ฉี่ไม่ออก

ความหมาย ฉี่ไม่ออก

ฉี่ไม่ออก (Urinary Retention) เป็นภาวะที่ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติแม้ว่ารู้สึกปวดปัสสาวะมากหรืออาจต้องใช้เวลาเบ่งปัสสาวะนานกว่าจะออก ในรายที่เป็นไม่รุนแรงยังถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติ แต่มักถ่ายได้ไม่สุด ทำให้น้ำปัสสาวะบางส่วนค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ  

ฉี่ไม่ออก

อาการฉี่ไม่ออก

โดยทั่วไปภาวะนี้อาจแบ่งลักษณะอาการที่พบได้บ่อยตามความรุนแรง ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไป ดังนี้

ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน (Acute Urinary Retention)

  • ปวดปัสสาวะ แต่เบ่งหรือปัสสาวะไม่ออก
  • ปวดแน่นท้อง รู้สึกไม่สบายบริเวณท้องช่วงล่าง
  • ท้องอืดบริเวณท้องช่วงล่าง   

ปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง (Chronic Urinary Retension)

  • ปัสสาวะบ่อยมากกว่า 8 ครั้งขึ้นไปต่อวัน
  • ถ่ายปัสสาวะไม่สุด
  • มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ
  • ต้องออกแรงเบ่งให้ถ่ายปัสสาวะออก
  • ปัสสาวะสะดุด น้ำปัสสาวะที่ออกมาหยุดเป็นช่วง ๆ หรือไม่พุ่งเป็นสาย
  • ปวดปัสสาวะอีกครั้งหลังจากเพิ่งปัสสาวะเสร็จ
  • รู้สึกแน่นท้องหรือปวดบริเวณท้องช่วงล่าง
  • บางรายอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ

ผู้ที่มีอาการปัสสาวะไม่ออกควรไปพบแพทย์ทันที บางรายอาจมีอาการปวดแน่นท้อง ปวดบริเวณท้องช่วงล่างและทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย นอกจากนี้ อาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันในบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติหรืออาการไม่รุนแรงจนรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้หลายคนละเลยในการรักษาให้หายขาด ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection:UTI) 

สาเหตุของอาการฉี่ไม่ออก

อาการฉี่ไม่ออกเกิดได้จากหลายส่วน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังนี้

ท่อปัสสาวะอุดตัน เป็นสาเหตุหลักของอาการฉี่ไม่ออก อาจเกิดได้จากโรคหรือความผิดปกติบางสภาวะจนค่อย ๆ เกิดการสะสมและอุดตัน จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายน้ำปัสสาวะออกจากร่างกายได้ตามปกติ เช่น

  • ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia:BPH) เป็นสาเหตุที่พบมากในผู้ชาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี
  • อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อน (Genitourinary Prolapse) พบได้ในผู้หญิง
  • ท่อปัสสาวะตีบแคบ (Urethral Stricture)
  • ท้องผูก
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • ความผิดปกติของผนังช่องคลอดด้านหน้าหย่อน หรือกระเพาะปัสสาวะยื่นย้อย (Cystocele)
  • ไส้ตรงยื่นย้อย (Rectocele)
  • เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิด อาจเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ
  • เป็นอาการหลังการผ่าตัด ซึ่งอาการจะดีหลังจากหมดฤทธิ์ยาชา

ระบบประสาท เกิดจากระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและหูรูดปัสสาวะเกิดความผิดปกติ จึงไม่ส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้บีบตัวและหูรูดปัสสาวะคลายตัว เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะจึงทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis:MS)
  • การบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • โรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ความผิดปกติของเส้นประสาทไขสันหลัง (Spina Bifida)
  • พิษจากโลหะหนัก
  • การคลอดบุตรทางช่องคลอด

การใช้ยา การรับประทานหรือใช้ยาบางชนิดอาจรบกวนการทำงานของเส้นประสาทที่เป็นตัวส่งสัญญาณไปยังกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก เช่น

  • ยารักษาอาการซึมเศร้าบางตัว โดยเฉพาะยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants:TCA)   
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาบาโคลเฟน (Baclofen)
  • ยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic Drug) หรือยาลดอาการบีบเกร็ง (Antispasmodic Drug) สำหรับบรรเทาอาการปวดท้อง ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ยารักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) หรือภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เช่น ยาออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin) ยาไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine)  
  • ยากลุ่มแก้แพ้ ลดน้ำมูก หรือยาต้านแอนติฮิสตามีน เช่น ยาเอฟีดรีน (Ephedrine) ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)

กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะเสื่อมไปตามเวลา จึงไม่สามารถบีบตัวได้เต็มที่หรือนานพอให้น้ำปัสสาวะไหลลงไปยังท่อปัสสาวะ เพื่อขับออกสู่ร่างกาย ซึ่งมักพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยอาการฉี่ไม่ออก

เบื้องต้นแพทย์สอบถามอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ การใช้ยา ประวัติทางแพทย์อื่น ๆ และการตรวจร่างกาย โดยคลำบริเวณท้องช่วงล่างเพื่อดูขนาดของกระเพาะปัสสาวะและไตว่ามีขนาดใหญ่ผิดปกติใดหรือไม่ หากเป็นผู้ชายจะต้องตรวจต่อมลูกหมากและสำหรับผู้หญิงจะมีการตรวจภายใน 

หลังการตรวจร่างกายควบคู่กับการสอบถามประวัติทางการแพทย์จนทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แพทย์จะพิจารณาการตรวจเพิ่มเติมตามปัจจัยด้านสุขภาพของแต่ละคน เช่น

  • การวัดปริมาณปัสสาวะที่ตกค้าง (Post-Voiding Residual Volume) เป็นการตรวจปริมาณน้ำปัสสาวะที่ตกค้างภายในกระเพาะปัสสาวะ อาจใช้การตรวจอัลตราซาวด์หรือการใช้หลอดสวน (Catheter) ผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ
  • การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ (Cystoscopy) แพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กที่เรียกว่า Cystoscope เข้าไปทางท่อปัสสาวะดูความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยต้องทำร่วมกับการใช้ยาชาหรือยาสลบ เพื่อดูว่าเกิดการอุดตันส่วนไหนจนไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกได้หมด ท่อปัสสาวะตีบแคบหรือเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT-scan) เป็นการตรวจพิเศษทางรังสีของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยต้องกลืนหรือฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนในขณะถ่ายภาพทางรังสี ซึ่งอาจช่วยให้ทราบสาเหตุของอาการฉี่ไม่ออก เช่น เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื้องอก หรือถุงน้ำ
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นการถ่ายภาพอวัยวะหรือเนื้อเยื่อด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงและใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลภาพ โดยจะใช้สำหรับการตรวจต่อมลูกหมาก ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยต้องกลืนหรือฉีดสารทึบแสงก่อนการตรวจเช่นเดียวกับการตรวจซีทีสแกน เพื่อให้เห็นรายละเอียดของภาพได้ชัดมากขึ้น แต่ไม่สามารถใช้ตรวจผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือมีชิ้นส่วนของโลหะในร่างกาย
  • การตรวจพลศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urodynamic Study) เป็นการตรวจดูการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะว่าเป็นปกติหรือไม่ เพื่อวัดแรงดันของกระเพาะปัสสาวะหรืออัตราเร็วในขณะที่ผู้ป่วยปัสสาวะ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อหรืออีเอ็มจี (Electromyography) เป็นการตรวจดูการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ โดยจะแปะตัวรับสัญญาณพิเศษที่ผิวหนังในตำแหน่งใกล้กับท่อปัสสาวะและทวารหนัก หรืออาจใช้สอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะหรือทางทวารหนัก เพื่อรับกระแสไฟฟ้าที่ตอบกลับมา ทำให้แพทย์ทราบได้ว่าเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อส่วนนี้ทำงานได้เป็นปกติหรือไม่
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด ดูการทำงานของไตหรือการติดเชื้อ การตรวจปัสสาวะดูความผิดปกติของสารในร่างกาย

การรักษาอาการฉี่ไม่ออก

อาการฉี่ไม่ออกรักษาได้หลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นหลัก ซึ่งอาจใช้หลายวิธีควบคู่กันไป เช่น

การระบายน้ำปัสสาวะ (Bladder Drainage) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกได้เลย แพทย์อาจต้องใส่สายสวนเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อนำน้ำปัสสาวะที่ตกค้างออก แต่ในกรณีที่เกิดการอุดตันของท่อปัสสาวะอาจจะต้องระบายออกทางช่องท้องช่วงล่างโดยตรง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะออกได้ลำบาก ติดขัดเป็นช่วง ๆ ต้องดูเป็นรายบุคคล หากต้องใส่สายสวนในระยะยาว แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน

การใช้ยา มักใช้รักษาอาการฉี่ไม่ออกที่มีสาเหตุมาจากโรคต่อมลูกหมากโต ตัวยาจะไปหยุดการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมากหรือทำให้ต่อมลูกหมากหดตัวลง เช่น ยาดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride) ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) รวมถึงช่วยบรรเทาอาการจากการอุดตันให้ดีขึ้น โดยออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น ยาอัลฟูโซซิน (Alfuzosin) ยาดอกซาโซซิน (Doxasoxin) ยาไซโลโดซิน (Silodosin) ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ยาแทมซูโลซิน (Tamsulosin)        

การผ่าตัด หากการรักษาในข้างต้นไม่ช่วยให้อาการให้ดีขึ้นหรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำเข้ารับการผ่าตัดในหลายกรณี เช่น การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อกรีดขยายท่อปัสสาวะส่วนที่ตีบ (Internal Urethrotomy) แก้ไขภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนจากกระเพาะปัสสาวะหย่อนลงมาในช่องคลอด ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อเซลล์มะเร็งออกจากกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการฉี่ไม่ออก

ผู้ป่วยที่ไม่รักษาอาการให้หายขาดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาทางสุขภาพในระยะยาวตามมา เช่น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ น้ำปัสสาวะเป็นของเสียที่ต้องขับออกจากร่างกาย เมื่อไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกได้ตามปกติก็อาจเพาะเชื้อแบคทีเรียจนเกิดติดเชื้อภายในกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะเสียหายหรือทำงานผิดปกติ กระเพาะปัสสาวะต้องขยายอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากไม่สามารถขับน้ำปัสสาวะออกมาได้ตามปกติ จึงอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะได้รับเสียหายหรือทำงานผิดปกติ   
  • ไตทำงานผิดปกติ ในบางรายอาจเกิดการไหลย้อนกลับของน้ำปัสสาวะกลับเข้าไปในไต ทำให้ไตได้รับความเสียหายหรือเกิดรอยแผลเป็น
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เป็นภาวะแทรกซ้อนแบบชั่วคราวจากการผ่าตัดผ่านทางท่อปัสสาวะ ซึ่งไปรบกวนระบบขับปัสสาวะในสภาวะปกติ ทำให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะไม่ได้ โดยระยะเวลาในการฟื้นตัวจะอยู่หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน

การป้องกันอาการฉี่ไม่ออก

อาการฉี่ไม่ออกเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงยังไม่สามารถป้องกันได้เต็มที่ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการรักษาโรคต้นเหตุให้หายขาด เช่น ผู้ชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งจ่าย และเลี่ยงการใช้ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ หรือยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดช่วยในการลดบวมของเนื้อเยื่อ (Decongestant) เพราะเป็นยาในกลุ่มที่มีผลต่ออาการมากขึ้น สำหรับผู้หญิงที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อนลงมาในช่องคลอดหรือไส้ตรงยื่นย้อยในระดับไม่รุนแรงควรออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตบางส่วน เพื่อป้องกันอาการฉี่ไม่ออกจากปัญหาท้องผูก