ความหมาย ท้องผูก
ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการที่มีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติหรือถ่ายอุจจาระไม่ออกเป็นเวลานาน ซึ่งพฤติกรรมและความถี่ในการถ่ายอุจจาระปกติของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ในทางการแพทย์แนะนำว่าผู้ที่ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์อาจเข้าข่ายมีอาการท้องผูก
หากมีอาการท้องผูกติดต่อกัน 3 เดือน อาจนำไปสู่เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังที่มีความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการเพื่อให้ให้เกิดอาการท้องผูกบ่อย ๆ เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร พฤติกรรมการขับถ่าย หรือไปปรึกษาแพทย์หากอาการท้องผูกไม่ดีขึ้น
อาการของท้องผูก
โดยทั่วไป อาการท้องผูกมักจะปรากฏอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น
- อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือเป็นเม็ดเล็ก ๆ
- รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
- ต้องใช้แรงมากในการเบ่งอุจจาระหรือใช้มือช่วยล้วง
- มีอาการเจ็บในขณะถ่ายอุจจาระร่วมด้วย
- มีอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งในช่องท้อง
นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด และอุจจาระมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการท้องผูกที่แน่ชัด เพราะในบางกรณี อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นที่รุนแรงก็ได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการท้องผูก
อาการท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหารได้ตามปกติ และเกิดอุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจนมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ถ่ายออกได้ลำบาก
โดยมีหลายปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น
การใช้ยาบางชนิด
การรับประทานยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาระงับอาการทางจิต ยารักษาอาการชัก ยาแก้ปวดกลุ่มยาโอปิออยด์ ยาขับปัสสาวะ รวมถึงอาหารเสริมในกลุ่มแคลเซียมและธาตุเหล็ก
การอุดตันภายในลำไส้
ภาวะสุขภาพบางอย่างอาจทำให้เกิดการอุดตันภายในลำไส้ใหญ่หรือบริเวณทวารหนัก ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวออกจากระบบทางเดินอาหารได้ลำบากและติดค้างอยู่ภายในลำไส้ เช่น แผลปริขอบทวารหนัก ภาวะลำไส้อุดตัน ภาวะลำไส้อืด (Ileus) โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน
โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อสามารถส่งผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ จึงอาจทำให้เกิดการตกค้างของอุจจาระภายในระบบทางเดินอาหารและเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก เช่น เส้นประสาทไขสันหลังบาดเจ็บ เส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน รวมถึงโรคหลอดเลือดในสมองด้วย
ภาวะสุขภาพที่ส่งผลต่อฮอร์โมน
ภาวะสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อความสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และนำไปสู่การเกิดอาการท้องผูกได้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคเบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างหรือปัจจัยบางประการอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่ายกว่าปกติ เช่น การดื่มน้ำน้อย การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย การอั้นอุจจาระ การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป ความเครียด สภาวะจิตใจ รวมถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
การวินิจฉัยอาการท้องผูก
ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยอาการท้องผูกโดยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการขับถ่าย และตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อประเมินอาการที่เกิดขึ้น แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกรุนแรงอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการท้องผูกที่เกิดขึ้น ตัวอย่างการตรวจเพิ่มเติม เช่น
การตรวจทางทวารหนัก
การตรวจทางทวารหนักเป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของการเกิดอาการท้องผูก โดยแพทย์จะสวมถุงมือที่มีการเคลือบสารหล่อลื่น จากนั้นใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในรูทวารหนัก เพื่อคลำหาว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นการตรวจเพื่อหาว่าอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุทั่วไป หรือเกิดจากทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ก็ได้เช่นกัน
การเอกซเรย์ช่องท้อง
การเอกซเรย์ช่องท้องเป็นการถ่ายภาพทางรังสีบริเวณลำไส้ส่วนปลายและทวารหนักของผู้ป่วย โดยจะมีการสวนทวารด้วยแป้งแบเรียมที่เป็นสารทึบรังสี เพื่อดูการเคลื่อนตัวของอุจจาระผ่านเครื่องเอกซเรย์ด้วย
การตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก
การตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้ควบคุมการขับถ่าย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลืนแคปซูลที่มีแถบทึบแสง ซึ่งสามารถมองเห็นได้เมื่อมีการเอกซเรย์ แล้วตรวจดูการเคลื่อนตัวของแคปซูลจากการเอกซเรย์อย่างต่อเนื่อง
การตรวจแบบส่องกล้อง
การตรวจแบบส่องกล้องอาจใช้วิธีการตรวจแบบดูการทำงานของลำไส้ใหญ่บางส่วน (Sigmoidoscopy) หรือวิธีการตรวจแบบดูการทำงานของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ด้วยกล้องเฉพาะทางการแพทย์ โดยเครื่องมือตรวจจะถูกสอดเข้าไปทางทวารหนักของผู้ป่วย
การตรวจวัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก
การตรวจวัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะเป็นการสอดท่อที่มีบอลลูนขนาดเล็กติดอยู่ที่ปลายอุปกรณ์เข้าไปทางทวารหนักของผู้ป่วย แล้วให้ผู้ป่วยพยายามใช้แรงเพื่อเบ่งออกมา โดยตัวเครื่องจะสามารถวัดแรงดันหรือแรงบีบตัว เพื่อตรวจดูการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณทวารหนักได้
การรักษาอาการท้องผูก
วิธีการรักษาอาการท้องผูกมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดอาการท้องผูกที่แตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน ตัวอย่างการรักษาอาการท้องผูก มีดังนี้
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
หากมีอาการท้องผูกที่ไม่รุนแรง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนอาจช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีหลายประการ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงวันละประมาณ 18–30 กรัม โดยเฉพาะอาหารประเภทผักสด ผลไม้สด และธัญพืช เพื่อช่วยปรับปรุงระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ และช่วยไม่ให้อุจจาระแข็งจนเกินไป
- ออกกำลังกายด้วยการเดินเป็นระยะเวลาประมาณ 10–15 นาที วันละหลายครั้ง เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อทำงานได้ตามปกติ
- ปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน และไม่ควรมีการอั้นอุจจาระหรือรีบร้อนเกินไปในการขับถ่าย
- ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
การรักษาด้วยการใช้ยา
หากลองปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วแต่อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น อาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวยาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ โดยตัวยาที่ใช้รักษาอาการท้องผูกนั้นแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม มีตัวอย่างยาดังนี้
- ยาระบายกลุ่มเส้นใยหรือไฟเบอร์ (Fiber Supplements) เช่น ยาไซเลียม (Psyllium) ยาพอลิคาร์บอฟิล (Calcium Polycarbophil) ยาเมทิลเซลลูโลส (Methylcellulose Fiber)
- ยาระบายกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulants) เช่น ยาดัลโคแลค (Dulcolax) ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) ยาเซนโนไซด์ (Sennosides)
- ยาระบายกลุ่มออสโมซิส (Osmotic Laxatives) เช่น ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ยาแลคตูโลส (Lactulose) ยาแมกนีเซียมซิเตรท (Magnesium Citrate)
- ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant) เช่น มิเนอรอลออยด์ (Mineral Oils)
- ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners) เช่น ยามีด็อกคูเสทโซเดียม (Docusate Sodium) ยาด็อกคูเสทแคลเซียม (Docusate Calcium)
- ยาเหน็บ (Suppositories) เช่น โซเดียมฟอสเฟต (Sodium Phosphate)
- ยาสวนอุจจาระ (Enemas) เช่น ชุดสวนอุจจาระสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) หรือกลีเซอรอล (Glycerol)
การรักษาด้วยซินไบโอติก (Synbiotic)
การรักษาด้วยซินไบโอติกเป็นการรักษาทางเลือกที่เกิดจากการนำโพรไบโอติกซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการขับถ่ายมารวมกับพรีไบโอติกซึ่งอาหารของจุลินทรีย์ ซึ่งซินไบโอติกบางชนิดจะช่วยเสริมสร้างระบบทางเดินอาหารให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือลำไส้แปรปรวนได้
ในปัจจุบันซินไบโอติกถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถหาซื้อและรับประทานง่าย และอาจไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อควรระวังและปริมาณที่เหมาะสมในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ที่โรคประจำตัว หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
การทำไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback Training)
การทำไบโอฟีดแบ็กคือการฝึกควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยจะมีการสอดอุปกรณ์เข้าไปทางทวารหนัก จากนั้นนักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยลองขมิบหรือคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเครื่องมือที่ถูกสอดเข้าไปจะบันทึกและประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระนั่นเอง
การผ่าตัด
การผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่มีอาการท้องผูกอย่างรุนแรงหรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้แล้ว รวมถึงอาการท้องผูกที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลำไส้ เช่น ลำไส้เกิดการอุดตัน ตีบแคบ หรือหย่อนออกมา ทำให้แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่บางช่วงออก
ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องผูก
อาการท้องผูกโดยทั่วไปมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แค่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บในขณะขับถ่ายเท่านั้น แต่หากเกิดอาการท้องผูกบ่อย ก็อาจทำให้มีอุจจาระตกค้างอยู่ภายในลำไส้จนแห้งแข็งและถ่ายออกมาได้ลำบาก หรือส่งผลเกิดการเสียดกับผนังลำไส้และทวารหนักจนถ่ายเป็นเลือด ในบางกรณี อาจนำไปสู่การเกิดโรคริดสีดวงทวาร จากการที่ต้องใช้แรงในการเบ่งอุจจาระมากด้วย
การป้องกันอาการท้องผูก
ปัญหาท้องผูกสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลมมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำมากขึ้นได้
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ โดยร่างกายควรรับใยอาหารประมาณ 18–30 กรัมต่อวัน
- ผู้ที่มีอาการท้องผูกจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หรือรับประทานในปริมาณน้อย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 30 นาทีต่อวัน หรือพยายามเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ เพื่อช่วยในการบริหารกล้ามเนื้อให้กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่าย โดยควรขับถ่ายให้ตรงเวลาและไม่อั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น
- หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายควรไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูกที่เรื้อรังหรือรุนแรงมากขึ้น