ความหมาย คีลอยด์ (Keloid)
คีลอยด์ (Keloid) คือแผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนและขนาดอาจขยายใหญ่กว่ารอยแผลที่เกิดขึ้น โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากแผลหายดีสักพักแล้ว แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บ คัน ระคายเคือง หรือส่งผลด้านความสวยความงามได้
อย่างไรก็ดี การรีบรักษาคีลอยด์แต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คีลอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจ ซึ่งวิธีรักษาคีลอยด์มีหลายวิธี ได้แก่ การดูแลผิวหนังด้วยตัวเอง และการรักษาโดยใช้วิธีทางการแพทย์
สาเหตุของคีลอยด์
คีลอยด์เป็นผลจากความผิดปกติของกระบวนรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกาย โดยปกติเมื่อผิวหนังได้รับความเสียหายหรือเป็นแผลจะมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาซ่อมแซมบริเวณดังกล่าวจนหายดี แต่หากกระบวนการนี้ทำงานมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งแผลเป็นส่วนใหญ่มักค่อย ๆ ยุบจางลงเมื่อเวลาผ่านไป ทว่าแผลเป็นชนิดคีลอยด์นั้นจะมีขนาดใหญ่และนูนขึ้นกว่ารอยแผลเดิม
แผลคีลอยด์ก่อตัวขึ้นหลังจากได้รับบาดแผลใด ๆ บริเวณผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็น
- แผลผ่าตัด
- แผลจากการเจาะตามร่างกาย
- แผลไหม้
- แผลจากโรคอีสุกอีใส และสิว
- แผลขีดข่วนเล็กน้อย อาจทิ้งร่องรอยในลักษณะของแผลเป็นชนิดนี้ได้ แต่คีลอยด์ที่เกิดขึ้นหลังจากการได้รับบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพัฒนาขึ้น
- คีลอยด์ที่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่กลางหน้าอก แม้ไม่เคยได้รับบาดเจ็บหรือมีแผลบริเวณนั้นมาก่อนก็ตาม
ทั้งนี้ คีลอยด์เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 10–30 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นได้มากกว่า และเชื่อว่าอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยกว่าครึ่งของผู้ที่เกิดแผลเป็นชนิดคีลอยด์มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นคีลอยด์มาก่อนเช่นกัน
อาการของคีลอยด์
คีลอยด์สามารถเกิดขึ้นที่บนร่างกายบริเวณใดก็ตาม แต่ส่วนที่มีแนวโน้มการเกิดคีลอยด์มากกว่าบริเวณอื่น ๆ ได้แก่ หน้าอก หัวไหล่ หลัง ลำคอ และติ่งหู โดยอาจมีลักษณะที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้
- เป็นก้อนนูนขึ้นมาจากผิวหนัง โดยจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
- ลักษณะเป็นมันเงา ไม่มีขนขึ้นบนคีลอยด์
- ในช่วงแรกอาจมีสีแดงหรือม่วง ก่อนที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือซีดลง
- เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกแข็ง คล้ายยาง
- ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่บางคนก็อาจมีอาการเจ็บ ฟกช้ำ คัน แสบร้อน หรือส่งผลให้เคลื่อนไหวลำบากได้หากเป็นบริเวณข้อต่อ
- เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีกับเสื้อผ้าอาจเกิดความระคายเคือง คัน หรือรู้สึกเจ็บ
- คีลอยด์อาจคงอยู่เป็นเวลาหลายปี และบางครั้งก็ใช้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าจะก่อตัวขึ้นมา
- เมื่อถูกแสงแดดอาจมีสีคล้ำลงกว่าผิวบริเวณรอบ ๆ และเป็นไปได้ว่าสีคล้ำอาจไม่หายไป
อาการคีลอยด์ที่ควรไปพบแพทย์
คีลอยด์มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ลักษณะของคีลอยด์ทำให้ดูไม่สวยงามและส่งผลต่อความมั่นใจ แต่กรณีที่มีอาการเจ็บหรือคันที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์
การวินิจฉัยคีลอยด์
แพทย์จะตรวจดูลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้นด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจแยกคีลอยด์จากเนื้องอกหรือแผลเป็นชนิดอื่น ๆ ที่อาจมีลักษณะคล้ายกัน เช่น แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) ซึ่งมีลักษณะนูนขึ้นมาเหมือนกันจนบางครั้งอาจทำให้เกิดความสับสน
แผลเป็นนูนต่างจากคีลอยด์ตรงที่มักมีสีออกแดงกว่าคีลอยด์ และจะค่อย ๆ จางลงไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีหรือนานกว่านั้น โดยหากเป็นแผลเป็นนูนจะก่อตัวขึ้นภายใน 2 เดือนหลังจากเกิดแผลและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 6 เดือน ผ่านไป 2–3 ปีจึงค่อย ๆ ยุบตัวลงจนแผลคงตัว มักพบว่าเกิดขึ้นบริเวณที่มีความตึงผิวสูง เช่น หัวไหล่ คอ หัวเข่า และข้อเท้า
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าแผลนั้น ๆ เป็นแผลเป็นคีลอยด์ แผลเป็นนูน หรือเนื้องอกที่ผิวหนัง แพทย์อาจเจาะชิ้นเนื้อจากบริเวณที่เกิดความผิดปกติแล้วส่งตรวจดูความแตกต่างโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งหากเป็นคีลอยด์ก็จะแสดงให้เห็นถึงเซลล์ที่มีลักษณะเฉพาะออกไป
การรักษาคีลอยด์
วิธีการรักษาคีลอยด์ มีดังนี้
1. ดูแลแผลด้วยตัวเอง
การรักษาแผลเพื่อช่วยป้องกันการเกิดคีลอยด์ ทำได้ดังนี้
ปิดแผลไว้เมื่อเกิดแผล
การปิดแผลจะช่วยทำให้เกิดแรงกดและป้องกันไม่ให้คีลอยด์สัมผัสกับอากาศ โดยใช้ผ้าพันแผลปิดทับ จากนั้นใช้เทปแปะยึดผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซไว้ให้เกิดแรงกดบนแผลปิดไว้ที่บริเวณแผลเป็น ซึ่งควรปิดไว้ตั้งแต่วันละ 12–24 ชั่วโมง อย่างน้อยเป็นเวลา 4–6 เดือน
ทั้งนี้ ควรล้างทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำและสบู่ทุก ๆ วัน กรณีที่มีการเจาะหู ให้ใช้แผ่นแปะสำหรับติ่งหูโดยเฉพาะ หากใช้อย่างถูกวิธีอาจช่วยให้คีลอยด์ที่เกิดขึ้นจากการเจาะหูยุบตัวลงได้มาก
ใช้ยาทาหรือเจลซิลิโคน
หลังจากแผลสมานตัวดีแล้ว ให้ใช้แผ่นเจลซิลิโคนแปะ เพื่อกดบริเวณดังกล่าวไว้ ป้องกันแผลเป็นเจริญเติบโตขึ้นมา โดยปิดไว้วันละ 12–24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นระยะเวลา 2–3 เดือน ทั้งนี้เนื่องจากการเกิดแผลเป็นคีลอยด์นั้นใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
นอกจากนี้ การทาครีมอิมิควิโมด (Imiquimod) หลังการผ่าตัดใด ๆ อาจช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นขึ้นหรือลดโอกาสการเกิดคีลอยด์ขึ้นใหม่หลังการผ่าตัดออกไปแล้ว
ปกป้องบริเวณที่เกิดแผลจากแสงแดด
เมื่อต้องเผชิญแสงแดดอาจป้องกันแผลด้วยผ้าพันแผล พลาสเตอร์ หรือทาครีมกันแดด ทำเช่นนี้เป็นเวลา 6 เดือนหลังจากการเกิดแผลหรือการเข้ารับผ่าตัด
2. การรักษาคีลอยด์โดยแพทย์
วิธีการรักษาทางการแพทย์หลายวิธีอาจช่วยรักษาคีลอยด์ได้ เช่น
การใช้ยาเรตินอยด์
การใช้เรตินอยด์มักใช้รักษาแผลเป็นนูนที่เกิดขึ้นจากรอยสิว การทาเรตินอยด์ลงบนแผลเป็นจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่การรักษาชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะอาจไม่ได้ผลเทียบเท่าวิธีอื่น ๆ
การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์
การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและไม่เจ็บมาก โดยจะฉีดสเตียรอยด์ชนิดนี้เข้าที่แผลเป็นให้ทุก ๆ 4–8 สัปดาห์เพื่อช่วยให้คีลอยด์ยุบตัวลง แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้แผลเป็นแดงขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากสเตียรอยด์ชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้บริเวณดังกล่าวสร้างหลอดเลือดแดงใกล้ชั้นผิวมากยิ่งขึ้น
แม้การรักษาด้วยวิธีนี้อาจช่วยให้แผลเป็นดูดีขึ้นกว่าเดิม แต่ยังอาจเห็นรอยแผลเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับผิวบริเวณรอบข้างได้
การเลเซอร์
การใช้เลเซอร์ชนิดที่มีความอ่อนโยนต่อผิว (Pulsed Dye Lasers) ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นคีลอยด์เรียบแบนและแดงน้อยลงได้ ทั้งยังเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและไม่ทำให้เจ็บมาก แต่อาจต้องทำหลายครั้ง และมีราคาค่อนข้างสูง
การรักษาด้วยความเย็นจัด
การรักษาวิธีนี้จะใช้กับแผลขนาดเล็ก โดยเป็นการให้ความเย็นสูงจากไนโตรเจนเหลว การใช้ความเย็นจัดจะช่วยให้คีลอยด์แบนเรียบลงได้ และหากเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ มีโอกาสหยุดการเติบโตของคีลอยด์ โดยอาจใช้วิธีอื่นในการรักษาควบคู่ไปด้วย เช่น การฉีดสเตียรอยด์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่รักษามีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงได้
การฉีดสารที่ช่วยให้คีลอยด์ยุบ
การฉีดอินเตอร์เฟอรอนคือโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อช่วยกำจัดไวรัส แบคทีเรีย เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ออกไป การฉีดอินเตอร์ฟอนช่วยลดขนาดของคีลอยด์ได้จริง แม้จะยังยืนยันไม่ได้ว่าผลลัพธ์การฉีดคงอยู่ได้ยาวนานหรือไม่
ปัจจุบันมีการศึกษาการใช้อินเตอร์ฟอนโดยวิธีอื่น ๆ นอกจากการฉีดเข้าที่คีลอยด์ เช่น อิมิควิโมด (Imiquimod) ซึ่งเป็นวิธีกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอินเทอร์เฟอรอนขึ้นมาบริเวณนั้นได้
นอกจากนี้ ยังมีการฉีดนำยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และบลีโอมัยซิน (Bleomycin) ซึ่งยาต้านมะเร็ง มาฉีดชะลอการก่อตัวของคีลอยด์ได้เช่นกัน โดยอาจใช้ควบคู่ไปกับการฉีดสเตียรอยด์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงคือก่อให้เกิดอาการเจ็บที่คีลอยด์ ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีสีซีดลง หรือทำให้ผิวถูกทำลายเสียหายได้
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาคีลอยด์ โดยการผ่าเอาผิวหนังบริเวณที่เป็นคีลอยด์ออกไป อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้ถือเป็นวิธีที่มีความเสี่ยง เพราะจะกระตุ้นให้แผลเป็นเกิดนูนขึ้นมาเหมือนเดิมหรือมีขนาดใหญ่กว่าเดิม
แพทย์มักใช้วิธีอื่นร่วมรักษาด้วยหลังจากผ่าตัดแล้ว เช่น การใช้แผ่นผ้าแปะกดหรือแผ่นเจลซิลิโคนปิดบนแผลวันละ 12–24 ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน การฉีดสเตียรอยด์ และการฉายรังสี นอกจากนี้ การเย็บแผลหลังผ่าตัดให้น้อยเข็มที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็อาจช่วยให้โอกาสในการเกิดแผลเป็นลดลงได้เช่นกัน
การฉายรังสี
การฉายรังสีมักใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาคีลอยด์ เนื่องจากมีความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยจะนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็นอย่างการรักษาบางส่วนของร่างกายที่ห่างไกลจากอวัยวะภายใน เช่น แขนหรือขา แต่ไม่นำมาใช้กับคีลอยด์บริเวณท้องหรือหน้าอก
หรืออาจใช้รังสีรักษาในระยะใกล้ โดยวางวัสดุกัมมันตรังสีโดยตรงหรือวางไว้ใกล้ ๆ กับบริเวณที่เป็นคีลอยด์คล้ายกับการรักษาเนื้องอกหรือมะเร็ง เพื่อช่วยให้คีลอยด์หดตัวลงหลังจากผ่าตัดออกไปแล้ว
ทั้งนี้ การรักษาแผลคีลอยด์ด้วยวิธีต่าง ๆ อาจเพียงช่วยทำให้ลักษณะของคีลอยด์ดูดีขึ้นหรือรู้สึกระคายเคืองน้อยลง และยังมีโอกาสที่คีลอยด์จะเติบโตขึ้นมาอีกครั้งหลังจากรับการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของคีลอยด์
นอกจากจะทำให้ดูไม่สวยงาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ แผลคีลอยด์บางแผลอาจเกิดเป็นหนอง หรือหากแผลมีขนาดใหญ่และเกิดขึ้นบริเวณข้อต่อ อาจทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก และอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในเด็กได้
การป้องกันคีลอยด์
ผู้ที่สังเกตตนเองว่ามีแนวโน้มจะเกิดแผลเป็นขึ้นหลังจากแผลหาย ควรหลีกเลี่ยงการสัก เจาะตามร่างกาย หรือการผ่าตัดศัลยกรรมใด ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น เพราะทั้งหมดนี้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดคีลอยด์ตามมาได้ นอกจากนี้ หากเกิดแผลใด ๆ ขึ้นตามร่างกาย ควรรีบรักษาทันที เพื่อให้แผลนั้นหายเร็วขึ้นและมีโอกาสเกิดแผลเป็นน้อยลง