การรักษาอาการปวดหัว ปวดหัว (Headaches)
อาการปวดหัวมีทั้งแบบที่รักษาได้หายขาดและไม่หายขาด โดยรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก และดูปัจจัยอื่นของผู้ป่วยประกอบด้วย เช่น อายุของผู้ป่วย สุขภาพโดยรวมและประวัติทางการแพทย์ ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดหัว การตอบสนองต่อการรักษา หรือความต้องการของผู้ป่วย
ในกรณีที่อาการปวดเป็นการปวดหัวทั่วไป ไม่ร้ายแรง สามารถดูแลตนเองได้ที่บ้านด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน
- พยายามไม่เครียดมากจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ง่าย เช่น อาหารบางชนิด การอดนอน การอดอาหาร
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำและเกลือแร่
- ในรายที่มีอาการปวดหัวมากอาจใช้ยาแก้ปวดทั่วไปที่แนะนำโดยเภสัชกร โดยในช่วงแรกจะเป็นการรับประทานเพื่อช่วยระงับและบรรเทาอาการด้วยตัวยาที่มีฤทธิ์ต่อเส้นประสาทและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แต่ในรายที่มีอาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ จะต้องรับประทานยาเป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะที่เกิดอย่างต่อเนื่อง
หากการปฏิบัติตนในเบื้องต้นแล้วยังไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นได้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามดุลพินิจว่าควรรักษาด้วยวิธีใดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยแบ่งตามประเภทของอาการปวดหัวตามสาเหตุเป็นหลัก ซึ่งอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย ได้แก่
ปวดหัวไมเกรนหรือปวดไมเกรน
อาการปวดไมเกรนบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานยาระงับปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาแอสไพริน (Aspirin)
แต่ในบางรายที่ตัวยาเหล่านี้ไม่ช่วยบรรเทาอาการได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการปวดไมเกรนรุนแรงขึ้น แพทย์อาจจ่ายยาในกลุ่มอื่นทดแทนให้ ซึ่งต้องรับประทานในขณะที่เกิดอาการปวดหัวไมเกรน เช่น
- ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non Steroidal Anti–Inflammatory Drugs: NSAIDs)
- ยาทริปแทน (Triptans)
- ยาเออร์กอต แอลคาลอยด์ (Ergot Alkaloids)
ทั้งนี้ ยาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยลดอาการที่เกิดร่วมกับอาการปวดหัวไมเกรน แพทย์จึงอาจจ่ายยาเพื่อช่วยลดอาการเหล่านั้นในบางราย เช่น ยาต้านการอาเจียน
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนบ่อย ๆ หรือเกิดอาการปวดหัวมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอาการปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่ควรระมัดระวังการรับประทานยาในปริมาณมากและถี่เกินไปเพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวหรือจากความเครียด
อาการปวดหัวประเภทนี้ ผู้ป่วยดูแลตนเองอยู่ที่บ้านได้หากอาการไม่รุนแรง โดยทั่วไปจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณหลังคอ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหลัก
แต่ในรายที่มีอาการปวดรุนแรงเรื้อรังต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดหรือการแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฝึกไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) สำหรับบำบัดกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว เทคนิคในการลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ (Relaxation Training) การนั่งสมาธิ หรือการบัดบัดเพื่อลดความเครียดอื่นๆ
นอกจากนี้ การใช้ยารักษาอาการปวดหัวจะเป็นยาในกลุ่มระงับอาการปวด ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressant Medications) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาทริปแทน ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate) หรือยาเออร์กอต แอลคาลอยด์ ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรสังเกตหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เพราะอาจมีบางโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบริเวณกระดูกต้นคออาจได้รับการจ่ายยาต้านอักเสบ (Anti–Inflammatory Medication) หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรอาจต้องใส่เครื่องมือทางการแพทย์ช่วยลดการขบและกระทบของฟัน เพื่อช่วยบรรเทาความตึงของกล้ามเนื้อ
ปวดหัวคลัสเตอร์หรือปวดหัวเป็นชุด ๆ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดหัวคลัสเตอร์ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยรับประทานยากลุ่มทริปแทน (Triptan Drugs) ยาระงับอาการทางจิต (Antipsychotic Drugs) ยาแคลเซียม แชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blocker) ยาต้านชัก (Anticonvulsant) เพื่อช่วยลดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ อาจมีการบําบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) เป็นครั้งคราวควบคู่กับการรับประทานยาทริปแทน แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงมากอาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทต้นคอที่ส่งสัญญาณไปยังสมอง หรือเป็นการผ่าตัดเอาเส้นประสาทบริเวณใบหน้าบางส่วนออก เพื่อลดอาการปวด