คออักเสบ (Pharyngitis)

ความหมาย คออักเสบ (Pharyngitis)

คออักเสบ (Pharyngitis) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ภายในคอหรือบริเวณใกล้เคียง อย่างโคนลิ้น เพดานปาก หรือต่อมทอนซิลเกิดแผล หรือเกิดการอักเสบ โดยผู้ที่มีภาวะนี้มักพบอาการในลักษณะเจ็บคอ คันคอ และกลืนอาหารลำบาก

ภาวะคออักเสบโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยในประเทศไทย ภาวะนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่อาจจะพบได้มากในช่วงที่อากาศเริ่มหนาวเย็น อย่างฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากอุณหภูมิในช่วงฤดูเหล่านี้เป็นอุณหภูมิที่เหมาะแก่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

Pharyngitis

อาการของคออักเสบ

อาการหลักของภาวะคออักเสบ คือ เจ็บคอ และกลืนลำบาก ส่วนอาการแสดงอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดคออักเสบ เช่น

คออักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส

ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส ได้แก่

  • คอแดง คอแห้ง เสียงแหบ 
  • ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • มีไข้ต่ำ ๆ ในผู้ป่วยที่เป็นหวัด และมีไข้สูงในผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 
  • เบื่ออยากอาหาร รู้สึกไม่สบาย
  • ไอ จาม ปวดหัว
  • มีผื่นตามตัว
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น
  • ไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดแผลร้อนในภายในปากและริมฝีปาก
  • ในกรณีเด็ก อาจมีอาการท้องร่วงด้วย

คออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ วิงเวียน
  • คอแดง มีจุดหรือแผ่นสีขาวหรือสีเทาบริเวณลำคอ
  • ปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกไม่สบาย
  • ต่อมทอนซิลโตและมีจุดสีขาว
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม หรือกดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • ในกรณีเด็ก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องด้วย

ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการคออักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สาเหตุของคออักเสบ

โดยส่วนใหญ่ ภาวะคออักเสบมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัสค็อกซากี้ (Coxsackie Virus) ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ และไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส คอตีบเทียม(Croup) และโรคหัด  

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ นอกจากการติดเชื้อไวรัสก็มักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียสเตรปโทค็อคคัส (Streptococcus) หรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองในแท้ หนองในเทียม ไอกรน และโรคคอตีบ

โดยช่องทางที่เป็นเหตุให้เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายก็สามารถเป็นได้หลายอย่าง แต่ที่พบได้มากมักจะเป็นการที่เชื้อแพร่กระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจเข้าไป หรือบางครั้งก็อาจเป็นการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายติดเชื้อโรคได้มากขึ้น เช่น

  • สภาพอากาศหนาวเย็น อยู่ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว ซึ่งเอื้อต่อการระบาดของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
  • มีสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอ
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
  • กล้ามเนื้อตึงในลำคอ
  • อาการแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
  • กรดไหลย้อน 
  • ป่วยด้วยการติดเชื้อบริเวณไซนัสบ่อย ๆ
  • มีเนื้องอกบริเวณลำคอ ลิ้น หรือกล่องเสียง
  • อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เจ็บคอ คออักเสบ หรือเป็นไข้หวัด
  • อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ
  • สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่แล้วได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย

การวินิจฉัยคออักเสบ

ในการวินิจฉัยภาวะคออักเสบ แพทย์มักเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน รวมถึงสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เช่น อาการที่ผู้ป่วยมี ประวัติการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยภาวะคออักเสบ จากนั้น แพทย์จะตรวจดูบริเวณลำคอ ภายในลำคอ ปาก จมูก หู และต่อมน้ำเหลืองภายในคอ

หากแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคคออักเสบ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจวิธีอื่นร่วมด้วยเพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น

ตรวจตัวอย่างของเหลว

แพทย์จะนำก้านสำลีเก็บตัวอย่างของเหลวภายในลำคอไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการต่อไป ซึ่งผลตรวจจะออกมาภายในเวลาประมาณ 1–2 วัน

ตรวจเลือด

หากแพทย์สันนิษฐานว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจมีความซับซ้อนทางการรักษา แพทย์อาจส่งตรวจตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจหาเชื้อนี้อาจใช้วิธีเช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)

การรักษาคออักเสบ

ในกรณีที่ผู้ป่วยภาวะคออักเสบมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แพทย์อาจรักษาด้วยการรักษาตามอาการ จนกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายจะแข็งแรงและกำจัดเชื้อให้หมดไปในที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้สามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้ควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ร่วมด้วยเช่นกัน เช่น

  • รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ที่เกิดขึ้นร่วมกับคออักเสบ โดยชนิดของยาในกลุ่มนี้ก็เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน ทั้งนี้ ยาแอสไพรินต้องใช้ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเท่านั้น
  • พักผ่อนฟื้นฟูสภาพร่างกายให้เต็มที่
  • บ้วนปากล้างลำคอด้วยน้ำเกลือ
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ 
  • ดื่มน้ำอุ่น หรือรับประทานอาหารอ่อน ๆ
  • อมยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนผู้ป่วยที่คออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์มักใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา โดยกลุ่มยาที่แพทย์อาจใช้ก็เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) หรืออะม็อกซี่ซิลิน (Amoxicillin) ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ถูกต้องและครบตามปริมาณที่แพทย์กำหนด โดยต้องไม่หยุดใช้ยาแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม

หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเพนนิซิลินหรืออะม็อกซี่ซิลิน แพทย์อาจจ่ายยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรืออะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) แทน ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเช่นกัน

ทั้งนี้ นอกจากวิธีการรักษาในข้างต้นแล้ว แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วยเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดคออักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของคออักเสบ

ในกรณีที่ภาวะคออักเสบมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส หากผู้ป่วยมีสุขภาพดีมาก่อนหน้าที่จะติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่มักใช้เวลาฟื้นตัวและหายดีในระยะเวลาไม่นานนัก และมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ส่วนภาวะคออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม 

ทั้งนี้ การเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพและการรักษาของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไปด้วย โดยตัวอย่างภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังป่วยด้วยคออักเสบ ได้แก่

  • การติดเชื้อในหู
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)
  • ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
  • เกิดฝีในบริเวณใกล้ ๆ กับทอนซิล
  • หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Glomerulonephritis)
  • ไข้ออกผื่นในเด็ก หรือไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever)
  • กลุ่มอาการท็อกสิกช็อกจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทค็อกคัส (Streptococcal Toxic Shock Syndrome)
  • ไข้รูมาติก (Acute Rheumatic Fever)

การป้องกันคออักเสบ

ภาวะคออักเสบอาจป้องกันได้ยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังจากที่อาจสัมผัสกับเชื้อ เช่น ไอ จาม สั่งน้ำมูก หรือหลังการดูแลเด็กและผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ หรืออยู่ใกล้กับผู้ป่วย
  • ไม่ใช้ภาชนะ หรืออุปกรณ์ในการดื่มกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • หากมีคนในบ้านหรือบุคคลใกล้ชิดป่วยคออักเสบ ให้แยกภาชนะที่ใช้ดื่มกินอาหารออกไปต่างหาก และล้างภาชนะด้วยน้ำร้อนและน้ำยาล้างจานให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หากเด็กเล็กป่วยเป็นคออักเสบแล้วอมของเล่น ให้ล้างทำความสะอาดของเล่นด้วยน้ำและสบู่
  • หากเด็กป่วยเป็นคออักเสบ ควรให้หยุดเรียนจนกว่าเด็กจะได้กินยาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และมีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ ต่อไป
  • ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย