอเลสเตอรอลให้ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ควบคุมระดับความดันโลหิต
ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยทุก 1–2 ปี หรือในรายที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติหรือเคยป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจบ่อยกว่านั้น โดยระดับความดันปกติควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินพอดี จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้
เลิกสูบบุหรี่
เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดแดง
หมั่นออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยควบคุมน้ำหนักและโรคเบาหวาน รวมถึงลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับความดันที่สูงลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ โดยให้ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 4–5 วัน
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ผัก ผลไม้ และธัญพืชทั้งหลายล้วนเป็นอาหารที่ดีต่อหัวใจ และมีไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โซเดียม และน้ำตาลปรุงแต่งต่ำ จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก รวมถึงระดับความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล
ควบคุมน้ำหนัก
ยิ่งมีน้ำหนักตัวเกินพอดีก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจ เพื่อป้องกันจากโรคหัวใจควรมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่เกิน 25 และมีขนาดรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตรหากเป็นผู้หญิง และสำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร
รักษาความสะอาด
ควรอยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ล้างมือบ่อย ๆ และหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายและสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ
รู้วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เสี่ยงโรคหัวใจได้ ผู้ป่วยจึงควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์หากมีอาการหดหู่ เช่น รู้สึกสิ้นหวังหรือหมดความสนใจในการใช้ชีวิต เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างโรคหัวใจรวมถึงโรคอื่น ๆ ตามมา
รู้จักจัดการกับความเครียด
หมั่นผ่อนคลาย ให้มีความเครียดน้อยที่สุด โดยอาจลองฝึกวิธีลดความเครียด เช่น ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ และนั่งสมาธิ