ความหมาย ขาหัก
ขาหัก (Broken Leg) คือ อาการบาดเจ็บที่กระดูกบริเวณขาหักหรือร้าวจากการกระแทกอย่างรุนแรง อาจเป็นผลมาจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น หกล้ม อุบัติเหตุในท้องถนน บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยผู้ที่เสี่ยงขาหักได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่กระดูกไม่แข็งแรง หรือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน
ขาหักเป็นอาการบาดเจ็บที่ควรรับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยไว้ อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และทำให้กลับมาเป็นปกติช้าลง การรักษาทำได้ด้วยการใส่เฝือก หรือผ่าตัดในบางกรณี โดยหลังการรักษา ผู้ที่ขาหักควรทำตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กระดูกสมานไวขึ้น และป้องกันไม่ให้ขาหักซ้ำ ซึ่งอาจรักษายากขึ้น
อาการของขาหัก
อาการทั่วไปที่พบได้ของอาการขาหักคือ รู้สึกเจ็บ ปวด บวม มีรอยฟกช้ำ ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ โดยในช่วงที่ขาหักไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายมาก เพราะจะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจสังเกตเห็นว่าลักษณะทางกายภาพของขาเปลี่ยนแปลงไป เช่น ขาสั้นลงกว่าข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ขาบิดหรือผิดรูป หรือกระดูกอาจแทงทะลุผิวหนังจนเกิดเป็นแผลเปิดก็ได้
อาการขาหักจำเป็นต้องได้เข้ารับการรักษาโดยด่วน เนื่องจากการรักษาช้าจะทำให้หายได้ช้าลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ในกรณีฉุกเฉินสามารถเรียกรถพยาบาลด้วยการโทรสายด่วน 1669 (ศูนย์นเรนทร) 1691 (ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาลกรมตำรวจ) หรือ 1554 (หน่วยกู้ชีพ กรุงเทพมหานคร)
นอกจากนี้ หากพบว่าไม่สามารถเดินได้ตามปกติ รู้สึกเจ็บหรือปวดมากขณะเดินหรือเมื่อกดที่กระดูกบริเวณขา ผู้ที่รู้สึกกังวลหรือไม่แน่ใจว่าขาจะหักหรือไม่ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ
ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดหรือเข้าเฝือกจากการได้รับบาดเจ็บขาหัก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ารู้สึกชาหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ขาหรือเท้า อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาแก้ปวด มีอาการบวมที่ขามาก มีไข้สูง หรือมีน้ำหนองที่บริเวณแผล
สาเหตุของขาหัก
กระดูกขาหักอาจเกิดจากการหกล้ม อุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกหรือใช้แรงในการเล่น เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอลศิลปะการต่อสู้อย่าง เทควันโด มวย ยูโด หรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงขาซ้ำ ๆ เช่น การวิ่ง
สาเหตุของขาหักรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะเดินได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางโรคอาจมีโอกาสขาหักมากกว่าบุคคลทั่วไป เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน เนื้องอกหรือก้อนซีสต์ที่กระดูก
การวินิจฉัยขาหัก
ในการวินิจฉัย โดยปกติแพทย์จะเอกซเรย์เพื่อหาหลักฐานหรือตำแหน่งของกระดูกที่หัก ใช้มือสัมผัสเพื่อตรวจการรับความรู้สึกของขา โดยอาจมีการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram) หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของกล้ามเนื้อ เส้นเลือดแดง หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหายหรือไม่ บางกรณีอาจต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและเกิดการแตกหักง่าย
การรักษาขาหัก
ผู้ที่ขาหักจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ขาจะได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาล ควรหลีกเลี่ยงการขยับขาให้มากที่สุดเพื่อลดอาการเจ็บหรือปวด จากนั้นประคบเย็นด้วยห่อน้ำแข็ง หากเป็นไปได้ควรยกขาให้สูงกว่าระดับหน้าอกหรือใช้หมอนรองใต้ขาเพื่อลดการอาการบวม
ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหักรุนแรงมักจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ในระหว่างที่รอรักษาจึงไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือแพทย์อนุญาตให้รับประทานได้
วิธีการรักษาขาหักจะขึ้นอยู่กับประเภทและตำแหน่งของกระดูกที่หัก เช่น กระดูกหักล้า (Stress Fractures) มักพบรอยแตกเล็ก ๆ จากการใช้งานหนักเกินไปซ้ำ ๆ เป็นประจำ พบได้มากในกลุ่มนักกีฬา อาจรักษาด้วยการนอนพักร่วมกับการตรึงอวัยวะ หรือกระดูกหักแบบแผลเปิด (Compound Fracture) คือกระดูกที่หักและแทงทะลุผิวหนัง มีบาดแผลเปิด เป็นชนิดที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จำเป็นต้องรีบทำการรักษา
เมื่อพบว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บขาหักแพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
- การตรึงอวัยวะ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาระงับอาการปวดและเข้าเฝือกชั่วคราว เพื่อลดการเคลื่อนไหว และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา ในกรณีที่ผู้ป่วยขาหักรุนแรงแพทย์อาจให้ยาระงับอาการปวดฉีดเข้าเส้นเลือด จากนั้นจะเอกซเรย์เพื่อประเมินการหักของกระดูก ถ้ากระดูกหักแต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม แพทย์จะใส่เฝือกแข็งให้ เพื่อลดการเคลื่อนไหว ในช่วงนี้อาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงร่างกายหรือไม้ค้ำเพื่อลดการลงน้ำหนักในขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บ
- การจัดกระดูก (Reduction) ให้เข้าสู่ตำแหน่งเดิม แพทย์อาจให้ยาชา ยาระงับประสาท หรือยาสลบ ก่อนการจัดกระดูก จากนั้นจึงทำการใส่เฝือกแข็งเพื่อลดการเคลื่อนไหว
- การผ่าตัด เพื่อดามหรือจัดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วยการใส่โลหะ ในกรณีที่มีกระดูกขาหักหลายจุดเกิดความเสียหายต่อเส้นเอ็นในบริเวณรอบข้าง กระดูกหักไปถึงข้อต่อ กระดูกหักหรือบดจากอุบัติเหตุ กระดูกหักที่บริเวณต้นขา หลังการผ่าตัดอาจต้องใส่เฝือกแข็ง หรือใส่เครื่องยึดตรึงกระดูกภายนอก ประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการจะหายดีเป็นปกติ
- การใช้ยา เพื่อลดอาการปวด บวม และอักเสบ เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง หรือแพทย์อาจสั่งยาที่มีความแรงมากกว่านี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างรุนแรง
หลังเข้ารับการรักษา จะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ในการพักฟื้นสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหักไม่รุนแรง ในระหว่างนี้อาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงร่างกาย ไม้ค้ำ หรือรถเข็น เพื่อลดการเคลื่อนไหวและการลงน้ำหนักที่ขา
ในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหักรุนแรงอาจต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนานถึง 3-6 เดือน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับในแต่ละกรณี ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ รวมถึงการออกกำลังกายเฉพาะในช่วงก่อนหรือหลังการใส่เฝือก ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดแม้ว่าจะไม่พบอาการเจ็บปวด
นอกจากนี้ ผู้ที่ขาหักควรติดตามอาการตามนัดของแพทย์ เพื่อเช็กอาการ บางกรณี ผู้ที่ขาหักอาจต้องผ่าตัดอีกครั้งหากกระดูกถูกจัดวางหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง
ภาวะแทรกซ้อนของขาหัก
บางกรณีที่ผู้ป่วยใช้งานหรือลงน้ำหนักขาข้างที่หักมากเกินไปก่อนที่จะหายดี ผู้ที่กระดูกขาหักอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ในช่วงการรักษาและการพักฟื้น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่่น ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หลอดเลือดได้รับความเสียหายในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก อาจทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ความรู้สึกที่บริเวณขาลดลง และเลือดไปเลี้ยงขาไม่เพียงพอ
- การติดเชื้อที่กระดูก แผลอาจสัมผัสกับเชื้อราหรือแบคทีเรีย การผ่าตัด หรือมีเศษกระดูกติดที่บริเวณผิวหนัง อาจต้องรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
- ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อผิดปกติ (Compartment Syndrome) เกิดจากมัดกล้ามเนื้อมีอาการปวดและบวม ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณขา
- โรคข้ออักเสบ อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ภายหลัง จากการบาดเจ็บขาหักที่มีรอยแตกขยายไปถึงข้อต่อ หรือสรีระของแนวกระดูกที่ไม่เป็นธรรมชาติ
- ความยาวของขาไม่เท่ากัน โดยปกติกระดูกแขนและขาจะเจริญเติบโตจากส่วนปลายของกระดูกหรือที่เรียกว่า Growth Plate หากเกิดการบาดเจ็บขาหักในส่วนนี้ จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกขามีความสั้นยาวไม่เท่ากัน
การป้องกันขาหัก
ขาหักป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บขาหัก เช่น
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมหรือวิตามินซี เพื่อบำรุงกระดูก เช่น นม โยเกิร์ต ชีส ผลไม้วิตามินซีสูง อัลมอนด์ เต้าหู้ และผักใบเขียว หรืออาจเลือกรับประทานแคลเซียมหรือวิตามินซีในรูปแบบของอาหารเสริม โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย
- เลือกสวมใส่รองเท้าที่พอดีและเหมาะสมกับแต่ละกิจกรรม เช่น รองเท้ากีฬา และเปลี่ยนรองเท้าใหม่เมื่อคู่เก่าส้นสึกหรือชำรุด รวมถึงสวมใส่อุปกรณ์กันกระแทกโดยเฉพาะในกิจกรรมที่ต้องใช้ความเร็ว ความสูง หรือมีความเสี่ยงต่อการกระแทก
- การออกกำลังการแบบ Cross-Train เป็นทางเลือกหนึ่งในการออกกำลังกาย ที่ไม่จำเจด้วยการสลับกิจกรรมอื่น เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน แทนการวิ่งเพียงอย่างเดียว
- เลือกใช้อุปกรณ์พยุงร่างกายหรือไม้ค้ำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขาหักหรือกระดูกในส่วนอื่น ๆ หักได้
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการตรวจหาสาเหตุหรือโรคที่ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
- ไม่ควรวางของเกะกะขวางทางเดิน โดยเฉพาะบริเวณบันได เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสะดุดล้ม
ผู้ที่ได้รับการรักษาหลังจากขาหัก ไม่ควรลงน้ำหนักไปที่ขาข้างที่หัก จนกว่าแพทย์จะสั่งว่าสามารถทำได้ และควรหลีกเลี่ยงการขับขี่รถจักรยานยนต์ขณะที่อาการขาหักยังไม่หายดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและขาหักซ้ำ โดยผู้ที่ไม่เคยขาหัก ก็ไม่ควรประมาท ใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยเมื่อทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการกระแทก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาหักได้