การรักษา เหา
การรักษาเหามีหลายวิธี ทั้งการใช้ยาหรือวิธีอื่น ๆ โดยการรักษาแต่ละวิธีจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. การดูแลตัวเอง
ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะและเกาบริเวณที่เป็นเหา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ อาจใช้วิธีกำจัดเหาต่าง ๆ เช่น
การสางผมด้วยหวีสางเหา (Wet-combing)
การสางผมขณะที่เปียกด้วยหวีสางเหาซึ่งมีซี่หวีถี่กว่าปกติจะช่วยกำจัดเหาและไข่เหาได้บางส่วน ก่อนสางผมควรชะโลมครีมนวดผมที่มีสีขาวหรือน้ำมันมะกอกลงบนผมที่แห้ง เพื่อให้ผมง่ายต่อการสาง ช่วยให้เห็นเหาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เหาเคลื่อนที่ได้ช้าลง
จากนั้นแบ่งผมแล้วสางผมตั้งแต่หนังศีรษะจนถึงปลายผมใน 4 ทิศทาง คือ หวีไปด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้ายและขวา จากนั้นนำหวีไปเช็ดกับผ้าสะอาดเพื่อตรวจสอบว่ามีเหาอยู่หรือไม่ วิธีนี้ควรทำซ้ำอย่างน้อยทุก ๆ 3–4 วัน ติดต่อกันประมาณ 10 วัน หรือจนกว่าจะไม่พบเหาบนหนังศีรษะ
การใช้สมุนไพรและน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil)
น้ำมันหอมระเหยจากพืชบางชนิดอาจช่วยกำจัดเหาและไข่เหา ได้แก่ ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) น้ำมันโปยกั๊ก (Anise Oil) และน้ำมันกระดังงา (Ylang-Ylang Oil) แต่การใช้น้ำมันหอมระเหยในเด็กอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันที่ก่อให้เกิดประกายไฟได้ เช่น น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเบนซิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้
นอกจากนี้ สมุนไพรไทยบางชนิดอาจช่วยกำจัดเหาได้ เช่น ใช้ใบน้อยหน่า 15–20 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ล้างแผลเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำมาทาให้ทั่วศรีษะและใช้ผ้าโพกศีรษะทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นจึงใช้หวีซี่ถี่สางออก โดยระวังไม่ให้เข้าตา เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ทั้งนี้ การใช้สมุนไพรอาจไม่สามารถกำจัดไข่เหาได้หมด จึงควรใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งร่วมกับการสระผมให้สะอาดทุกวัน
การทำความสะอาดบ้านและของใช้ในบ้าน
เหามีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้ไม่เกิน 2 วันเท่านั้น และไข่ของเหาไม่สามารถฟักได้หากไม่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ดังนั้น โอกาสที่เหาจะอาศัยอยู่ในของใช้หรืออาศัยอยู่ในบ้านนั้นเป็นไปได้น้อยมาก หากพบว่ามีบุคคลที่อาศัยภายในบ้านเป็นโรคเหาควรทำความสะอาดบ้านโดยเร็วเพื่อไม่ให้เหาหรือไข่เหาที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถติดต่อไปสู่บุคคลอื่นได้
นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดเครื่องใช้ เสื้อผ้า ที่นอน หมอน ผ้าห่ม หวี และผ้าเช็ดตัวให้สะอาดด้วยน้ำร้อน น้อย 5 นาที หรือเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดปากแน่นอย่างน้อย 14 วัน คนในบ้านควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้ที่เป็นเหา
2. การใช้ยา
ปัจจุบันมียารักษาโรคเหาทั้งชนิดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปและตามใบสั่งของแพทย์ ยาส่วนใหญ่ที่ใช้ในการรักษามักเป็นยาทาภายนอก และไม่ค่อยนิยมใช้ยาชนิดรับประทานมากนัก เนื่องจากส่งผลข้างเคียงมากกว่า ในปัจจุบันตัวยากำจัดเหามักผสมในแชมพูสำหรับเหา ซึ่งหาซื้อง่ายและใช้สะดวกมากกว่าวิธีอื่น ๆ
กลไกการออกฤทธิ์คือจะออกฤทธิ์ในการฆ่าเหาที่อยู่บนหนังศีรษะ ตัวยาจะไม่ช่วยกำจัดเหาได้หมดในคราวเดียว เนื่องจากจะช่วยกำจัดได้เพียงตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัยเท่านั้น ส่วนไข่เหา ต้องรอให้ฟักเป็นตัวประมาณ 7–10 วันก่อน จึงจะกำจัดให้หมดได้ ดังนั้น จึงควรใช้ยาซ้ำบ่อย ๆ โดยตัวยารักษาโรคเหา มีดังนี้
เพอร์เมทริน (Permethrin)
เพอร์เมทรินเป็นยานิยมใช้รักษาโรคเหาที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่ดี โดยมักอยู่ในรูปโลชั่นหรือครีม ก่อนใช้ยาให้สระผมด้วยแชมพูหรือน้ำส้มสายชู ซึ่งจะช่วยให้ไข่เหาหลุดออกจากเส้นผมง่ายขึ้น โดยไม่ใช้ครีมนวดผม จากนั้นทายาลงบนผมที่แห้งให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 10 นาทีแลัวล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ทั้งนี้ ยาเพอร์เมทรินไม่ช่วยกำจัดไข่เหาโดยตรง หลังจากใช้ยาไป 9–10 วัน ควรทายาซ้ำ ผู้ใช้ควรระมัดระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาการคันหนังศีรษะ หรือหนังศีรษะเป็นรอยแดง
ไพรีทริน (Pyrethrins)
ยารักษาโรคเหาที่ผลิตจากไพรีทรินผสมกับสารเคมีต่าง ๆ ช่วยในการฆ่าเหา สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ดอกเก๊กฮวย หรือแพ้หญ้าแร็กวีด (Ragweed) นอกจากนี้ ตัวยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น เกิดอาการคัน หรือมีรอยแดงบนหนังศีรษะ ยาชนิดนี้นอกจากใช้ทาภายนอกแล้วอาจอยู่ในรูปของยาสระผมด้วย
มาลาไทออน (Malathion)
มาลาไทออนเป็นยากำจัดเหาที่ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในรูปของยาสระผม เช่น ชโลมให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ 10 นาที หรือตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากแล้วล้างออก ตัวยาช่วยกำจัดตัวเหาและไข่เหาได้ และจะคงอยู่ได้นาน 6 สัปดาห์ จึงช่วยป้องกันโรคเหาซ้ำได้ ทั้งนี้ ตัวยาดังกล่าวมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ไดร์เป่าผมขณะที่ใช้ยา และควรเก็บรักษาให้ห่างจากวัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ
คาบาริล (Carbaryl)
คาบาริลเป็นยาที่ใช้ในการกำจัดเหา โดยตัวยาจะเข้าไปทำลายระบบประสาทของเหาจนตายลงในที่สุด และช่วยทำลายไข่เหาได้ ซึ่งในปัจจุบันยาชนิดนี้มักผสมระดับความเข้มข้นต่ำอยู่ในรูปของยาสระผมและครีม ผู้ใช้ยานี้ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง และอาการแพ้ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรเก็บให้ห่างจากวัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ
เบนซิลเบนโซเอต (Benzyl Benzoate)
เบนซิลเบนโซเอตเป็นยาที่ใช้กำจัดตัวเหา โดยชโลมยาบนศีรษะทิ้งไว้ 12–24 ชั่วโมง แล้วล้างออก โดยใช้ยาติดต่อกัน 3 วัน แต่ยานี้ไม่สามารถกําจัดไข่เหาได้ จึงต้องใช้ยาซ้ำอีกครั้งหลังจากใช้ครั้งแรก 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่ไข่เหาซึ่งยังหลงเหลืออยู่บนหนังศีรษะจะฟักตัวออกมา
ไอเวอร์เมคทิน (Ivermectin)
ไอเวอร์เมคทินมีทั้งชนิดยาทาและยารับประทาน ซึ่งยาทาจะใช้ในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ตัวยาจะช่วยฆ่าตัวเหาได้ วิธีใช้คือทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของยาไอเวอร์เมคทินลงบนผมแห้ง ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออก
ในกรณีที่ใช้ยาทาแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาไอเวอร์เมคทินชนิดรับประทาน ซึ่งจะใช้ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ยารักษาโรคเหานั้นมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยโรคหืด ลมชัก มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง มีปัญหาหนังศีรษะ หรือมีผิวที่ไวต่อสารต่าง ๆ รวมถึงสตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยากำจัดเหา
อย่างไรก็ดี ความเชื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีการกำจัดเหา เช่น การใช้เจลปิโตรเลียม และน้ำมันมะกอกหมักผมทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออก ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าวิธีเหล่านี้ช่วยได้จริงหรือไม่ อีกทั้งยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าการใช้สเปรย์ฉีดแมลงจะช่วยรักษาเหาได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ห้ามใช้สเปรย์ฉีดแมลงไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น