ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ความหมาย ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis: JRA) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวด บวม อักเสบที่บริเวณข้อต่อ สามารถเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ข้อ หรือเกิดขึ้นกับข้อต่อได้ทั่วร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ตาอักเสบ หรือส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผู้ป่วย การรักษาทำได้โดยควบคุมและบรรเทาอาการ รวมถึงปรับปรุงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อ มักเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีและพบได้ในเพศหญิงมากกว่าในเพศชาย

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กจะแตกต่างจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในผู้ใหญ่ ตรงที่ผู้ป่วยเด็กบางคนจะไม่พบอาการของโรคแล้วเมื่อโตขึ้น แต่ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มักจะยังมีอาการของโรคต่อไป และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ส่วนมากจะมีสารเคมีของระบบภูมิคุ้มกันที่มีชื่อว่ารูมาตอยด์แฟคเตอร์ (Rheumatoid Factor) ในเลือด แต่จะพบได้น้อยในผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเกิดโรคต่อไปเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

อาการของข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

อาการที่พบได้มากในผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก คือ อาการบวม ปวด หรือตึงที่บริเวณข้อ อาจมีอาการเพียงข้อเดียว หลายข้อ หรือทั่วร่างกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน และอาการจะแย่ลงในช่วงเช้าหรือหลังจากตื่นนอน รวมถึงสามารถพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูงประมาณ 39 องศาเซลเซียส มักเป็น ๆ หาย ๆ บางรายจะมีไข้สูงได้มากถึง 40-42 องศาเซลเซียส
  • ผื่นแดงคันบริเวณแขนและขา มักเป็น ๆ หาย ๆ
  • เบื่ออาหาร 
  • น้ำหนักลดลง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต ทั่วตัว ตับอักเสบเล็กน้อย ตับหรือม้ามโต และอาการซีด
  • การอักเสบของม่านตา เยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มปอด พบได้บ่อยกว่าในผู้ใหญ่

ควรไปพบแพทย์หากพบว่าบุตรหลานมีอาการปวด บวม หรือตึงที่บริเวณข้อ ที่มีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะหากมีอาการปวดร่วมกับมีไข้

ประเภทของข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก  7 ประเภท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กชนิดน้อยข้อ (Oligoarticular JRA) เป็นชนิดที่พบได้มากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตั้งแต่ 1-4 ข้อในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากพบอาการ มักเริ่มที่อาการข้อบวมและตึง 1 หรือ 2 ข้อ รู้สึกไม่ปวดมาก เคลื่อนไหวได้น้อยลง และอาจตรวจเจอสารภูมิต้านทานทำลายตัวเอง (Antinuclear Antibodies) ในเลือด
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กชนิดหลายข้อที่มีค่าโปรตีนรูมาตอยด์แฟคเตอร์เป็นลบ (Polyarticular JRA RF Negative) เป็นชนิดที่พบได้มากรองลงมาจากชนิดน้อยข้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป และมีค่าโปรตีนรูมาตอยด์แฟคเตอร์เป็นลบ มักเกิดขึ้นในเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10-13 ปี และพบมากในเด็กผู้หญิง
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กชนิดหลายข้อที่มีค่าโปรตีนรูมาตอยด์แฟคเตอร์เป็นบวก (Polyarticular JRA RF Possitive) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป และมีค่าโปรตีนรูมาตอยด์แฟคเตอร์เป็นบวก มักพบอาการบวมและตึงตามข้อเล็ก ๆ โดยเฉพาะที่มือและข้อมือ มีก้อนขนาดเล็กและมักไม่ทำให้เกิดอันตรายขึ้นตามผิวหนังที่บริเวณข้อศอกและแขน หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต และมีการอักเสบของเยื่อบุที่หัวใจ ปอด หรือที่ช่องท้อง เป็นต้น
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (Systemic Onset JRA) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมที่บริเวณข้อตามร่างกาย มักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีไข้สูงประมาณ 39 องศาเซลเซียสในช่วงบ่ายหรือช่วงเย็นและมีอุณหภูมิลดลงเป็นปกติอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่นคันสีชมพู ตับ ม้าม หรือต่อมน้ำเหลืองโต และมีการอักเสบของเยื่อบุที่หัวใจ ปอด หรือที่ช่องท้อง เป็นต้น
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กร่วมกับโรคสะเก็ดเงิน (Juvenile Psoriatic Arthritis) ผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบ ปวด และบวมที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า เกิดขึ้นได้ทั้งข้อเล็กและข้อใหญ่ และมีโรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นร่วมด้วยหลังอาการข้ออักเสบ พบในเด็กผู้หญิงได้มากกว่าเด็กผู้ชายถึง 2 เท่า และมักพบในเด็กที่มีอายุประมาณ 6 ปี
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กร่วมกับเอ็นอักเสบ (Enthesitis-Related Arthritis) ผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบที่บริเวณเส้นเอ็นไปเกาะร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดข้อที่บริเวณหลังส่วนล่าง และ/หรือกระดูกเชิงกราน ขา เข่า และส้นเท้า อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสะเก็ดเงิน ยูเวียของตาอักเสบ หรือลำไส้อักเสบ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 มักตรวจพบยีน HLA-B27 เป็นบวกในเลือด พบได้มากในผู้ป่วยที่เป็นเด็กผู้ชายและมีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กที่ไม่สามารถจัดกลุ่มได้ (Undifferentiated Arthritis) คือข้ออักเสบที่ไม่เข้าพวกกับ 6 กลุ่มข้างต้น

สาเหตุของข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยทำร้ายเซลล์และเนื้อเยื่อของตัวเองแทนการกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ของยีนจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค และมีปัจจัยเสริมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ติดเชื้อไวรัสไปกระตุ้นร่วมด้วย

การวินิจฉัยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

การวินิจฉัยจะทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติทางการแพทย์ หรือตรวจร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงอาจมีการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด มักประเมินผลจาก
    • ค่าการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte Sedimentation Rate: ESR)
    • ค่าโปรตีนในร่างกายที่เป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอักเสบขึ้นในร่างกาย (C-Reactive Protein: CRP)
    • ค่าโปรตีนรูมาตอยด์แฟคเตอร์ที่เป็นตัวบ่งบอกว่ามีความผิดปกติของภูมิต้านทานในร่างกาย (Rheumatoid Factor)
    • ค่าบ่งชี้สารภูมิต้านทานทำลายตัวเอง (Antinuclear Antibodies)
  • การเอกซเรย์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคของอาการปวดข้อ เช่น กระดูกหัก เนื้องอก การติดเชื้อ หรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีมาแต่กำเนิด หรือใช้ติดตามการดำเนินโรค

การรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

การรักษามีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมและเข้าสังคมได้ตามปกติ โดยแพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

  • การใช้ยา เช่น
    • ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและบวม หากใช้ยาในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร หรือส่งผลต่อการทำงานของตับ
    • ยาลดการอักเสบกลุ่ม  Disease-Modifiying Antirheumatic Drugs (DMARDs) เช่น เมโธเทรกเซท ซัลฟาซาลาซีน แพทย์จะสั่งยาเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาในกลุ่มเอ็นเสด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและบวม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ หรือส่งผลต่อการทำงานของตับ
    • ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ (TNF Blockers หรือ TNF Inhibitors) เช่น อีทาเนอร์เซ็บต์ อะดาลิมูแมบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และตึงในตอนเช้า แต่การใช้ยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
    • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immune Suppressants) เช่น อะบาทาเซปต์ ริทูซิแมบ แต่การใช้ยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมะเร็งบางชนิด
    • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น เพรดนิโซน อาจช่วยควบคุมอาการจนกว่ายาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคจะออกฤทธิ์หรือช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น
  • กายภาพบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด เพื่อความยืดหยุ่นของข้อต่อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว
  • การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อปรับปรุงตำแหน่งของข้อต่อต่าง ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการขั้นรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น

  • ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา เช่น ยูเวียของตาอักเสบ (Uveitis) มักเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์เป็นประจำ หากเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เป็นต้อกระจก ต้อหิน และตาบอดได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต อาจเกิดภาวะข้อติดในเด็ก โดยหลังจากการอักเสบจะมีกระดูกงอกเข้าไปแทนที่ข้อที่ถูกทำลาย จนทำให้กระดูกคอหลาย ๆ ท่อนยึดแข็งติดกันเป็นท่อนเดียว ในที่สุดจะมีการสร้างกระดูกเข้าไปแทนที่ข้อ ทำให้ข้อยึดติดแข็งจนทำให้ผู้ป่วยตัวเตี้ยแคระ หยุดการเจริญเติบโต หรือข้อผิดรูปเจริญไม่สมส่วน รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษา เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโตได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดกรามหรือมีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint: TMJ)จะทำให้ผู้ป่วยทำความสะอาดช่องปาก เช่น แปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันได้ลำบากยิ่งขึ้น และหากกรามล่างพัฒนาไม่เต็มที่จะทำให้ผู้ป่วยฟันเหยินได้

การป้องกันข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ในปัจจุบันข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ปกครองสามารถช่วยบุตรหลานรับมือกับโรคได้ด้วยการปฏิบัติเลี้ยงดูให้เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ในบ้าน ให้กำลังใจ อธิบายสาเหตุของโรค คอยรับฟังปัญหาหรือความในใจ และแจ้งให้คุณครูทราบเกี่ยวกับอาการและเงื่อนไขของบุตรหลาน รวมถึงสามารถลดหรือบรรเทาผลกระทบจากโรคได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เพื่อให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและได้รับสารอาหารที่จำเป็น เนื่องจากยาที่ใช้รักษาอาจส่งผลต่อความอยากอาหารของผู้ป่วย และทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เพราะผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ทั้งจากโรค การใช้ยา น้ำหนักตัว และการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีการกระแทกน้อย เช่น การว่ายน้ำ หรือการเดิน จะช่วยให้เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ พัฒนาความยืดหยุ่นของข้อต่อ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น จะช่วยบรรเทาอาการตึงที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรครูมาตอยด์ในเด็ก บางคนอาจมีอาการที่ดีขึ้นจากการประคบเย็น ประคบร้อน หรือการอาบน้ำอุ่น เป็นต้น