จมูกบาน

ความหมาย จมูกบาน

จมูกบาน เป็นอาการที่รูจมูกบานออกมากกว่าปกติขณะหายใจ มักเป็นสัญญาณของการหายใจไม่ออก อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกกำลังกาย หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยทั่วไปการดูแลรักษาอาการขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง แต่หากเป็นเด็กเล็ก ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณอาการป่วยที่อันตรายถึงชีวิตได้

จมูกบาน

อาการจมูกบาน

จมูกบานเกิดขึ้นได้ในขณะหายใจเข้า โดยรูจมูกจะมีลักษณะบานกว้างออกมากกว่าปกติ หากหายใจได้ดีจะไม่ทำให้จมูกบาน ถึงแม้จมูกบานส่วนใหญ่มักเป็นอาการไม่รุนแรง แต่บางกรณีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น หากทารกแรกเกิดมีอาการจมูกบาน อาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่ร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ ทั้งนี้ หากพบว่าทารกหรือเด็กเล็กมีอาการจมูกบานอย่างต่อเนื่อง หรือสงสัยว่าเด็กอาจหายใจไม่ออกรวมถึงมีอาการตัวเขียว ปากเขียว หรือเล็บเขียว ซึ่งแสดงถึงการขาดออกซิเจนในร่างกาย ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วน

สาเหตุของจมูกบาน

จมูกบานอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ คัดจมูก และหายใจติดขัด หรือกลุ่มอาการครูป (Croup) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่คอหอยและหลอดลม ส่งผลให้หายใจลำบาก ไอเสียงก้อง พบมากในเด็ก
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม เป็นการติดเชื้อที่ปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยไอ มีเสมหะ และหายใจติดขัด หรือโรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งทำให้มีน้ำมูกและมีอาการบวมที่ทางเดินหายใจในปอด
  • ทางเดินหายใจอุดตัน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม อาการแพ้ชนิดรุนแรง เกิดแผลที่ทางเดินหายใจ เส้นเสียงบวม หรือสูดหายใจเอาควันเข้าไปจำนวนมากจนทำให้ทางเดินหายใจอุดตัน หายใจลำบาก และมีอาการจมูกบานในที่สุด
  • เนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจอักเสบบวม เช่น โรคหืด ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการจมูกบาน หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจมีเสียงหวีด หายใจหอบ หรือแน่นหน้าอก เป็นต้น และโรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ (Epiglottitis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อของเนื้อเยื่อที่คลุมอยู่บริเวณหลอดลมหรือฝาปิดกล่องเสียง จนเนื้อเยื่อที่อักเสบบวมอาจไปปิดกั้นหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกและมีอาการจมูกบาน อาจเกิดขึ้นในเด็กอายุประมาณ 2-6 ปี แต่เป็นโรคที่พบได้น้อยในปัจจุบัน
  • การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง หรือการทำกิจกรรมที่ร่างกายต้องใช้อากาศหายใจมากกว่าปกติ จะทำให้หายใจเร็วขึ้นและส่งผลให้จมูกบาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเพียงนั่งพักสักครู่ก็ทำให้อาการดีขึ้นได้

การวินิจฉัยจมูกบาน

แพทย์จะวินิจฉัยอาการจมูกบานจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติทางการแพทย์ สอบถามลักษณะอาการ รวมถึงสอบถามว่ามีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หายใจมีเสียง รู้สึกเหนื่อย มีเหงื่อออกตามร่างกาย ซี่โครง ไหล่ หรือกล้ามเนื้อหน้าท้องยุบตัวเข้าไป เป็นต้น จากนั้น แพทย์อาจฟังเสียงการหายใจ และอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

การรักษาจมูกบาน

ผู้ป่วยที่มีอาการจมูกบานควรได้รับการตรวจรักษาตามโรคหรือการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุ โดยอาจรักษาด้วยการให้ออกซิเจน การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก รวมถึงอาจต้องใช้เครื่องพ่นยา เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและอาการบวมที่ทางเดินหายใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการจมูกบานจากการขาดอากาศหายใจ ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วย เพราะหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือขาดออกซิเจนจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

การป้องกันจมูกบาน

เนื่องจากอาการจมูกบานอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงอาจมีวิธีป้องกันที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เช่น ไข้หวัด ป้องกันได้ด้วยการล้างมือให้สะอาดเพื่อกำจัดเชื้อโรค และรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  • ทางเดินหายใจอุดตัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะเด็กเล็ก ควรดูแลให้เด็กเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เก็บของเล่นหรือสิ่งของที่มีขนาดเล็กให้ไกลจากมือเด็ก เป็นต้น
  • โรคหืด ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เข้ารับการตรวจประเมินเป็นระยะ แลหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบ เช่น สารก่อภูมิแพ้ หรือมลพิษต่าง ๆ ทางอากาศ ตรวจสอบการหายใจหรือสัญญาณเบื้องต้นก่อนอาการกำเริบ เป็นต้น
  • โรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ รับวัคซีนต้านเชื้อฮีโมฟิลิส อินฟลูเอ็นซา ชนิดบี (HIB) โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโลหิตจางแบบซิกเคิลเซลล์ (Sickle Cell Anemia) ผู้ป่วยที่ผ่าตัดม้าม ผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • การออกกำลังกาย ออกกำลังกายให้เหมาะสมตามสภาพร่างกาย ไม่ควรหักโหมเพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในภายหลัง