คีโตติเฟน (Ketotifen)

คีโตติเฟน (Ketotifen)

Ketotifen (คีโตติเฟน) เป็นยาที่ใช้รักษาและป้องกันอาการจากภูมิแพ้ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารฮิสตามีนอันเป็นสาเหตุของอาการแพ้ โดยเฉพาะบริเวณดวงตาอย่างอาการคันหรือระคายเคือง นอกจากนี้แพทย์อาจนำยาชนิดนี้มาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจด้วย 

Ketotifen

เกี่ยวกับยา Ketotifen

กลุ่มยา ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันอาการระคายเคืองหรือคันจากภูมิแพ้ขึ้นตาและภูมิแพ้อากาศ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาหยอดตา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ก่อนการใช้ยา Ketotifen เสมอ

คำเตือนในการใช้ยา Ketotifen

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังใช้ยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิด เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนเกิดผลข้างเคียงหรือมีประสิทธิภาพลดลง 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติด้านสุขภาพหรือกำลังมีปัญหาสุขภาพอยู่ โดยเฉพาะสุขภาพดวงตาอย่างต้อหิน 
  • ตัวยาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นภาพเบลอได้ชั่วคราว จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้สายตาตลอดเวลา 
  • ห้ามใช้ยา Ketotifen เพื่อรักษาอาการระคายเคืองตาจากการใส่คอนแทคเลนส์
  • ห้ามใช้ยาในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Ketotifen

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาภูมิแพ้ขึ้นตา

ตัวอย่างการใช้ยา Ketotifen เพื่อรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา

  • เด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ใช้ยาความเข้มข้น 0.025 เปอร์เซ็นต์ หยอดตาข้างที่มีอาการใน 1 หยด 2 ครั้ง/วัน 

รักษาภูมิแพ้อากาศ

ตัวอย่างการใช้ยา Ketotifen เพื่อรักษาภูมิแพ้อากาศ

  • เด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หากจำเป็นให้ปรับปริมาณยาเป็น 2 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หรืออาจรับประทานยาปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัม ในช่วงกลางคืนของ 2-3 วันแรกของการใช้ยา เพื่อลดอาการง่วงซึม

การใช้ยา Ketotifen

วิธีการใช้ยา Ketotifen เพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ไม่ควรรับประทานยา Ketotifen ชนิดยาหยอดตา เพราะเป็นยาใช้เฉพาะที่และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้ยา ห้ามสัมผัสที่ปลายหลอดยาหรือวางหลอดยาให้สัมผัสกับดวงตาหรือเปลือกตา เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
  • ก่อนการหยอดตาควรถอดคอนแทคเลนส์ออกเสมอ หลังการหยอดตาควรรออย่างน้อย 10 นาที จึงค่อยสวมคอนแทคเลนส์อีกครั้ง แต่ถ้ามีอาการระคายเคืองดวงตาหรือติดเชื้อที่ดวงตาไม่ควรสวมคอนแทคเลนส์
  • การใช้ยาหยอดตา ผู้ป่วยควรเงยหน้าและดึงเปลือกตาล่างลงมาเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับหยอดตา กะตำแหน่งให้ปลายหลอดยาห่างจากดวงตาพอประมาณแล้วหยดตามคำแนะนำจากแพทย์ จากนั้นให้หลับตาแล้วกดนวดเบา ๆ ที่บริเวณหัวตาประมาณ 1-2 นาที เพื่อไม่ให้ยาไหลออกจากตา หลังจากหยอดตาแล้ว ให้รออย่างน้อย 5 นาที แล้วจึงค่อยใช้ยาหยอดตาชนิดอื่น ๆ
  • หากอาการคันแย่ลงหรือไม่หายไปภายใน 72 ชั่วโมงหลังการใช้ยา ควรไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาและปรับเปลี่ยนการใช้ยา
  • ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือปัจจัยบางประการที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ น้ำหอม เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองที่ใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดควรไปปรึกษาพบแพทย์ 
  • ควรปิดฝาบรรจุภัณฑ์ให้สนิททุกครั้งหลังใช้หลอดหยดยา 
  • หากยาหยอดตาเปลี่ยนสี มีตะกอน มีสีขุ่น หรือยารั่วซึมออกจากบรรจุภัณฑ์ ไม่ควรใช้ยาโดยเด็ดขาด
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง หากไม่ได้ใช้งานควรปิดหลอดยาให้แน่นสนิทเสมอ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ketotifen

ยา Ketotifen อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แสบตา ตาบวม ระคายเคืองตา ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล รสชาติในปากเปลี่ยนแปลงไป ตาไวต่อแสงมากขึ้น เป็นต้น หากมีอาการแย่ลงหรืออาการคงอยู่เป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงควรหยุดใช้ยาแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เช่น

  • บางรายอาจมีอาการแพ้ยา แต่พบได้น้อย โดยอาจสังเกตได้จากอาการ เช่น ผื่น คัน ลมพิษ ผิวหนังแดง บวม หรือพุพอง ผิวหนังซีดพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ หายใจเป็นเสียงหวีด แน่นหน้าอกหรือลำคอ มีปัญหาในการหายใจ การกลืน หรือการพูดคุย เสียงแหบผิดปกติ อาการบวมบริเวณปาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เจ็บตา ระคายเคืองตาอย่างรุนแรง ตาแดง หรือตาแห้งมาก  

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หรือไม่มีผลข้างเคียงแสดงออกมาเลยก็ได้ แต่หากอาการที่เกิดขึ้นรบกวนการใช้ชีวิตหรือไม่ยอมหายไปควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม