ก้อนในเต้านม (Breast Lump) เป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อภายในเต้านมจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การสะสมของเหลวในถุงน้ำ การเกิดหินปูน การติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บบริเวณเต้านม หรืออาจเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งก้อนในเต้านมสามารถพบได้ทุกวัย ส่วนมากมักพบในผู้หญิง แต่บางกรณีอาจพบได้ในเพศชายเช่นกัน
ก้อนในเต้านมมีหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของเต้านม ซีสต์ที่เต้านม เต้านมอักเสบ หรือการตายของเซลล์ไขมัน เป็นต้น บางชนิดอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดร่วมด้วย โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุในการเกิดเป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรักษาหากก้อนในเต้านมไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือส่งผลร้ายต่อร่างกายเพราะก้อนดังกล่าวอาจหายไปเองในเวลาต่อมา แต่ในกรณีที่พบความผิดปกติบริเวณเต้านม ผู้ป่วยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้และควรไปพบแพทย์ เนื่องจากก้อนเนื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบหรือมีอาการร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
อาการก้อนในเต้านม
ก้อนในเต้านมอาจเป็นก้อนเนื้อธรรมดาหรือเป็นเนื้อร้าย โดยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น ก้อนในเต้านมอาจทำให้เต้านมบวม ผิวหนังบริเวณหน้าอกผิดปกติไปจากส่วนอื่น มีขนาดใหญ่ขึ้น มีรอยช้ำบริเวณเต้านมโดยไม่ทราบสาเหตุ มีรอยแดงหรือรอยย่นคล้ายผิวส้มบนผิวหนังบริเวณเต้านม มีภาวะหัวนมบุ๋มลงไป รู้สึกปวดหรือเจ็บเต้านม มีเลือดไหลออกจากหัวนม หรือก้อนในเต้านมบางชนิดอาจเกิดขึ้นขณะมีรอบเดือน เป็นต้น
ในกรณีที่ก้อนในเต้านมเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการปวด ผู้ป่วยมักจะไม่รู้สึกถึงก้อนในเต้านม บางรายอาจไม่ทราบจนกระทั่งเข้ารับการตรวจด้วยการเอกซเรย์หรือเครื่องแมมโมแกรม อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากพบว่าเต้านมของตนเองมีความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนในเต้านมหรือก้อนในเต้านมไม่หายไปหลังจากหมดประจำเดือน เต้านมบวมอย่างผิดปกติหรือช้ำโดยไม่สาเหตุ หัวนมบุ๋ม มีเลือด น้ำเหลือง หรือสารหลั่งออกจากหัวนม เป็นต้น
สาเหตุของก้อนในเต้านม
ก้อนในเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. เต้านมอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อเนื่องจากผิวบริเวณหัวนมเกิดบาดแผลหรือรอยแตก ทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าทำลายผิวและก่อให้เกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน โดยการติดเชื้ออาจกินพื้นที่ลึกเข้าไปในเต้านมจนก่อให้เกิดหลุมหนองลึกที่เรียกว่าฝี หรือมีอาการเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ โดยจะมีผื่นแดงขยายออกเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ เต้านมอักเสบพบได้บ่อยในผู้ที่ให้นมบุตร อีกทั้งผู้ที่เจาะร่างกายในบริเวณหัวนมมักเสี่ยงต่อการติดเชื้อและยากต่อการรักษา
2. การได้รับบาดเจ็บบริเวณเต้านม
ในกรณีที่เต้านมได้รับบาดเจ็บอาจก่อให้เกิดการแตกของหลอดเลือดขนาดเล็กจนกลายเป็นห้อเลือด และทำให้รู้สึกคล้ายมีก้อนบวม หรือการบาดเจ็บบริเวณเต้านมอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อไขมันบริเวณนั้นตาย โดยอาจเกิดขึ้นในบริเวณที่ผู้ป่วยเคยเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก้อนบวมได้เช่นกัน
3. ก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma)
ก้อนเนื้อชนิดนี้ไม่ใช่ก้อนเนื้อที่เกิดจากเซลล์มะเร็ง มีลักษณะเป็นก้อนถุงน้ำ อาจขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วหากเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นหรือขณะตั้งครรภ์ โดยจะพบมากในเพศหญิง อายุระหว่าง 30-35 ปี แต่สามารถพบในผู้ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีได้เช่นกัน
4. ซีสต์ที่เต้านม
ก้อนบวมดังกล่าวมีลักษณะเป็นถุงน้ำนิ่ม ๆ เมื่อสัมผัส และขนาดถุงน้ำในช่วงที่มีประจำเดือนอาจมีความแตกต่างกันออกไป สามารถพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรอาจมีก้อนซีสต์ที่บรรจุน้ำนมอยู่ภายใน เรียกว่า Milk Cyst
5. ถุงน้ำในเต้านม (Fibrocystic Breasts)
เกิดจากความผิดปกติภายในเนื้อเยื่อเต้านม คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่เต้านมของเพศหญิงไวต่อระดับฮอร์โมน จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านม และก้อนถุงน้ำในเต้านมอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้ในบางราย
6. มะเร็งเต้านม
ก้อนในเต้านมอาจกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยเซลล์มะเร็งจะทำให้เกิดความผิดปกติในเต้านมแต่จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งอาการของโรคมะเร็งเต้านมที่มักพบคือมีก้อนเกิดขึ้นบริเวณเต้านมแต่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ มีของเหลวซึมออกจากหัวนม และผิวหนังบริเวณเต้านมเกิดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ก้อนเนื้อในเต้านมจะกลายไปเป็นมะเร็ง
นอกจากนี้ ก้อนเนื้อในเต้านมยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ก้อนเนื้อไขมัน การเกิดหินปูนในเนื้อเยื่อเต้านม หรือเนื้องอกท่อน้ำนมขนาดเล็กที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำนม เป็นต้น
การวินิจฉัยก้อนในเต้านม
แพทย์จะวินิจฉัยโดยเริ่มจากการสอบถามอาการ ช่วงเวลาที่พบก้อนในเต้านม ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งแพทย์จะตรวจเต้านมเบื้องต้นด้วยการคลำบริเวณรักแร้เพื่อหาก้อนบวมและความผิดปกติอื่น ๆ ตรวจผิวบริเวณเต้านมและความผิดปกติบริเวณหัวนม หากพบก้อนหรือความผิดปกติบริเวณเต้านม ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจทางรังสีด้วยเครื่องแมมโมแกรม แพทย์จะเอกซเรย์เต้านมเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น เครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจเต้านมโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อภายในเต้านม
- การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการส่งคลื่นความถี่เข้าไปตามเนื้อเยื่อภายในเต้านมและสะท้อนภาพกลับมายังเครื่องรับสัญญาณ ทำให้แพทย์สามารถระบุได้ว่าเนื้อเยื่อภายในเต้านมมีความผิดปกติหรือมีก้อนบวมเป็นถุงน้ำหรือไม่
- การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และแพทย์อาจฉีดสีเพื่อช่วยให้เห็นภาพของเนื้อเยื่อและเส้นเลือดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การตรวจเนื้อเยื่อภายในเต้านมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้เข็มเจาะเพื่อดูดเซลล์ที่ก้อนในเต้านม การใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ การเจาะตรวจเนื้อเยื่อโดยใช้เครื่องเมมโมแกรมในการหาตำแหน่งของก้อน การตัดชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องมือดูดสุญญากาศ การผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจ เป็นต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้จากวิธีในข้างต้น อีกทั้งยังเป็นการกำจัดก้อนในเต้านมและเนื้อเยื่อโดยรอบไปในเวลาเดียวกัน หลังการนำเนื้อเยื่อออกมาแล้ว แพทย์จะส่งเนื้อเยื่อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อระบุความผิดปกติที่เกิดขึ้น
การรักษาก้อนในเต้านม
ก้อนในเต้านมเกิดได้จากหลายปัจจัย จึงจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างแม่นยำก่อนการรักษา ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะก้อนในเต้านมอาจหายไปเองในเวลาต่อมา แต่หากก้อนในเต้านมก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือส่งผลร้ายต่อร่างกาย แพทย์จะรักษาตามสาเหตุและอาการที่ปรากฎ เช่น การระบายของเหลวออกจากถุงน้ำเพื่อสลายก้อนซีสต์ การผ่าตัดนำก้อนเนื้อชนิดไม่ร้ายแรงที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดออก การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ หากเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แพทย์จะรักษาโดยยึดจากระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละบุคคล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจใช้วิธีสังเกตอาการต่อเนื่องได้ อย่างถุงน้ำในเต้านมหรือซีสต์
ภาวะแทรกซ้อนของก้อนในเต้านม
ภาวะแทรกซ้อนของก้อนในเต้านมที่อาจพบได้ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ หรือมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงอย่างมะเร็ง เป็นต้น
การป้องกันก้อนในเต้านม
ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม เนื่องจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของครอบครัวเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของสุขภาพเต้านม รวมทั้งรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากก้อนเนื้อในเต้านมบางชนิดอาจเกิดจากน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมหรือฮอร์โมนทดแทนควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เนื่องจากอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดก้อนในเต้านมได้เช่นกัน