คาเพอไซตาบีน (Capecitabine)
Capecitabine (คาเพอไซตาบีน) เป็นยารักษาโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม โดยตัวยาจะต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงช่วยชะลอการขยายตัวของเนื้องอก บางกรณีอาจใช้เมื่อเซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หรืออาจใช้รักษาภาวะอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Capecitabine
กลุ่มยา | ยารักษามะเร็ง |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษามะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ และผู้ป่วยไม่ควรให้นมบุตรระหว่างการใช้ยาเนื่องจากยาอาจปะปนกับน้ำนมเนื่องจากยังไม่สามารถระบุได้ว่าตัวยาจะปนเปื้อนเข้าสู่น้ำนมหรือไม่ |
คำเตือนในการใช้ยา Capecitabine
ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Capecitabine มีดังนี้
- แจ้งเแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาการแพ้ยา อาการแพ้อื่น ๆ และยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก่อนการรับประทานยานี้ เช่น สารฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) อัลโลพูรินอล (Allopurinol) ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาฟาริน (Warfarin) เป็นต้น
- แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรงหรือเคยป่วยด้วยโรคตับ โรคไต โรคเลือด ภาวะพร่องเอนไซม์ดีพีดี (Dihydropyrimidine Dehydrogenase, DPD Deficiency) โรคหัวใจ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการป่วย อาเจียนหรือท้องเสียในระหว่างการใช้ยา
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์เกี่ยวกับยาที่กำลังใช้ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อรับประทานเอง อาหารเสริม และยาสมุนไพร
- ยา Capecitabine อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือทำให้อาการติดเชื้อที่เป็นอยู่แย่ลง ผู้ที่รับประทานยาชนิดนี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด โรคอีสุกอีใสและโรคหัด เป็นต้น
- ผู้ป่วยไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นหรือสารสร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ และควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่เพิ่งรับการฉีดวัคซีน
- ปรึกษาแพทย์เสมอหากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
- การใช้ยาชนิดนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ผู้ชายจึงต้องคุมกำเนิดในระหว่างการใช้ยาและคุมกำเนิดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนหลังการใช้ยาครั้งสุดท้าย และผู้หญิงต้องตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์และคุมกำเนิดในระหว่างการใช้ยา รวมถึงต้องคุมกำเนิดหลังการใช้ยาอย่างน้อย 6 เดือนด้วยเช่นกัน และหากตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรจับหรือสูดดมผงแป้งจากยาชนิดนี้ เนื่องจากผงอาจซึมเข้าทางผิวหนังและปอด ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์
- ในระหว่างการใช้ยา ควรระมัดระวังการใช้ของมีคม การเกิดบาดแผล อาการบาดเจ็บ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการปะทะ อย่างการเล่นกีฬา
- การใช้ยาชนิดนี้อาจทำให้ผู้ป่วยไวต่อแสงแดด จึงควรหลีกเลี่ยงแสงจ้า จำกัดเวลาการอยู่กลางแจ้ง สวมเสื้อผ้าที่ป้องกันแดด ใช้ครีมกันแดดเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง และควรพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดตุ่ม รอยแดงหรือผิวไหม้แดด
- ผู้สูงอายุอาจไวต่อการใช้ยาชนิดนี้ จึงอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้มากกว่าวัยอื่น
- ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ไม่ควรขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย รวมถึงหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และหากกำลังใช้สารเสพติดใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน
ปริมาณการใช้ยา Capecitabine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Capecitabine ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
โรคมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 หรือโรคมะเร็งลำไส้ระยะแพร่กระจาย
ตัวอย่างการใช้ยา Capecitabine หลังการผ่าตัดโรคมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 และรักษาโรคมะเร็งลำไส้ระยะแพร่กระจาย
ผู้ใหญ่ รักษาด้วยยาชนิดเดียว รับประทานยาเริ่มต้น 1,250 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 14 วันก่อนจะเว้นระยะพักเป็นเวลา 7 วัน
หากใช้ยาร่วมกับการรักษาชนิดอื่น ๆ รับประทานยาเริ่มต้น 800–1,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 14 วันก่อนจะเว้นระยะพักเป็นเวลา 7 วัน หรืออาจใช้ยา 625 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 2 ครั้ง/วัน อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยที่ใช้ยาเพื่อรักษาหลังการผ่าตัดโรคมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 จะใช้ยาเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน และอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
โรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเฉพาะที่ หรือโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย
ตัวอย่างการใช้ยา Capecitabine เพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเฉพาะที่ และโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย
ผู้ใหญ่ รักษาด้วยยาชนิดเดียวหรือรักษาร่วมกับการใช้ยาโดซีแทคเซล (Docetaxel) รับประทานยาเริ่มต้น 1,250 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 14 วันก่อนจะเว้นระยะพักเป็นเวลา 7 วัน และอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ตัวอย่างการใช้ยา Capecitabine เพื่อรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ผู้ใหญ่ รักษาด้วยยาชนิดนี้ร่วมกับยากลุ่มแพลตินัม (Platinum-Based Regime) รับประทานยาเริ่มต้น 800–1,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 14 วันก่อนจะเว้นระยะพักเป็นเวลา 7 วัน หรืออาจใช้ยา 625 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 2 ครั้ง/วัน อย่างต่อเนื่อง และอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
การใช้ยา Capecitabine
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Capecitabine ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- รับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่รับประทานยาปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ห้ามเริ่ม หยุด หรือเพิ่มปริมาณการใช้ยาด้วยตนเอง
- รับประทานยาภายใน 30 นาทีหลังมื้ออาหารหรือพร้อมอาหาร
- ควรกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยว บดหรือหัก หากไม่สามารถกลืนยาได้ควรปรึกษาแพทย์
- ในกรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้เวลาที่ต้องรับประทานครั้งถัดไป ข้ามไปรับประทานตามปกติ ห้ามรับประทานเป็น 2 เท่า
- ควรเข้ารับการตรวจอาการและรักษาโรคมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ
- หากใช้ยาเกินขนาด ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- ห้ามผู้อื่นใช้ยาโดยเด็ดขาด
- เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิดและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากมือเด็ก ความชื้นและความร้อน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Capecitabine
โดยทั่วไป ยา Capecitabine อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ชา ปวด เจ็บแปลบ มีแผลพุพอง บวม รอยแดงหรือผิวลอกบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรืออ่อนเพลียผิดปกติ เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงควรหยุดใช้ยาแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เช่น
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ตัวเหลือง
- หายใจไม่อิ่ม
- เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ
- น้ำหนักเพิ่มผิดปกติ
- ท้องเสียอย่างรุนแรง หรือมีอาการท้องเสียร่วมกับถ่ายเป็นเลือด ปวดท้องอย่างรุนแรงหรือมีไข้
- เบื่ออาหาร อาเจียน หรือคลื่นไส้อย่างรุนแรง
- กลืนลำบาก เกิดแผล รอยแดงและรู้สึกเจ็บในช่องปากหรือริมฝีปาก
- มีอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาทิ ผิวหนังมีจุดแดง ผิวซีด เลือดไหลผิดปกติ
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำอย่างรุนแรง มีเหงื่อออกมาก ตัวร้อน ผิวแห้งหรือปัสสาวะไม่ได้ เป็นต้น
- ขาบวม