กาฬโรค

ความหมาย กาฬโรค

กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) โดยแบคทีเรียชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดเล็ก เช่น หนูและกระรอก ซึ่งจะพบการระบาดของโรคมากในเขตชนบทและกึ่งชนบททั้งในแอฟริกา เอเชีย และสหรัฐฯ

โดยส่วนใหญ่คนจะได้รับเชื้อจากการถูกหมัดหนู (Rodent Flea) ที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวกัด หรืออาจติดเชื้อจากการสัมผัสเนื้อเยื่อหรือของเหลวของคนหรือสัตว์ที่มีเชื้อกาฬโรคโดยตรง และยังสามารถติดต่อได้ทางเสมหะและการหายใจจากคนหรือสัตว์ที่มีเชื้อนี้ได้  นอกจากนั้น หากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงมากหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

Plague

อาการของกาฬโรค

กาฬโรคสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดตามลักษณะอาการ ดังนี้

  • กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) เริ่มต้นอาจทำให้เกิดอาการมีไข้และหนาวสั่นอย่างกะทันหัน รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บ หรือมีความรู้สึกไว อย่างน้อย 1 จุด เช่น ขาหนีบ รักแร้ หรือคอ และจะมีขนาดประมาณไข่ไก่ โดยกาฬโรคชนิดนี้มักจะเกิดจากการถูกหมัดที่มีเชื้อกัด หากไม้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
  • กาฬโรคปอด (Pneumonic Plague) อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ ได้แก่ มีไข้  อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ลื่นไส้ อาเจียน และทำให้ปอดบวมอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีอาการไอ หายใจตื้น เจ็บหน้าอก หรือบางรายอาจทำให้มีน้ำมูกไหลหรือน้ำมูกปนเลือด รวมไปถึงอาจทำให้การหายใจล้มเหลวหรือช็อกได้ภายใน 2 วัน หลังจากที่ติดเชื้อ

กาฬโรคปอด อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป หรืออาจเกิดจากแบคทีเรียแพร่กระจายสู่ปอด จากกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหรือกาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษา นอกจากนั้น กาฬโรคชนิดนี้จะมีความรุนแรงที่สุดและสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้

  • กาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษหรือติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemic Plague) ผู้ป่วยจะมีอาการ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ช็อก ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีเลือดออกที่ผิวหนังและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ปาก จมูก หรือใต้ผิวหนัง และผิวหนัง เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายอาจตายและเปลี่ยนเป็นสีดำ (Gangrene) เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า และจมูก กาฬโรคชนิดนี้มีสาเหตุจากหมัดที่มีเชื้อกัดหรือผู้ป่วยสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรืออาจมีสาเหตุจากกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหรือกาฬโรคปอดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

เนื่องจากกาฬโรคเป็นโรคที่มีความรุนแรง หากพบว่ามีอาการดังข้างต้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือการเสียชีวิตได้

สาเหตุของกาฬโรค
สาเหตุของกาฬโรคมาจากแบคทีเรียที่ชื่อ เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) ซึ่งมักอยู่ในสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ชิพมังค์ และกระต่าย โดยเชื้อสามารถแพร่มาสู่คนได้จากการถูกหมัดที่อาศัยอยู่กับสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวกัด และยังสามารถติตต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสกับคนและสัตว์ หรือผู้ป่วยรับประทานสัตว์ที่มีเชื้อกาฬโรคเข้าไป นอกจากนั้น เชื้อกาฬโรคยังสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ในกาฬโรคปอด แต่จะพบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหรือกาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษ

ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ได้รับเชื้อกาฬโรค

ปัจจุบันความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของกาฬโรคมีน้อยมาก โดยมีเพียงประมาณไม่กี่พันคนต่อปีเท่านั้น นอกจากนั้น ความเสี่ยงของการได้รับเชื้อกาฬโรคจะเพิ่มสูงขึ้น โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  • อาชีพ สัตวแพทย์และทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ เพราะต้องพบกับแมวหรือสุนัขที่อาจมีเชื้อกาฬโรคเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในเขตพื้นที่ที่มีสัตว์ที่มีเชื้อกาฬโรคอยู่มากก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เช่นกัน
  • กิจกรรมที่ชอบทำหรืองานอดิเรก เช่น ตั้งแคมป์ ล่าสัตว์ หรือปีนเขา ในเขตพื้นที่ที่มีสัตว์ติดเชื้อกาฬโรคอยู่มาก ทำให้ผู้ที่ชอบทำกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงจะถูกสัตว์หรือหมัดของสัตว์เหล่านั้นกัดและติดเชื้อได้
  • ตำแหน่งที่ตั้ง เนื่องจากการระบาดของโรคจะมีมากในเขตชนบทและกึ่งชนบท ซึ่งมีความแออัดของประชากร มีสุขอนามัยไม่ดี และมีหนูหรือขยะมาก ทำให้มีโอกาสในการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค เช่น หนู กระรอก กระแต หรือแมว   

การวินิจฉัยกาฬโรค

แพทย์จะตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ยอร์ซีเนียเพสติส (Yersinia Pestis) โดยในเบื้องต้นแพทย์จะสามารถสังเกตอาการที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือบวมที่ต่อมน้ำเหลือง (กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง) แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการใช้เข็มนำตัวอย่างของเหลวจากต่อมน้ำเหลืองมาตรวจย้อมสีหาเชื้อแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษหรือกาฬโรคปอด มักจะไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจน ซึ่งการวินิจฉัยจะสามารถทำได้โดยการนำตัวอย่างของเลือด ของเหลวจากต่อมน้ำเหลือง เสมหะหรือของเหลวจากทางเดินหายใจ ไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการโดยตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อ สารพันธุกรรมของเชื้อ และเมื่อยืนยันแล้วว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อกาฬโรคก็จะทำการรักษาในทันที

การรักษากาฬโรค

เนื่องจากกาฬโรคเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติและฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเจนตามัยซิน ยาดอกซีไซคลิน ยาลีโวฟลอกซาซิน และยาไซโปรฟลอกซาซิน ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และบางรายอาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และอาจต้องให้ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจ

นอกจากนั้น ผู้ป่วยกาฬโรคปอดต้องแยกรักษาออกจากผู้ป่วยอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนั้น ผู้ที่ใกล้ชิดหรือได้สัมผัสกับผู้ป่วยกาฬโรคปอด ก็ควรได้รับการติดตามดูแล และแพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

รวมไปถึงบุคคลากรทางการแพทย์ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ภาวะแทรกซ้อนของกาฬโรค
กาฬโรคเป็นโรคที่มีความรุนแรง ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที และยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • เนื้อตายเน่า เนื่องจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นที่นิ้วมือและนิ้วเท้าไปขัดขวางการไหลเวียนเลือดและทำให้เนื้อเยื่อที่บริเวณดังกล่าวตาย ซึ่งบางรายอาจต้องตัดนิ้วมือและนิ้วเท้าบางส่วนออก
  • ยื่อหุ้มสมองอักเสบ กาฬโรคสามารถทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื้อบริเวณรอบ ๆ สมองและไขสันหลัง หรือที่เรียกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่จะเป็นกรณีที่พบได้น้อย
  • เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม จะสามารถหายจากกาฬโรค ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง

การป้องกันกาฬโรค

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือได้สัมผัสกับเชื้อ ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่อาศัยหรือต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของกาฬโรค สามารถป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • สวมถุงมือเมื่อต้องจับสัตว์ที่สงสัยว่าอาจมีเชื้อกาฬโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับเชื้อ
  • ลดหรือกำจัดหนูหรือสัตว์ที่ใช้ฟันแทะ โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงาน ด้วยการกำจัดสิ่งที่สัตว์เหล่านี้ที่อาจมาทำรัง
  • หากต้องไปทำกิจกรรม เช่น ปีนเข้า แค้มปิ้ง หรือทำงานกลางแจ้ง ซึ่งอาจมีโอกาสที่จะถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัดได้ ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีส่วนผสมของสารดีท (DEET) ที่สามารถใช้กับผิวหนังหรือเสื้อผ้าก็ได้ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเพอร์เมทริน (Permethrin) ที่สามารถนำมาใช้บนเสื้อผ้าได้เช่นกัน โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรอ่านรายละเอียดบนฉลากและใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ควบคุมและกำจัดหมัดสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อย อาจทำให้มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อหรือมีหมัดติดกลับมาบ้านได้ และหากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยหรือมีความผิดปกติ ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว
  • ไม่ควรนอนกับสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงแบบปล่อย เพราะสามารถติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงที่อาจได้รับเชื้อกาฬโรคหรือหมัดที่อยู่กับสัตว์เลี้ยง