ความหมาย ข้อเท้าหัก (Broken Ankle)
ข้อเท้าหัก (Broken Ankle) เป็นการหักของกระดูกบริเวณข้อเท้าเนื่องมาจากได้รับแรงกระแทกหรือรับน้ำหนักมากเกินไป ส่วนมากมักเกิดจากอุบัติเหตุ การหกล้ม หรือการออกกำลังกายที่มีการขยับตัวท่าเดิมซ้ำกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม ฟกช้ำบริเวณข้อเท้า หรือข้อเท้าอาจอยู่ในลักษณะผิดรูป
ผู้ป่วยที่ข้อเท้าหักอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยกระดูกที่หักอาจเป็นเพียงรอยแตกเล็ก ๆ หรืออาจมีการเคลื่อนตำแหน่งและทะลุออกมาบริเวณผิวหนัง ดังนั้น การรักษาข้อเท้าหักจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งของกระดูกที่หัก
อาการข้อเท้าหัก
ผู้ที่กระดูกข้อเท้าหักอาจเกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- เจ็บหรือปวดตุบ ๆ บริเวณข้อเท้า (Throbbing Pain) โดยมักมีอาการปวดทันที
- ข้อเท้าบวมหรือฟกช้ำ
- ข้อเท้าอยู่ในลักษณะผิดรูป
- รู้สึกเจ็บขณะเดิน หรือขณะรับน้ำหนัก
กระดูกบริเวณข้อเท้าที่หักอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทหรือหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริเวณฝ่าเท้าเย็น ซีด ชา หรือขยับเท้าและนิ้วเท้าลำบาก อย่างไรก็ตาม หากพบอาการข้างต้นหรือคาดว่าข้อเท้าหัก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
สาเหตุของข้อเท้าหัก
สาเหตุของข้อเท้าหักส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ข้อเท้ารับแรงกระแทกหรือรับน้ำหนักมากเกินไป เช่น การหกล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุทางยานพาหนะ หรือในบางกรณี ข้อเท้าหักอาจเป็นอาการของกระดูกหักล้า (Stress Fracture) โดยมีลักษณะเป็นรอยแตกเล็ก ๆ บริเวณกระดูก เกิดจากการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป หรือการทำกิจกรรมที่มีการขยับตัวท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน
บางคนอาจเสี่ยงต่อการเกิดข้อเท้าหักมากขึ้นหากป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างหักโหม ไม่ได้อบอุ่นร่างกายหรือยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการถูกกระแทก หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมในการออกกำลังกาย
การวินิจฉัยอาการข้อเท้าหัก
ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูบริเวณข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ โดยอาจขยับข้อเท้าของผู้ป่วย เพื่อตรวจว่าผู้ป่วยสามารถขยับข้อเท้าได้มากน้อยเท่าไร และอาจให้ผู้ป่วยลองเดินในระยะสั้น ๆ จากนั้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การเอกซเรย์ (X–Ray) เพื่อตรวจดูความรุนแรง ลักษณะและตำแหน่งของกระดูกที่หัก
- การตรวจสแกนกระดูก (Bone Scan) เพื่อตรวจดูรายละเอียดกระดูกบริเวณที่หักที่อาจไม่พบจากการเอกซเรย์อย่างชัดเจน
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT Scan) เพื่อตรวจดูบริเวณกระดูกที่หักหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง
- การเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจความเสียหายบริเวณเนื้อเยื่อข้างเคียง และรายละเอียดต่าง ๆ บริเวณกระดูกที่หักที่อาจไม่พบจากการเอกซเรย์
การรักษาอาการข้อเท้าหัก
ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ ผู้ที่ข้อเท้าหักควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเท้าเพื่อป้องกันกระดูกที่หักเคลื่อนตัว และอาจบรรเทาอาการปวดหรือบวมโดยการยกข้อเท้าที่หักให้สูงขึ้นและประคบเย็น หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาบรรเทาอาการปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป อย่างพาราเซตามอล
ในการรักษาข้อเท้าหัก แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ลักษณะการหักของกระดูก อายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น
- ในกรณีที่กระดูกที่หักมีอาการไม่รุนแรงหรือเรียงตัวกันอยู่ แพทย์จะใช้อุปกรณ์พยุงหรือเฝือกเพื่อประคองกระดูกที่หักให้อยู่คงที่และฟื้นตัวในตำแหน่งที่เหมาะสม
- ในกรณีที่กระดูกที่หักอยู่ผิดรูป แพทย์จะจัดเรียงกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมก่อนที่จะใส่เฝือกหรืออุปกรณ์พยุง โดยอาจทำการผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เช่น หากกระดูกที่หักทะลุออกมาบริเวณผิวหนัง แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ยึดกระดูกบริเวณที่หักให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
ในระหว่างที่กระดูกกำลังฟื้นตัว แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ไม้ค้ำยันขณะเดินเพื่อป้องกันข้อเท้าจากการรับน้ำหนัก โดยระยะเวลาการฟื้นตัวของกระดูกที่หักส่วนใหญ่อาจอยู่ที่ 6–8 สัปดาห์ หรืออาจมากกว่านั้น และเมื่อแพทย์ทำการถอดอุปกรณ์พยุงหรือเฝือก ผู้ป่วยอาจรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งแพทย์จะแนะนำวิธีการบำบัดต่าง ๆ เพื่อลดอาการดังกล่าว
ภาวะแทรกซ้อนของอาการข้อเท้าหัก
ข้อเท้าหักมักไม่ค่อยก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่บางรายอาจเกิดอาการต่าง ๆ ได้ เช่น
- ข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่การรักษาข้อเท้าหักผ่านไปแล้วหลายปี โดยมักเกิดกับผู้ป่วยที่กระดูกข้อเท้าหักไปถึงบริเวณข้อต่อกระดูก
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) ในกรณีที่กระดูกข้อเท้าที่หักทะลุออกมาบริเวณผิวหนัง อาจส่งผลให้กระดูกบริเวณดังกล่าวติดเชื้อแบคทีเรียได้
- ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome) เป็นภาวะที่พบได้น้อย โดยอาจเกิดจากการใส่อุปกรณ์พยุงหรือเฝือกแน่นเกินไปจนส่งผลให้ระดับความดันในกล้ามเนื้อสูงขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา อย่างปวดรุนแรง ชา หรือในกรณีที่อาการมีความรุนแรงอาจส่งผลให้เนื้อตายได้
- เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหาย กระดูกบริเวณข้อเท้าที่หักอาจส่งผลให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียงเสียหายหรือฉีกขาด ซึ่งในกรณีที่หลอดเลือดฉีกขาดอาจส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกระดูกบริเวณใกล้เคียงไม่เพียงพอและเกิดภาวะกระดูกตายได้
การป้องกันอาการข้อเท้าหัก
ข้อเท้าหักมักเกิดจากอุบัติเหตุ จึงอาจลดความเสี่ยงได้โดยการปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- เลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกาย และไม่หักโหมจนเกินไป
- ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อป้องกันภาวะกระดูกหักล้า เช่น สลับการออกกำลังกายระหว่างการวิ่ง การว่ายน้ำ หรือกีฬาชนิดอื่น ๆ
- สวมใส่รองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและออกแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี หรือหากพบว่าร่างกายได้รับไม่เพียงพอ อาจเลือกรับประทานแคลเซียมวิตามินดีในรูปแบบอาหารเสริมแทน